หนุน คสช.สร้างปรองดอง ‘สุรเกียรติ์’ ชี้ยั่งยืนทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วม
‘ดร.สุรเกียรติ์’ ชี้ความปรองดองที่ยั่งยืนทุกฝ่ายต้องมีส่วนร่วม กลไกระดับชาติรู้จักยืดหยุ่นหนุนความหลากหลาย อดีต คอป.เชื่อแผนขับเคลื่อน คสช.เดินถูกทางเเล้ว
วันที่ 11 มิถุนายน 2557 เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป จัดเวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่ 6 ‘พลังสังคมเพื่อขับเคลื่อนการปฏิรูปอย่างมีส่วนร่วม’ ณ ห้องกมลทิพย์ 3 โรงแรม เดอะ สุโกศล
ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย ประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย กล่าวว่า จากประสบการณ์การปฏิรูปครั้งนี้มีลักษณะพิเศษ คือ การปฏิรูปท่ามกลางความขัดแย้งที่ยังไม่จบเสียทีเดียวและมีหลายมิติ ขณะเดียวกันทุกฝ่ายที่ขัดแย้งกลับเห็นตรงกันว่าต้องการปฏิรูปประเทศ โดยเฉพาะประเด็นการเมือง ปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น และกระจายอำนาจ ดังนั้นจึงมีความแปลกกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา
"ฉะนั้นการปฏิรูปท่ามกลางความขัดแย้งและคู่ขัดแย้งเห็นตรงกันเช่นนี้ จึงเป็นธรรมชาติและทางปฏิบัติที่มีทั่วโลกว่า การสร้างความปรองดอง สมานฉันท์ และการปฏิรูป มีความเกี่ยวข้องกันอย่างยิ่งและเป็นเงื่อนไขซึ่งกันและกัน"
ศ.ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวถึงหลักการสำคัญนำไปสู่ความปรองดองที่ยั่งยืนและความสำเร็จการปฏิรูป แบ่งเป็น 3 ประการ คือ 1.ประชาชนคู่ขัดแย้งและไม่ขัดแย้งต้องเกิดความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมกัน สามารถเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการปรองดองและปฏิรูป โดยรถไฟที่จะเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปนั้นต้องไม่ทิ้งฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไว้ที่ชานชาลา แต่ทุกฝ่ายต้องขึ้นรถไฟไปได้พร้อมกัน
2.กระบวนการเจรจาปรองดองต้องได้รับการออกแบบหลายวิธี เพื่อให้เข้ากับกลุ่มคนที่มีความแตกต่างกัน เพราะหากใช้วิธีเดียวกับทุกกลุ่มคนในประเทศอาจไม่ประสบความสำเร็จ
3.องค์กรและกลไกระดับชาติต้องมีความยืดหยุ่นพอสมควรที่จะสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดความหลากหลาย เพื่อสะท้อนความหลากหลายของสังคมไทยในปัจจุบันได้
“เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปสนับสนุนแนวคิดการปรองดองและการปฏิรูปของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคาดหวังให้เรื่องนี้ประสบความสำเร็จ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญมาตลอด” ศ.ดร.สุรเกียรติ์ กล่าว
ด้านดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) กล่าวถึงจุดยืนเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปได้พยายามหาทางออกในวิถีประชาธิปไตย แต่ในที่สุดผู้ขัดแย้งไม่พร้อมเจรจาหรือยอมนำมาสู่การหาทางออก จนเกิดการปะทะกันในวงกว้าง เพราะฉะนั้นไทยจึงดูเหมือนไม่มีทางเลือกที่ดีนัก ซึ่งเราได้คุยกันชัดเจน โดยมุ่งมั่นให้การปฏิรูปเป็นแนวทางนำไปสู่ประชาธิปไตยมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจเรื่องความขัดแย้ง ความปรองดอง และการปฏิรูป ดร.กิตติพงษ์ กล่าวว่า คอป.ได้พยายามเสนอแนวทางมาตลอดทั้งระยะสั้น กลาง และยาว ทั้งนี้ ความปรองดองมิได้หมายถึงทุกคนต้องมีความคิดเหมือนกัน แต่เป็นความคิดความเข้าใจที่ต่างกัน และนำความแตกต่างนั้นที่อาจจะมีส่วนจากปัญหาในสังคมไทยมาเป็นแนวทางแก้ไขเชิงโครงสร้างเพื่อไม่ให้ซ้ำกับวิถีเดิม
สำหรับความเข้าใจกระบวนการนำไปสู่ความปรองดองนั้น อดีต คอป. ระบุว่า การปฏิรูปเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ฉะนั้นการสร้างบรรยากาศ การเปิดโอกาสให้คนรับรู้ข้อเท็จจริง เพื่อก้าวไปสู่ความมั่นคงร่วมกัน โดยยอมรับความแตกต่าง ทั้งนี้ ไม่อยากให้คนไทยพูดเฉพาะเรื่อง แต่อยากให้เข้าใจกระบวนการว่าเราจะเดินอย่างไรนำไปสู่ความปรองดอง
แนวทางของ คสช.ที่นำเสนอมีทิศทางสู่ความปรองดองหรือไม่ ดร.กิตติพงษ์ มองว่า เมื่อมีความขัดแย้ง คู่ขัดแย้งไม่พร้อมคุย เมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนไป เราก็หวังว่าจะเกิดทางออกที่ดี ซึ่งจะเกิดได้ต่อเมื่อ คสช.ไม่ได้เข้ามาเป็นคู่ขัดแย้งเพิ่มเติม แต่เข้ามาเพื่อให้คู่ขัดแย้งได้หาทางออก จุดยืนนี้จึงเป็นฝ่ายที่สาม เป็นฝ่ายที่จัดการตรงนี้ให้ก้าวไปข้างหน้าได้ หากเป็นจุดยืนแบบนั้นและเข้าใจแนวคิดเบื้องต้นน่าจะถูกทางในระดับหนึ่ง
แต่หากวิเคราะห์ลงลึกมากขึ้นยิ่งคิดว่าทิศทางน่าจะถูกต้อง เพราะแผนงานระยะแรกให้จัดบรรยากาศความสงบ เน้นความปรองดอง พูดคุยกัน เพื่อนำไปสู่รัฐบาลพลเรือน มีองค์กรขึ้นมาดูแลกระบวนการนิติบัญญัติ เมื่อปฏิรูปประเด็นสำคัญก็พร้อมนำไปสู่การเลือกตั้งในวิถีประชาธิปไตย
“ความปรองดองไม่ได้เกิดได้ด้วยการบังคับ เมื่อเราเห็นคนไทยเห็นความจำเป็นต้องคุยกัน พื้นที่ของความปลอดภัยที่คนสามารถมาแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาได้ต้องเกิดขึ้นโดยเร็ว ถ้าเราเกิดพื้นที่ปลอดภัยอย่างสร้างสรรค์จะนำไปสู่การเริ่มเรียนรู้ที่จะเข้าใจ ลงลึกรากฐานของปัญหา และนำไปสู่การหาทางออกร่วมกัน” อดีตคอป. กล่าว
ขณะที่นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ อดีตกรรมการสมัชชาปฏิรูป กล่าวถึงแผนขับเคลื่อนสู่การปฏิรูปว่า คาดหวังให้ทุกคนในสังคมไทยไม่มองเป้าหมายการปฏิรูปเฉพาะประเด็นการเมือง ซึ่งความจริงต้องครอบคลุมการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่กระทบความเดือดร้อนความเป็นอยู่ของประชาชน การเข้าถึงฐานจัดการทรัพยากร ไม่ถูกอำนาจรัฐรังแก เกิดการกระจายอำนาจ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา ไม่ได้จำกัดให้เสร็จสิ้นภายใน 1 ปีครึ่ง
นอกจากนี้อยากเห็นกลไกการปฏิรูปเริ่มต้นจากวันนี้และต่อเนื่องไป โดยภาคประชาชนมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงและเป็นกลไกภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญ มิใช่กลไกชั่วคราวหรือเกิดจากคนไม่กี่คน ที่สำคัญการปฏิรูปครั้งนี้ต้องวางรากฐานให้ดี มีความละเอียด และให้ทุกฝ่ายเข้ามาเสนอแนะและหาทางออกร่วมกันได้
“เราต้องเริ่มวางฐานตั้งแต่วันนี้ ไม่อย่างนั้นจะเกิดความเข้าใจผิดว่า การปฏิรูปทำได้ด้วยคนเพียงไม่กี่คนหรือการมีส่วนร่วมหมายถึงการรับฟังเฉย ๆ ซึ่งคิดว่าอาจไม่ใช่วิธีที่ถูกต้อง” นพ.สมศักดิ์ กล่าว และว่าอย่าปล่อยให้การปฏิรูปเป็นกระบวนการที่กลไกอำนาจรัฐอย่างเดียว เพราะหากเราไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง การปฏิรูปจะเกิดขึ้นได้ยาก .