ทำไมใต้ป่วนช่วงรอมฎอน?
หากไล่ดูสถิติเหตุรุนแรงที่ชายแดนใต้ในห้วง 1 เดือนที่ผ่านมา จะพบว่าสถานการณ์เริ่มร้อนระอุมาตั้งแต่พ้น 1 สัปดาห์หลังเลือกตั้ง และโหมแรงขึ้นช่วงสัปดาห์สุดท้ายปลายเดือน ก.ค.ก่อนก้าวเข้าสู่เดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิม ซึ่งเกิดเหตุรุนแรงถี่ยิบรายวัน
และหากพลิกแฟ้มดูสถิติไฟใต้ 5-6 ปีย้อนหลังจะพบว่า ช่วงเดือนรอมฎอนมีคลื่นความรุนแรงสูงกว่าเดือนก่อนหน้าและเดือนหลังจากรอมฎอน บางปีมีเหตุรุนแรงสูงเป็นลำดับต้นๆ ในรอบ 12 เดือนเลยทีเดียว
คำถามที่หลายฝ่ายข้องใจกันก็คือ...ทำไมภาคใต้จึงป่วนหนักช่วงรอมฎอน?
ล่าสุด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) เพิ่งออกมาให้สัมภาษณ์ (เมื่อวันอังคารที่ 2 ส.ค.) และอธิบายความเอาไว้ดังนี้
"สถานการณ์เป็นแบบนี้ทุกปี เพราะเขาพยายามสร้างสถานการณ์ และเป็นคำสอนที่ผิดที่สอนว่าหากมีการพลีชีพในช่วงนี้จะได้กุศลเป็นสองเท่า ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิด เพราะทุกศาสนาไม่ได้สอนให้คนฆ่ากัน ปัญหาที่เกิดขึ้นคือการลอบทำร้ายเจ้าหน้าที่ และทุกวันนี้มีมากขึ้น มีผลกระทบต่อพวกเรา เพราะได้รับบาดเจ็บขณะไปดูแลประชาชนและครู"
คำอธิบายที่อาจเรียกได้ว่าเป็น “สมมติฐาน” ของ พล.อ.ประยุทธ์ จะว่าไปแล้วก็ตรงกับสมมติฐานของฝ่ายความมั่นคง (ทั้งตำรวจและทหาร) ที่ตั้งเอาไว้เนิ่นนานนับตั้งแต่ช่วงหลังปี 2547 ที่เกิดเหตุการณ์ปล้นปืน 413 กระบอกจากกองพันพัฒนาที่ 4 ค่ายกรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บ้านปิเหล็งใต้ ต.มะรือโบออก อ.เจาะไอร้อง จ.นราธิวาส (4 ม.ค.2547) ซึ่งถือกันว่าเป็นปฐมบทของความรุนแรงรอบใหม่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
โดยสมมติฐานดังกล่าวระบุว่า ปฏิบัติการก่อความไม่สงบที่เกิดขึ้นนั้นมาจากการบิดเบือนคำสอนทางศาสนาของบรรดาแกนนำขบวนการ (ที่อ้างว่ามีอุดมการณ์) แบ่งแยกดินแดน เพื่อระดมวัยรุ่นและชายฉกรรจ์มุสลิมในพื้นที่ให้เข้าร่วมแผนปฏิวัติปลดปล่อยรัฐปัตตานีจากรัฐไทย
ยิ่งสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยืดเยื้อบานปลายมานานกว่า 7 ปี เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงใช้กฎหมายพิเศษทั้งกฎอัยการศึก และพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) จับกุมผู้ต้องหาและคุมตัวผู้ต้องสงสัยมาสอบปากคำเป็นจำนวนมาก กระทั่งเห็นภาพชัดขึ้นเรื่อยๆ ยืนยันสมมติฐานข้างต้น
บทสรุปของฝ่ายความมั่นคงก็คือปฏิบัติการความรุนแรงของกลุ่มติดอาวุธซึ่งเป็นเยาวชนและชายฉกรรจ์มุสลิมในพื้นที่นั้น เป็นการต่อสู้เพื่อศาสนาและเพื่อดินแดนอิสลามที่ถูกรัฐไทยรุกราน ฉะนั้นยิ่งก่อเหตุรุนแรงช่วงวันสำคัญทางศาสนา ก็จะยิ่งได้บุญเพิ่มขึ้น!
จากสมมติฐานที่กลายเป็น “บทสรุป” ของฝ่ายความมั่นคงนี่เองที่ทำให้เกิดโครงการ “อบรม” เพื่อ "ถอนแกนความคิด" ของบรรดาผู้ที่ถูกระบุว่าเป็น “แนวร่วมก่อความไม่สงบ” หรือ “กลุ่มเสี่ยง” ที่จะถูกชักจูงเข้าร่วมขบวนการ (ที่อ้างว่ามีอุดมการณ์) แบ่งแยกดินแดน ซึ่งดำเนินการโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และกองทัพบก
โครงการ “อบรม” ที่ว่านี้มีพลวัตปรับเปลี่ยนและขับเคลื่อนต่อเนื่องมา กระทั่งปัจจุบันอยู่ภายใต้การดูแลของ “ศูนย์สันติสุข” ซึ่งมี พล.ท.สำเร็จ ศรีหร่าย เป็นผู้อำนวยการ
พล.ท.สำเร็จ ซึ่งปฏิบัติงานในพื้นที่ชายแดนใต้มาอย่างต่อเนื่องนานหลายปีทั้งในภารกิจเปิดและภารกิจลับ บอกว่า เงื่อนไขสำคัญที่สุดของความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ “ปมทางศาสนา” จึงต้องถอดสลักเรื่องนี้ให้ได้เสียก่อน
"ปัจจุบันแม่ทัพภาคที่ 4 ได้อนุมัติให้มี 'ศูนย์สันติสุข' ทำหน้าที่อบรมกลุ่มผู้ต้องหา ผู้ต้องสงสัย และกลุ่มเสี่ยงที่จะเข้าร่วมขบวนการก่อความไม่สงบ โดยเนื้อหาของการอบรมเน้นการสร้างความเข้าใจเรื่องศาสนาที่ถูกต้องเป็นหลัก ซึ่งเราไม่ได้ทำเอง แต่เชิญผู้นำศาสนามาร่วมกระบวนการ"
พล.ท.สำเร็จ ขยายความว่า บุคคลที่จะเข้าสู่กระบวนการของศูนย์สันติสุขมีอยู่ 3 กลุ่ม คือ
1.ผู้ต้องหาตามหมายจับที่ยอมเข้ามอบตัวสู้คดีตามกระบวนการยุติธรรมและได้รับการประกันตัว กลุ่มนี้เมื่อผ่านการอบรมแล้วทางศูนย์สันติสุขจะทำรายงานไปยังศาลเกี่ยวกับการพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้ต้องหา เพื่อให้เป็นผลบวกในทางคดีด้วย
2.ผู้ต้องสงสัยที่ถูกควบคุมตัวตามหมาย ฉฉ. (ออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) กลุ่มนี้เมื่อผ่านการอบรม ทางศูนย์สันติสุขจะปลดหมาย ฉฉ.ให้
3.ผู้ที่ไม่เคยถูกหมายอะไรเลย แต่เป็นแนวร่วมหรือสมาชิกขบวนการ แล้วตัดสินใจเข้ารับการอบรมเอง ซึ่ง พล.ท.สำเร็จ บอกว่าผู้เข้ารับการอบรมจำนวนมากที่สุดคือคนใน “กลุ่มที่ 3”
เมื่อถาม พล.ท.สำเร็จ ว่า คนที่ตัดสินใจเข้ารับการอบรมกับทางราชการ ซึ่งกล่าวกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ “ทหาร” เมื่อผ่านหลักสูตรกลับคืนสู่ภูมิลำเนาแล้ว ไม่เสี่ยงต่อการถูกล่าสังหารหรือประทุษร้ายจากขบวนการก่อความไม่สงบหรือ?
พล.ท.สำเร็จ ตอบว่า การเข้ารับการอบรมเป็นเรื่องของความสมัครใจ แต่ละคนตัดสินใจเอง ไม่มีใครบังคับ ส่วนใหญ่ที่มาเป็นคนที่ไม่เคยถูกออกหมาย (ทั้งหมายจับและหมายเชิญตัว หรือหมาย ฉฉ.) เข้าใจว่าน่าจะอึดอัดกับการร่วมงานกับกลุ่มขบวนการ และสาเหตุที่ไม่กลัวเพราะมากันหลายคน มากันเป็นกลุ่มใหญ่หมู่บ้านเดียวกัน 10-20 คนก็ยังมี
สำหรับรายละเอียดของการอบรม พล.ท.สำเร็จ บอกเอาไว้อย่างนี้
"เราวางกรอบไว้ว่าภายใน 1 ปีจะอบรมให้ได้ 10 รุ่น รุ่นละ 100 คน รวม 1,000 คน จนถึงขณะนี้อบรมมาแล้ว 9 รุ่น ข้อเท็จจริงที่ปรากฏชัดเจนคือทุกคนถูกหลอกให้เข้าร่วมขบวนการโดยใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ เขาเชื่อว่าทำแล้วได้บุญ ยิ่งทำช่วงเดือนรอมฎอนหรือใกล้เดือนรอมฎอนเท่ากับได้ขึ้นสวรรค์ ได้ใกล้ชิดพระเจ้า ได้พาพ่อแม่ขึ้นสวรรค์ด้วย นี่คือสาเหตุหลักที่ทำให้กลุ่มเยาวชนยังคงเข้าร่วมขบวนการ และก่อเหตุรุนแรงถี่มากในช่วงวันสำคัญทางศาสนา"
พล.ท.สำเร็จ บอกด้วยว่า กระบวนการอบรมของศูนย์สันติสุขจะใช้พื้นที่ของค่ายทหารนอกสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น ค่ายรัตนพล (อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา) และค่ายพระปกเกล้า (อ.เมือง จ.สงขลา) โดยเน้นให้ “ผู้นำศาสนา” ซึ่งเป็นผู้ที่รู้จริงและได้รับการยอมรับ ช่วยทำความเข้าใจ อธิบายหลักศาสนาที่ชัดเจน โดยทำกิจกรรมและกินอยู่ร่วมกันเป็นเวลานานถึง 21 วัน
แน่นอนว่าคำถามที่ทุกคนอยากรู้ก็คือ ผลสัมฤทธิ์ของโครงการ...
"ผลที่ได้รับนับว่าน่าพอใจมาก ผู้เข้ารับการอบรมเกือบ 100% ถึงขั้นร้องไห้เมื่อได้รู้ความจริงว่าพวกเขาถูกหลอก ทั้งหมดตัดสินใจหันหลังให้ขบวนการ กลับคืนสู่ครอบครัวและภูมิลำเนาไปใช้ชีวิตตามปกติ" พล.ท.สำเร็จ บอกและว่างบประมาณที่ใช้สำหรับโครงการนี้ในปีงบประมาณ 2554 อยู่ที่ราวๆ 7 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ยังมีประเด็นที่น่าคิดว่า เมื่อฝ่ายทหารยืนยันความสำเร็จของศูนย์สันติสุขว่าสามารถอบรมเยาวชนได้เกือบ 1,000 รายแล้ว แต่เหตุใดความรุนแรงรายวันจึงยังมีอยู่ ประเด็นนี้ พล.ท.สำเร็จ อธิบายว่า เป็นเพราะแหล่งบ่มเพาะเยาวชนยังไม่ถูกจัดการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถาบันการศึกษาเอกชนที่เกี่ยวข้องกับศาสนา ต้องให้กระทรวงศึกษาธิการเข้าไปตรวจสอบอย่างจริงจัง เพราะมีอำนาจหน้าที่โดยตรง
"เมื่อแหล่งบ่มเพาะยังอยู่ ฝ่ายขบวนการก็ยังผลิตแนวร่วมรุ่นใหม่ออกมาทดแทนคนเก่าได้เรื่อยๆ" พล.ท.สำเร็จ สรุป
ทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลจากฝ่ายความมั่นคงซึ่งแม้จะพูดตรงกันทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติในพื้นที่ แต่เมื่อสอบถามความเห็นจาก “ผู้นำศาสนา” กลับมองตรงกันข้าม
ท่านนิมุ มะกาเจ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านศาสนาอิสลาม จ.ยะลา ให้ทัศนะว่า เหตุร้ายที่เกิดขึ้นมากเป็นพิเศษในช่วงเดือนรอมฎอนไม่น่าจะเกี่ยวกับการบิดเบือนคำสอนทางศาสนา แต่เป็นจังหวะและโอกาสของกลุ่มขบวนการที่วางแผนมาก่อนมากกว่า
"ผมเห็นด้วยว่าเดือนรอมฎอนของทุกปีจะมีเหตุรุนแรงเยอะขึ้นกว่าปกติ แต่ผมยังคิดว่าเป็นเพราะโอกาสและจังหวะมากกว่าการใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือ เพราะหลักศาสนาบอกเอาไว้ชัดเจนว่าในเดือนรอมฎอนนั้น มุสลิมทุกคนต้องถือศีล ไม่ไปฆ่าแกงใคร ศาสนาไม่ได้ส่งเสริมการก่อเหตุรุนแรง ฉะนั้นถ้าทำเรื่องไม่ดีในเดือนนี้ไม่มีทางได้บุญ ผมคิดว่าเจ้าหน้าที่ต้องย้อนมองตัวเองมากกว่าว่าทำไมถึงมีเหตุรุนแรงสูงขึ้นมากกว่าปกติในช่วงนี้"
นั่นเป็นประเด็นที่ท่านนิมุตั้งคำถามกลับ ซึ่งเมื่อสอบทานกับผู้นำศาสนาท่านอื่นๆ ก็พบว่ามีความเห็นไปในทำนองเดียวกัน
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตก็คือ การปลูกฝังความเชื่อโดยใช้ศาสนา (หากมีจริง) ผสมผสานกับประวัติศาสตร์บาดแผลของรัฐปัตตานี (หรือปาตานี) ในอดีต และความไม่เป็นธรรมที่ปรากฏอยู่ทั่วไป ณ ปัจจุบัน การฝึกอบรมโดยฝ่ายทหารเพียง 21 วันจะเปลี่ยนความคิดคนเหล่านั้นได้จริงหรือ?
ประเด็นนี้ดูจะน่าคิดยิ่งกว่าทำไมใต้ป่วนช่วงรอมฎอน!
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ทหารออกตรวจการณ์โดยรถฮัมวี่ด้วยความถี่และเข้มข้นเป็นพิเศษช่วงเดือนรอมฎอน (ภาพโดย อับดุลเลาะ หวังหนิ)
2 พล.ท.สำเร็จ ศรีหร่าย (ภาพจากแฟ้มภาพอิศรา)
หมายเหตุ : บางส่วนของบทความชิ้นนี้ ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ หน้าในประเทศ ฉบับวันพุธที่ 3 สิงหาคม 2554 ในชื่อ "เปิดข้อมูลฝ่ายความมั่นคง ไขปมใต้ป่วนช่วงรอมฎอน"