ก.พลังงานเตรียมชง คสช. เปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21
ก.พลังงานเผยไทยสุ่มเสี่ยงขาดแคลนก๊าซธรรมชาติ เตรียมชง คสช. เปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 หลังล่าช้า 2 ปี ซีอีโอ ปตท.สผ.เล็งสำรวจพื้นที่ใหม่ ‘Natuna D Alpha’ แดนอิเหนา-เร่งเจรจาเขตทับซ้อนไทย-กัมพูชาให้ได้ภายใน 10 ปี
วันที่ 12 มิถุนายน 2557 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย จัดเสวนา ‘สถานการณ์พลังงานไทยกับภารกิจการจัดหาปิโตรเลียมเพื่อความยั่งยืนของไทย’ ณ ห้องประชุม ศ.สังเวียน ชั้น 3 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ดร.คุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ไทยมีประชากรราว 70 ล้านคน คิดเป็น 1% ของประชากรทั่วโลก แต่เรากลับใช้พลังงานมากกว่า 1% ของโลก โดยมีปริมาณการใช้พลังงาน ปี 2556 สูงถึง 2.004 ล้านบาร์เรล/วัน (เทียบเท่าน้ำมันดิบ) ขณะที่มูลค่าการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายของปีเดียวกันอยู่ที่ 2.13 ล้านล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยใช้พลังงานมากและสิ้นเปลือง ซึ่งคิดเป็น 17% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี)
ส่วนการนำเข้าพลังงานของไทยนั้น รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า มีมูลค่ารวม 1.416 ล้านล้านบาท นำเข้าน้ำมันดิบสูงสุด 76% น้ำมันสำเร็จรูป 10% ก๊าซธรรมชาติ+LNG 10% ถ่านหิน 3% และไฟฟ้า 1% ในขณะที่การส่งออกพลังงานมีมูลค่า 3.682 แสนล้านบาท ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปสูงสุด 90.4% น้ำมันดิบ 8.4% และไฟฟ้า 1.2%
“หากเราไม่ต้องนำเข้าพลังงานเลย เงินจำนวนนี้สามารถนำมาสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจและกระจายรายได้แก่ประชาชนได้” รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว และว่า ขณะนี้ภาวะความมั่นคงทางพลังงานไทยกำลังตกในภาวะสุ่มเสี่ยง เพราะเราพึ่งตนเองได้ไม่ถึงครึ่ง เทียบกับการหายใจยังใช้รูจมูกไม่ถึงหนึ่งรู
สำหรับความจำเป็นต้องเปิดสัมปทานพลังงานรอบที่ 21 ดร.คุรุจิต ระบุว่า โครงการดังกล่าวได้ล่าช้ามา 2 ปีแล้ว และแหล่งก๊าซธรรมชาติก็จะหมดอายุลงในอีก 6 ปีข้างหน้า ฉะนั้นหากไม่ทำอะไรกันเลย ปริมาณพลังงานเหล่านี้จะลดน้อยลงเรื่อย ๆ จนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ จึงจำเป็นที่รัฐต้องเร่งส่งเสริมการสำรวจแหล่งปิโตรเลียมใหม่ ภายใต้ระบบ Thai lll โดยเร็ว
"ต้องรอนโยบายจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ว่าอนุญาตให้เปิดประมูลรอบใหม่หรือไม่ ซึ่งกระทรวงพลังงานได้จัดเตรียมรายละเอียดและเหตุผลเสนอต่อ คสช. เพื่อพิจารณาแล้ว ทั้งนี้ หากมีมติเห็นชอบจะประกาศให้เอกชนยื่นขอสัมปทานได้ภายใน 3-5 เดือน" รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าว
ด้านนายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หลายคนเข้าใจผิดไทยกับมาเลเซียอยู่ใกล้กันต้องมีสภาพทางธรณีวิทยาเหมือนกัน เพราะข้อเท็จจริงแหล่งพลังงานของไทยส่วนใหญ่เป็นก๊าซธรรมชาติ กระจายตัวเป็นจุด ๆ ผิดกับในมาเลเซียที่เป็นแหล่งน้ำมันทั้งสิ้น ดังนั้น แอ่งสะสมตะกอนเดียวกันสามารถมีศักยภาพปิโตรเลียมแตกต่างกันได้
ส่วนอนาคตความมั่นคงด้านพลังงานไทยจะเป็นอย่างไรนั้น ประธาน ปตท.สผ. ระบุว่าจะต้องหาแหล่งสัมปทานใหม่ในพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) ให้ได้ภายใน 10 ปี มิเช่นนั้นไทยจะขาดแคลนก๊าซมากกว่า 3 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และต้องนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ที่ผ่านมากลับพบอุปสรรคไม่สามารถเจรจากันได้ เนื่องจากกระแสสังคมไม่ไว้วางใจหวั่นไทยจะเสียเปรียบกัมพูชา นอกจากนี้ ยังมองไปถึงแหล่งก๊าซธรรมชาติอินโดนีเซีย (Natuna D Alpha) ด้วย
ขณะที่นายมนูญ ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน กล่าวถึงสาเหตุราคาน้ำมันไทยแพง เพราะโครงสร้างทางภาษี โดยยกตัวอย่างราคาหน้าโรงกลั่น (เบนซิน 95) 25.45 บาท (52% ของราคาขายปลีก) ต้องเสียภาษี+กองทุน 21.14 บาท ( 43% ของราคาขายปลีก) ค่าการตลาด-กำไร 2.16 บาท ( 5%ของราคาขายปลีก) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ผู้ประกอบการไม่ได้ผูกขาดกำไรเลย เพราะได้เพียง 5% เท่านั้น แต่ราคาส่วนใหญ่ตกอยู่ที่ภาษี+กองทุนที่สูงถึง 43%
ขณะที่มาเลเซียราคาหน้าโรงกลั่น (เบนซิน 95) เหมือนกับไทย แต่รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณมาอุดหนุนเพิ่มลิตรละ 6 บาท ทำให้ราคาน้ำมันที่นั่นลดลงมาเหลือ 19 บาท แต่ไทยไม่มีเงินอุดหนุน แต่กลับไปเพิ่มภาษีสูงถึง 21 บาท จึงทำให้ราคาขายอยู่ที่ 48.75 บาท
นายมนูญ กล่าวด้วยว่า โครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในไทยตอนนี้มีการเก็บภาษีซ้ำซ้อนในอัตราสูงบางผลิตภัณฑ์ คือ ขณะที่น้ำมันดีเซลมีราคาหน้าโรงกลั่นพอกับเบนซินและแก๊สโซฮอล (25.36-25.45,25.77) แต่กลับเสียภาษี+กองทุนเพียงแค่ 2.22 บาท/ลิตร ( 7% ของราคาขายปลีก) จึงเป็นราคาที่ไม่ยุติธรรม
นอกจากนี้โครงสร้างดังกล่าวยังไม่ส่งเสริมให้เกิดการใช้อย่างมีประสิทธิภาพจนต้องมีการนำเข้า เช่น กรณีอุดหนุนราคาพลังงานบางชนิดจนต่ำกว่าต้นทุนที่แท้จริง (ก๊าซหุงต้ม LPG) และโครงสร้างภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลยังถูกบิดเบือน ทำให้มีการใช้มากขึ้นจากวันละ 55 ล้านลิตร เป็น 60 ล้านลิตร (+9%) จนส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อนและไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้น้ำมันอื่น
สุดท้ายดร.ทวารัฐ สูตะบุตร รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กล่าวถึงพลังงานแสงอาทิตย์กับเอทานอลจะเป็นอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนดาวรุ่งในอนาคต แต่จะประสบความสำเร็จได้ต้องได้รับการสนับสนุนพร้อมกันทั่วโลก และภาครัฐควรมีนโยบายส่งเสริมที่เหมาะสม หนึ่งในนั้น คือ การทำให้เชื้อเพลิงฟอสซิลบางประเภทมีราคาไม่ถูกเกินไปหรือบางประเภทที่มีราคาถูกก็ต้องปรับขึ้น .
ภาพประกอบ:ผู้จัดการออนไลน์