ศอ.บต.ขุด4รากเหง้าไฟใต้ กับ6แนวทางแก้ไข เลี่ยงกับดักรุนแรง
ในขณะที่ปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงใช้ "กลไกเดิม" ในการจัดการปัญหา โดยที่ยังไม่มี "กลไกใหม่" หรือ "กลไกพิเศษ" จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เหมือนกับอีกหลายๆ ปัญหา
ประเด็นที่ควรพิจารณาจึงเป็นการย้อนกลับไปทำความเข้าใจกับปัญหาและแนวทางแก้ไขจากหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง...
ในเอกสารรายงานสรุปสถานการณ์ปัญหาและอุปสรรคในการแก้ไขปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ประจำปีงบประมาณ 2556 ซึ่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) จัดทำขึ้น และ พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง สมัยที่ยังนั่งเก้าอี้เลขาธิการ ศอ.บต. ได้นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีรักษาการ เมื่อต้นเดือน พ.ค.2557 นั้น พบว่าได้มีบทสังเคราะห์สภาพปัญหาและข้อเสนอเพื่อเป็นแนวทางแก้ไขเอาไว้อย่างน่าสนใจ
รายงานของ ศอ.บต.ระบุตอนหนึ่งว่า การก่อความไม่สงบเป็นโจทย์ปัญหาหลักของการแก้ไขและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็จริง แต่ตราบใดที่ยังไม่สามารถขจัดปัจจัยที่เป็นเงื่อนไขที่มาของ "สาเหตุรากเหง้า" ของการก่อความไม่สงบเสียแล้ว ผลลัพธ์จากความพยายามทุ่มเททรัพยากรด้านต่างๆ ในการแก้ไขและพัฒนาพื้นที่นี้ก็คงทำได้เพียงการชะลอสถานการณ์ความรุนแรงให้ลดลงชั่วครั้งชั่วคราว ส่งผลให้เสียโอกาสการพัฒนาในมิติต่างๆ ในระยะยาว
สำหรับ "สาเหตุรากเหง้า" ที่ ศอ.บต.ประมวลจากการรับฟังความเห็นของฝ่ายความมั่นคง ภาคประชาสังคม กลุ่มปัญญาชน ผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชกาาร กลุ่มผู้ต้องขัง กลุ่มแกนนำเยาวชน และผู้นาศาสนา พบว่ามีอยู่ 4 เหตุปัจจัย ได้แก่
1.การผนวกดินแดนรัฐปัตตานีเป็นส่วนหนึ่งของอาณาจักรสยาม จากสนธิสัญญากำหนดเขตแดนระหว่างสยามและอังกฤษ เมื่อปี พ.ศ.2452 ประกอบกับการปรับโครงสร้างทางการปกครอง โดยการรวมศูนย์อานาจไว้ที่ส่วนกลางในสมัยรัชกาลที่ 5 เนื่องจากต้องการสร้างบูรณภาพเหนือดินแดนสยาม เพื่อป้องกันการรุกรานจากชาติตะวันตก ทำให้ผู้ปกครองรัฐปัตตานีเดิมสูญเสียอำนาจ
2.นโยบายรัฐนิยมสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ที่ปลุกระดมให้คนทั้งชาติต้องทำตัวให้เป็นคนไทย จึงจะถือว่ารักชาติ โดยภายใต้นโยบายรัฐนิยมมีการห้ามใช้ภาษามลายู ห้ามสวมหมวกแบบมุสลิม ห้ามผู้หญิงใช้ผ้าคลุมศีรษะ ผู้ชายห้ามนุ่งผ้าโสร่ง ให้เปลี่ยนชื่อที่ไม่เป็นไทยให้เป็นไทย ใครฝ่าฝืนต้องถูกจับกุมลงโทษ
3.การหายสาบสูญของ หะยีสุหรง บิน อับดุลการ์เด บิดาของ นายเด่น โต๊ะมีนา อดีตสมาชิกวุฒิสภาปัตตานี และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ขณะถูกเรียกไปรายงานตัวตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อเดือน ส.ค.2498
4.การปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐในอดีตกรณีอื่นๆ ที่ซ้ำเติมตอกย้ำความไม่เป็นธรรม เช่น เหตุการณ์ดุซงญอ อ.จะแนะ จ.นราธิวาส เมื่อปี 2491 เหตุการณ์นำศพชาวมลายูมุสลิมไปทิ้งจำนวน 6 ศพ ที่สะพานกอตอ อ.สายบุรี จ.ปัตตานี เมื่อวันที่ 29 พ.ย.2518 จนนำมาสู่เหตุการณ์ประท้วง 45 วันที่ปัตตานี
นอกจากนี้ นับตั้งแต่ปี 2547 ยังมีบางเหตุการณ์ที่ซ้ำเติมบาดแผลในอดีต เช่น เหตุการณ์กรือเซะ เหตุการณ์ตากใบ ปี 2547 เหตุการณ์ไอร์ปาแย (ยิง 10 ศพในมัสยิด) เมื่อปี 2552 เป็นต้น
ทั้งนี้ ศอ.บต.ได้เสนอแนวทางการขับเคลื่อนการแก้ไขและพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ดำเนินไปอย่างมีพลังและชัยชนะต่อทุกฝ่าย รวม 6 ประการซึ่งทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกัน กล่าวคือ
1.สร้างความปลอดภัยในการดำรงชีวิตอย่างปกติสุขของพลเมืองในพื้นที่ทุกกลุ่ม ทุกอาชีพ ทุกเชื้อชาติ ศาสนาและวัฒนธรรม สร้างความเป็นธรรมและความยุติธรรม การทำความจริงให้ปรากฏอย่างตรงไปตรงมา มีหลักประกันในความเท่าเทียม ความเสมอภาค และความโปร่งใสในการบังคับใช้กฎหมาย การบริหารและการพัฒนา ต้องน้อมนำยุทธศาสตร์พระราชทาน เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และหลักรัฐประศาสโนบายของรัชกาลที่ 6 ที่ทรงวางไว้สำหรับปฏิบัติราชการในมณฑลปัตตานี ตามพระราชหัตถเลขาที่ 3/78 ลงวันที่ 6 ก.ค.2466 นำสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
2.สร้างความเชื่อมั่นในแนวทางสันติวิธี และตระหนักว่าสันติวิธีไม่ได้นำมาใช้เป็นเครื่องมือในการเอาชนะอีกฝ่ายหนึ่ง หรือไม่ใช่เรื่องการแพ้หรือชนะ แต่เป็นการสร้างสันติสุขให้เกิดขึ้น
3.การสร้างความรู้ ความเข้าใจในวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของพื้นที่ การเคารพยอมรับความต่างทางวัฒนธรรมและความคิดเห็นในการอยู่ร่วมกัน การปลุกเร้าเรื่องอุดมการณ์ท้องถิ่นนิยม ชาตินิยม หรือรัฐนิยม แม้จะเป็นสิ่งดีในการสร้างความรัก ความเป็นพวกพ้อง การแบ่งเขตแดน แต่บางครั้งนำมาสู่การใช้ความรุนแรง ถ้าทำเกินเลยไปถึงเรื่องศาสนา การศึกษา ภาษา และวัฒนธรรม เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องไม่มีเขตแดน
4.การยอมรับความเป็นจริงในทางประวัติศาสตร์และการกระทำที่ผิดพลาดในอดีต ไม่มองข้ามความเจ็บปวดของผู้คนเพียงเพื่อรักษาศักดิ์ศรีและความได้เปรียบ แต่ต้องนำเป็นบทเรียนว่าไม่ควรเกิดขึ้นซ้ำ และทำอนาคตให้ดีขึ้น
5.การดำเนินนโยบายในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้คำนึงถึงพื้นที่ที่มีลักษณะพิเศษในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ที่อิงฐานของบริบทที่ประชากรส่วนใหญ่มีวัฒนธรรมหรือวิถีชีวิตอย่างมลายู-อิสลาม และมีความสัมพันธ์กับมิติต่างประเทศ คือ มาเลเซีย ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกัน และผู้คนนับถือศาสนาอิสลามด้วยกัน
ประเทศมาเลเซียมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ทำให้ประชาชนในพื้นที่ชายแดนฝั่งไทยมักนำไปอ้างถึงในเชิงเปรียบเทียบ เพื่อตอกย้ำและสะท้อนถึงข้อด้อยกว่าของรัฐบาลไทย จึงต้องปรับปรุงแก้ไขและพัฒนาพื้นที่นี้ทุกด้านให้ทัดเทียมหรือเข้มแข็งยั่งยืน ไม่ให้ด้อยกว่า ยิ่งกว่านั้นต้องมีความละเอียดอ่อนและรอบคอบในการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้านในประชาคมอาเซียนและในโลกมุสลิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างกัลยาณมิตรในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาร่วมกัน
6.การส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีส่วนร่วมในการบริหารและการพัฒนา รวมทั้งการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ ให้โอกาสได้รับราชการมากขึ้น และในการแต่งตั้งผู้ที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ให้กลั่นกรองคัดเลือกคนดี มีความซื่อสัตย์ มีความรู้ความสามารถ มีจิตใจเปิดกว้างยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่าง สงบเสงี่ยมเยือกเย็น ไม่อคติ ต้องเข้าใจว่าทุกคนเป็นคนไทย เป็นพี่น้องกัน
หลักการแก้ไขปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่สำคัญมากที่สุด คือ การทำความเข้าใจกับรากเหง้าอันเป็นสาเหตุที่มาของความขัดแย้ง การต้องตระหนักถึงความซับซ้อนของปัญหาและสภาวะแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ทางสังคมอย่างลุ่มลึก ต้องไม่มองผู้เห็นต่างเป็นศัตรู แต่ควรเคารพศักดิ์ศรี และยอมรับในเกียรติของความเป็นมนุษย์
ขณะเดียวกันต้องดำรงการใช้แนวทางสันติวิธี คลี่คลายความขัดแย้งอย่างรอบคอบและมีสติสัมปชัญญะ เพื่อจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อกับดักของฝ่ายที่ถนัดใช้ความรุนแรงในการแก้ไขปัญหา ทั้งที่เป็นเพียงปรากฏการณ์ของปัญหาระดับผิวหน้าเท่านั้น