ปราโมทย์ ไม้กลัด เสนอ คสช.เซ็ทซีโร่โครงการน้ำ3.5 แสนล้าน
ปราโมทย์ ไม้กลัด เสนอ คสช.เซ็ทซีโร่โครงการน้ำ3.5 แสนล้านบาท พร้อมยุบสบอช. ย้ำแก้ปัญหาน้ำต้องใจเย็น ผ่านกระบวนการคิดแบบส่วนร่วม นานเป็น 10 ปีก็ต้องรอ
11 มิถุนายน 2557 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)จัดเสวนาหัวข้อ “จาก3.5แสนล้าน สู่ข้อเสนอเร่งด่วนการบริหารจัดการน้ำประเทศไทย” ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 4 อาคารวสท.
รศ.ดร.บัญชา ขวัญยืน ประธานคณะอนุกรรมการสาขาวิศวกรรมแหล่งน้ำ วสท. กล่าวว่า การวางแผนจัดการน้ำของเราไม่ได้เป็นการวางแผนแบบบูรณาการ ส่วนใหญ่เป็นระบบคิดมาตรการแก้ปัญหาอย่างเดียวแล้วสร้างปัญหาอื่นตามมา ดังนั้นในระยะเร่งด่วนจึงมีแนวทางในการเสนอดังนี้
1.การทำแผนแม่บทสำหรับลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ 2.ปรับเกณฑ์การบริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาให้มีความชัดเจนในเรื่องวิธีการบริหารเพื่อไม่ให้มีการเมืองเข้ามาแทรก ไม่ใช่ว่าพอมีคนสั่งการณ์ก็ปรับเปลี่ยนได้ 3.สิ่งก่อสร้างเร่งด่วน เพื่อปรับปรุงเพิ่มศักยภาพ และแก้ปัญหาน้ำ 4.การจัดการฤดูเพาะปลูก เพื่อแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง 5.เร่งรัดการออก พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ
รศ.ดร.บัญชา กล่าวถึงข้อเสนอในระยะยาวนั้น 1.การจัดผังการใช้ประโยชน์ที่ดิน จะต้องมีการจัดการให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น 2.เสริมสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชน องค์กร กลไกและเครือข่ายการบริหารจัดการน้ำ 3.ฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าต้นน้ำอย่างจริงจัง 4.ยึดแผนแม่บทที่ศึกษาแล้วเสร็จ เป็นกรอบในการบริหารจัดการ และพัฒนาสิ่งก่อสร้าง รวมทั้งฐานข้อมูลที่มีต้องสามารถใช้ได้ทุกด้าน
ขณะที่นายปราโมทย์ ไม้กลัด อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากที่ได้นำเสนอผู้หลักผู้ใหญ่ในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ในกรณีที่ให้ยุบสำนักนโยบายและบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ (สบอช.) เนื่องจากองค์กรเหล่านี้ทำงานกันมาปีกว่าๆ แต่ทุกอย่างก็เหมือนเดิม ดังนั้นคสช. ควรยกเลิกไปปล่อยให้ทำต่อไปไม่ได้แล้ว เพราะไม่อย่างนั้นก็จะเป็นในรูปแบบเดิมๆแนวคิดก็แบบเดิมๆ ส่วนจะตั้งใหม่อย่างไรคัดเลือกคนมาทำงานอย่างไรค่อยมาว่ากันอีกที
“ส่วนตัวแล้วคงไม่มีส่วนเข้าไปเกี่ยวข้องอีกหากมีการจัดตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ แต่จะเฝ้าจับตาดูการทำงานอย่างใกล้ชิด”
อดีตอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวอีกว่า อยากเสนอให้คสช.ทบทวนแผนงาน10 โมดูล แล้วเริ่มนับหนึ่งใหม่ทั้งหมด เพราะโครงการต่างๆจะต้องมีการถกเถียงวิเคราะห์ศึกษาปัญหาให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนก่อน ทั้งนี้ยุทธศาสตร์ที่สำคัญเราจะต้องให้สังคมหรือท้องถิ่นอยู่กับน้ำได้อย่างมีความสุข เพราะเป็นไปไม่ได้ที่เราจะต่อสู้ไม่ให้เกิดน้ำท่วม 100% ได้ในบางพื้นที่ ดังนั้นทุกฝ่ายต้องช่วยกันแก้ปัญหาอย่างใจเย็นคือถ้าจะนานสิบปีแต่เป็นแบบที่ทุกฝ่ายยอมรับมีความสมบูรณ์ก็ต้องรอ เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างถูกทิศถูกทางและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ
ด้าน รศ. ดร. สุวัฒนา จิตตลดากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า สาเหตุที่ต้องยุบ สบอช. เพราะเข้าไปบิดเบือนแทรกแซงการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานที่รับผิดชอบเดิมคือไปดึงโครงการต่างๆเอางานที่หน่วยงานเดิมที่เข้าทำอยู่แล้วมาทำ เช่น โมดูล A1 ซึ่งเป็นหน้าที่รับผิดชอบของกรมชลประทาน ก็ดึงมาทำแล้วไม่มีความเข้าใจในการขับเคลื่อนโครงการ ดังนั้นในอนาคตอยากเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นใหม่อาจจะเป็นในรูปแบบองค์กรอิสระโดยมีตัวแทนจากทุกหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำ มาบริหารงานร่วมกันในเชิงยุทธศาสตร์
"การยุบสบอช. จะช่วยทำให้งานหรือโครงการต่างๆถูกโยนกลับไปยังหน่วยงานเดิมและยังทำให้งานที่ดำเนินการมาแล้วสามารถเดินหน้าต่อได้ทันที"