เปลี่ยนระบบกล่าวหาเป็นไต่สวน ‘ม.ร.ว.อคิน’ ชี้คืนความยุติธรรมคดีที่ดินคนจน
‘ม.ร.ว.อคิน’ ชี้ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจากกล่าวหาเป็นไต่สวน ปมเหลื่อมล้ำที่ดินไทย หลังชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรม ระบุศาลไม่เข้าใจความหมาย 'สิทธิชุมชน' ตั้งคกก.เพิกถอนเอกสารสิทธิ์ฯ มิชอบ
วันที่ 14 มิถุนายน 2557 ที่ศูนย์ศึกษาสยามคอมเพล็กซ์ มหาวิทยาลัยคริสเตียน กรุงเทพฯ สถาบันวิจัยรพีพัฒน์ศักดิ์ ร่วมกับสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา ม.มหิดล คณะนิติศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ และมูลนิธิชุมชนไท จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ‘งานวิจัยที่ดินกับแนวทางการนำไปใช้แก้ปัญหา’ ในโอกาสนี้ รศ.ดร.ม.ร.ว.อคิน รพีพัฒน์ ประธานมูลนิธิชุมชนไท ปาฐกถาพิเศษ ‘ความยุติธรรมตามตัวอักษร:ความเป็นธรรมตามความเป็นจริง’
รศ.ดร.ม.ร.ว.อคิน กล่าวถึงการขับเคลื่อนความเป็นธรรมด้านที่ดิน เนื่องจากพบความเหลื่อมล้ำในการถือครองที่ดินสูงมาก โดยข้อมูลระบุปัจจุบันมีที่ดินกระจุกตัวอยู่ในมือของคนไทยเพียงร้อยละ 10 ในขณะที่อีกร้อยละ 90 เกือบจะไม่มีที่ดินเลย แต่ในเวลาเดียวกันกลับมีที่ดินถูกทิ้งร้างว่างเปล่าสูงถึง 48 ล้านไร่ เพราะฉะนั้นเราจึงคิดว่า เรื่องที่ดินมีความสำคัญที่ต้องปฏิรูป
ประธานมูลนิธิชุมชนไท กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราได้ลงพื้นที่เยี่ยมผู้เดือดร้อนจากปัญหาที่ดิน สิ่งที่เราพบ คือ เมื่อชาวบ้านถูกศาลพิพากษาตัดสินแล้ว หลายคนรู้สึกมากว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรม ดังนั้น เมื่อคณะกรรมการปฏิรูปชุดนายอานันท์ ปันยารชุน หมดวาระลง จึงทำให้ต้องมานั่งคิดถึงการแก้ไขปัญหาต่อมา
“เราคิดว่า การประท้วงของชาวบ้านไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ คือ การนำเรื่องนำเสนอต่อบุคลากรในกระทรวงยุติธรรม เพื่อพิจารณาและหาทางแก้ไขร่วมกัน การไปพบเลขาธิการศาลและผู้พิพากษา เพราะหากไม่ได้รับความร่วมมือจากบุคลากรเหล่านี้ก็ยากจะเป็นไปได้ ซึ่งภายหลังก็ได้ร่วมทำงานกับสถาบันวิจัยรพีพัฒนศักดิ์ และมีการศึกษาวิจัยทั้งหมด 5 เรื่อง ได้แก่ พื้นที่หนองกินเพล จ.อุบลราชธานี พื้นที่คอนสาร จ.ชัยภูมิ พื้นที่เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน พื้นที่ราไวย์ จ.ภูเก็ต และพื้นที่ทับยาง จ.พังงา"
รศ.ดร.ม.ร.ว.อคิน กล่าวถึงปัญหาที่พบด้วยว่า มีทั้งหมด 4 ประเด็น คือ 1.ปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ถือครองที่ดิน พบการออกและเพิกถอนหลายฉบับเกิดขึ้นโดยมิชอบ ก่อให้เกิดปัญหามาก และเมื่อยื่นความจำนงขอเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ดังกล่าว ปรากฏว่า อธิบดีกรมที่ดินที่มีอำนาจเพียงผู้เดียวไม่ยอมลงนามเพิกถอนให้ อย่างไรก็ตาม ภายหลังเราได้มีข้อสรุปควรจัดตั้งคณะกรรมการเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ถือครองที่ดิน มิใช่ให้เป็นอำนาจของอธิบดีกรมที่ดินผู้เดียว
2.ภาระการพิสูจน์ การที่เราจะพิสูจน์ในศาลว่า เอกสารสิทธิ์ถือครองที่ดินไม่ถูกต้อง ปัญหาของศาลคือภาระในการนำสืบให้เป็นภาระของผู้ฟ้อง แต่การพิสูจน์ทำไม่ได้และยาก เพราะเอกสารทั้งหลายอยู่กับเจ้าหน้าที่ของกรมที่ดินทั้งนั้น ซึ่งชาวบ้านไม่สามารถไปนำมาได้ แต่ศาลมักให้น้ำหนักกับเอกสาร โดยเฉพาะเอกสารที่ออกโดยหน่วยงานราชการ เช่น น.ส.3 และโฉนดที่ดิน
"ส่วนตัวจึงมองว่า ศาลคงมีข้อสันนิษฐานเบื้องต้นให้รัฐทรงคุณธรรม เจ้าหน้าที่รัฐทำด้วยความบริสุทธิ์ยุติธรรม ซึ่งความจริงแล้วไม่เป็นอย่างนั้น"
3.ระบบกล่าวหาและไต่สวน ศาลยุติธรรมไทยมักใช้ระบบกล่าวหา โดยถือว่ามีความสำคัญที่สุด จึงเป็นเรื่องแปลก เพราะตามปกติ หากเป็นกฎหมายที่ใช้ตราออกมาเป็นกฎหมาย เวลาตัดสินก็มักใช้ระบบไต่สวน แต่อดีตพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์เรียนจบจากอังกฤษ ซึ่งใช้ระบบกล่าวหา ที่สำคัญลูกศิษย์ของพระองค์ส่วนใหญ่ก็เรียนจบที่อังกฤษ จึงยึดมั่นใช้ระบบนี้กันมาก อย่างไรก็ตาม ศาลควรใช้หลักการไต่สวนเหมือนกรณีสิ่งแวดล้อม
4.สิทธิชุมชน รัฐธรรมนูญเขียนไว้มาตรา 66 และ 67 ให้สิทธิชุมชนปกป้องพื้นที่และอนุรักษ์ฟื้นฟูจารีตประเพณีภูมิปัญญาท้องถิ่น แต่ปัญหาคือศาลไม่ค่อยนำมาใช้ ด้วยไม่รู้ว่าอะไรคือชุมชน ทั้งที่ความจริงแล้วกฎหมายเขียนไว้ค่อนข้างชัดเจน คือ คนที่รวมกันเป็นกลุ่มเพื่อช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมของตัวเอง .