กสม.ร่อนหนังสือขอความร่วมมือ ‘คสช.’ ไขปมรุนแรงเหมืองแร่ จ.เลย
กรรมการสิทธิฯ ร่อนหนังสือแจงข้อมูล คสช. -7 หน่วยงาน ขอความร่วมมือไขปมเหมืองแร่ทองคำ วังสะพุง จ.เลย หลังเกิดเหตุข่มขู่คุกคาม ทำร้ายร่างกายชาวบ้าน
เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2557 คณะอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ยื่นหนังสือ เรื่อง ขอชี้แจงข้อมูลและประสานความร่วมมือ ถึงหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมสำเนาถึงแม่ทัพภาคที่ 2 ผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 8 ผู้บังคับการกองกำลังสุรศักดิ์มนตรี ผู้บังคับการจังหวัดทหารบกเลย ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย ผอ.รักษาความมั่นคงภายในจังหวัดเลย และกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด อ.วังสะพุง จ.เลย
โดยหนังสือฉบับดังกล่าวมีใจความสำคัญว่า ภายหลังวันที่ 20 มีนาคม 2550 กสม.ได้รับเรื่องร้องเรียนขอให้ตรวจสอบการขอประทานบัตรเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ต.เขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย เนื่องจากก่อให้เกิดสารพิษในแหล่งน้ำ และกระทบต่อสุขภาพของประชาชนในชุมชนใกล้เคียง กระทั่งต่อมา วันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ได้รับร้องเรียนเพิ่มเติมว่าได้เกิดเหตุความรุนแรงในพื้นที่ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการคัดค้านของประชาชนจนถึงขั้นทำร้ายร่างกาย ทำให้คณะอนุกรรมการฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง และขอชี้แจงข้อมูลมายัง คสช.เพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขปัญหาดังกล่าว ดังนี้
1.การทำเหมืองแร่ทองคำของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ก่อให้เกิดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ โดยมีพื้นที่ป่าสงวนจำนวนมากถูกทำลาย เนื่องจากการเปิดหน้าดินเพื่อการทำเหมืองและการระเบิดชั้นดิน ยังส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเส้นทางน้ำตามธรรมชาติ นอกจากนี้ยังพบสารปนเปื้อนโลหะหนักในแหล่งน้ำผิวดิน จนมีการห้ามมิให้ประชาชนบริโภคสัตว์น้ำในพื้นที่ และจากการตรวจสอบผลตรวจเลือดของประชาชนก็พบสารไซยาไนด์เกินค่ามาตรฐานด้วย
2.คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 ให้กระทรวงอุตสาหกรรมชะลอการขยายพื้นที่ใหม่หรือการขอประทานบัตรของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด แปลงที่ 104/2538 และแปลงอื่น ๆ จนกว่าจะได้ข้อสรุปของสาเหตุเกิดการปนเปื้อน ผลการประเมินความคุ้มค่าของฐานทรัพยากรธรรมชาติและค่าภาคหลวงแร่กับวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน และผลการประเมินด้านสุขภาพ แต่บัดนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดดำเนินตามมติครม.ดังกล่าวเลย มิหนำซ้ำยังมีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และขยายพื้นที่สัมปทานไปยังป่าภูเหล็กอีกด้วย
3.ภาคประชาชนในพื้นที่ 6 ชุมชนที่ได้รับผลกระทบรวมตัวกันเป็น ‘กลุ่มคนรักษ์บ้านเกิด’ เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนตามหลักสิทธิพลเมือง สิทธิการเมือง และสิทธิชุมชน ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 แต่การแก้ไขปัญหาของภาครัฐและเอกชนเป็นไปอย่างล่าช้า ประชาชนในพื้นที่ประสบปัญหาความเดือดร้อน พืชผลทางการเกษตรเสียหาย โดยสถานพยาบาลในพื้นที่ไม่สามารถเยียวยารักษาได้ นอกจากต้องยุติการประกอบการเหมืองแร่และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมให้กลับคืนมา ซึ่งกลุ่มคนรักษ์บ้านเกิดได้พยายามเรียกร้องและประสานหน่วยงานรัฐให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ยุติปัญหาต่าง ๆ มาโดยตลอด โดยยึดมติครม. 8 กันยายน 2554
4.เมื่อคืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 ได้มีกลุ่มชายฉกรรจ์พร้อมอาวุธเข้าจับตัวประชาชนกว่า 20 คน บริเวณจุดตรวจภายในหมู่บ้าน เพื่ออำนวยความสะดวกสำหรับการขนย้ายแร่ทองแดงออกจากเหมืองของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด และมีการใช้กำลังและอาวุธทำร้ายกลุ่มประชาชนผู้คัดค้านได้รับบาดเจ็บหลายราย จนมีการนำเสนอภาพและรายงานข่าวเป็นที่ทราบโดยทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ภายหลังกสม.ได้ลงพื้นที่และมีการประชุมกันได้ข้อสรุปเบื้องต้น ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเร่งดำเนินการสืบสวนสอบสวนเพื่อหาตัวผู้กระทำผิดในคืนวันที่ 15 พฤษภาคม 2557 มาลงโทษ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องระงับการขนถ่ายแร่ทองแดง จนกว่าการตรวจสอบของอนุกรรมการฯ เสร็จสิ้น .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ envngos.org