หลายเครือข่ายจับมือร่วมหุ้นปฏิรูปการศึกษา ยื่นข้อเสนอ คสช. ฉบับทำทันที
เครือข่ายนักการศึกษา ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน ออกแถลงการณ์ 3 ข้อ ร่วมหุ้นทุกภาคส่วนปฎิรูปการศึกษาไทย ฉบับทำทันที เน้นพัฒนาโรงเรียนดี/อาชีวะดี/ครูดี/สื่อดี ผู้เรียนได้รับผลประโยชน์ทันที 77 จังหวัด นำร่องจัดการศึกษาที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในจังหวัดที่พร้อม และตั้งสภาปฏิรูปการศึกษาไทย
วันที่ 14 มิถุนายน 2557 เครือข่ายนักการศึกษา ภาคประชาสังคม ภาคธุรกิจเอกชน ออกแถลงการณ์ ร่วมหุ้นทุกภาคส่วนปฎิรูปการศึกษาไทย (ฉบับทำทันที) ประชาชนทำเอง เพื่อเสนอต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ณ อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สำนักงานกองทุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรุงเทพฯ
ศาสตราจารย์ศรีราชา เจริญพาณิช ผู้ตรวจตรวจการแผ่นดิน เป็นตัวแทนภาคีเครือข่ายร่วมมือด้านการศึกษาแถลงการณ์ว่า เป็นเวลาเกือบ 20 ปี ที่ประชาชนไทยฝากภารกิจการปฏิรูปการศึกษาให้อยู่ในมือของภาครัฐ ภาษีราษฎร์ปีละกว่า 4 แสนล้านบาท สูญเสียการจัดการการศึกษาที่ทำให้เด็กและเยาวชนไทยได้รับการตีตราว่า โง่ลงเรื่อยๆ
ขณะที่การลงทุนเพื่อการศึกษาของไทยติดอันดับมากที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก และการจัดสรรงบประมาณอุดหนุนการศึกษาเทลงไปที่งบประมาณสำหรับบุคคลากรหรือค่าตอบแทนเกือบ 80 % แต่สิ่งที่ประชาชนได้รับกลับมาคือ ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็ก/เยาวชนไทยในทุกระดับต่ำกว่าความคาดหวังของสังคมไทยทุกภาคส่วน บ่งชี้ได้จากสถิติของ world Economic forum 2013 ที่จัดอันดับการแข่งขันด้านการศึกษาของไทยต่ำกว่าหลายประเทศในภูมิภาคอาเซียน และการประเมินผลทักษะของนักเรียนในระดับนานาชาติ(PISA) ปี 2012 มีคะแนนต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของ 65 ประเทศ และในประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 50 จากทั้งหมด
เมื่อมองไปที่สายอาชีวศึกษา ผู้สอนสายอาชีวะที่ไม่มีประสบการณ์การทำงานที่สอดคล้องและเท่าทันสถานการณ์ความต้องการในการผลิตแรงงานที่มีทักษะฝีมือ ส่วนอาจารย์ในระดับมหาวิทยาลัยต่างๆก็อ้างถึงความด้อยคุณภาพของนักศึกษา ว่ามีผลสืบเนื่องมากจากการจัดการศึกษาในระดับประถมและมัธยม เหล่านี้แสดงถึงความด้อยประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาของภาครัฐ
ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมต่างแสดงความเป็นห่วงได้ระดมความคิดเห็นจัดทำข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปการศึกษามาโดยตลอด แต่ไม่เคยส่งผลในการปฏิบัติของภาครัฐ
ในส่วนของปลายน้ำ คือภาคธุรกิจเอกชน ภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตร ไม่เว้นแม้แต่ภาครัฐ ที่เป็นผู้จ้างงานได้รับผลกระทบถ้วนหน้ากับปัญหาสมรรถนะของกำลังแรงงานที่การศึกษาไทยไม่ได้เตรียมความพร้อมด้านคุณภาพของผู้เรียนในตลาดแรงงานและการประกอบอาชีพในปัจจุบัน ต่างต้องศูนย์เสียงบประมาณไปกับการจัดการฝึกอบรมพัฒนาทักษะความรู้ให้แก่บุคคลากรที่รับเข้าใหม่
ทั้งนี้ ภาษีราษฎร์จำนวนมหาศาลที่ภาครัฐเผาผลาญไปกับการศึกษาดูงานต่างประเทศที่มีระบบจัดการการศึกษาเป็นเลิศ แต่มิได้นำกลับมาให้เกิดประโยชน์โภชน์แก่เด็ก/เยาวชนไทยได้คุ้มค่ากับเม็ดเงินที่จ่ายไป หรือแม้กระทั่งการคอร์รัปชั่นในวงการผลิตหนังสือ/ตำราที่จัดทำขึ้นเพื่อการศึกษาแต่ก็ถูกคอร์รัปชั่นไปต่อหน้าต่อตา
สำหรับเด็ก/เยาวชนไทย ก็มีหลักฐานงานวิจัยแสดงให้ปรากฏ หรือแม้วิธีการการบรรจุครูใหม่ให้ไปประจำการในโรงเรียนต่างๆ ก็ไม่สอดคล้องกับความจำเป็นและความต้องการของโรงเรียน รวมถึงระเบียบกฎเกณฑ์ต่างๆและการดำเนินการของภาครัฐเป็นอุปสรรคสำคัญสำหรับการจัดการศึกษาโดยภาคประชาชนตลอดมา
ด้านผู้ปกครองที่ได้สูญเสียค่าใช้จ่ายเพื่อเสริมสร้างการศึกษานอกรั้วสถาบันให้กับบุตรหลาน เพื่อให้ลูกหลานไทยสามารถแข่งขันได้ในระบบการสอบสารพัดที่ภาครัฐกำลังกดขี่พวกเขา อีกทั้งระบบการประเมินและการประกันคุณภาพการศึกษา ที่สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้เกิดการเบี่ยงเบนเป้าหมาย ภารกิจและหน้าที่หลักของการจัดการศึกษา
ปัญหาเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวและผิดทิศทางในการจัดการศึกษาทั้งระบบทั้งในด้านคุณภาพและความเท่าเทียมและไม่มีผู้รับผิดชอบกับผลสัมฤทธิ์ของการปฏิบัติงานที่ล้มเหลวในแต่ละระดับเลย
เมื่อภาครัฐไม่สามารถที่จะจัดการศึกษาที่ดีให้แก่เด็ก/เยาวชนไทยได้ ด้วยผลการทำงานที่ล้มเหลวทั้งด้านจัดการพัฒนาครู/ อาจารย์ โรงเรียน ผู้บริหาร ตลอดจนการผลิตตำรา สื่อ อีกทั้งโครงการแทปแล็ตที่ละลายภาษีราษฎร์ไปโดยขาดการวางแผนที่ริบคอบเพียงเพื่อตอบสนองนโยบาย ของฝ่ายการเมือง เพราะระบบการจัดการเป็นระบบรวมศูนย์ ท้องถิ่น ชุมชน และผู้ปกครองตลอดจนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง ไม่สามารถมีส่วนร่วมกับการจัดการศึกษาของภาครัฐได้ ทั้งๆที่มีระบุเรื่องการมีส่วนร่วมนี้ไว้แล้วใน พระราชบัญญัติการศึกษาฉบับล่าสุด โดยเฉพาะโรงเรียนไม่มีสิทธิสมบรูณ์ ในการบริหารจัดการตัวเองให้ได้มาซึ่งการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพ
นักการศึกษาภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจเอกชน ไม่อาจรอให้ภาครัฐปรับทิศทางการจัดการศึกษาของชาติให้ได้คุณภาพที่พึ่งประสงค์ได้อีกต่อไป เพื่อการศึกษาเป็นของคนไทยทั้งมวลอย่างแท้จริง และเพื่อให้การศึกษาเป็นเป้าหมายของการพัฒนาทรัพยากรบุคคลอันเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดขิงประเทศจึงมีแถลงการณ์ดังต่อไปนี้
1.ร่วมพัฒนาโรงเรียนดี/อาชีวะดี/ครูดี/สื่อดี ผู้เรียนได้รับผลประโยชน์ทันที 77 จังหวัด ด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน
2. Education for All for Education นำร่องการจัดการศึกษาที่ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในจังหวัดที่พร้อม
3.ก่อร่าง "สภาปฏิรูปการศึกษาไทย" ให้เป็นองค์กรอิสระ โดยมี "สำนักงานปฏิรูปการศึกษา" เป็นหน่วยงานปฏิบัติการระยะยาว เด็กและเยาวชนไทยเติบโตขึ้นทุกวัน
"พวกเขาไม่อาจรอให้ผู้ใหญ่ปฏิรูปการศึกษาโดยการประชุม ผลาญกระดาษและน้ำหมึก ตั้งมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ หรือสนองนโยบายอีกต่อไป นักการศึกษา ภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจเอกชน ไม่รอการร่วมลงชื่อ แต่จะลงมือทำทันที จึงขอแถลง "ร่วมหุ้นทุกภาคส่วนปฏิรูปการศึกษาไทย" ณ ที่นี้
ทั้งนี้ คสช. ควรรับทราบและพิจารณาแถลงการณ์นี้ เพื่อตั้งต้นปฏิรูปการศึกษาให้ถูกทิศทาง และไม่ส่งเรื่องนี้ให้ตกไปอยู่ในมือของกลไกที่ขาดประสิทธิภาพต่อไป” ผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าว