สมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ : กางปฏิทิน "คสช." คลอดงบประมาณปี 58
"ให้คงอัตราการขาดดุลงบประมาณปี 2558 อยู่ที่ 250,000 ล้านบาท เท่ากับปีงบประมาณ 2557 เพื่อไม่ลดอัตราเร่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจลง แต่ยังคงกำหนดแผนการจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในปี 2560 ตามเดิม"
หมายเหตุ : นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่1 เพื่อขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดินซึ่งทำหน้าที่เหมือนการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าคสช.เป็นประธาน
ที่ประชุมได้เห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 โดยมีวงเงินรายจ่าย 2.575 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2557 จำนวน 50,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 2% ขณะที่มีรายได้ 2.325 ล้านล้านบาท ขาดดุลงบประมาณ 250,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นตัวเลขที่ปรับขึ้นจากแผนเดิมที่จะขาดดุลงบประมาณในปี 2558 จำนวน 200,000 ล้านบาท เนื่องจากการหารือ 4 ฝ่ายประกอบด้วย สำนักงบประมาณ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
"มีความเห็นร่วมกันว่าให้คงอัตราการขาดดุลงบประมาณปี 2558 อยู่ที่ 250,000 ล้านบาท เท่ากับปีงบประมาณ 2557 เพื่อไม่ลดอัตราเร่งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจลง แต่ยังคงกำหนดแผนการจัดทำงบประมาณแบบสมดุลในปี 2560 ตามเดิม"
ทั้งนี้งบรายจ่ายปี 2558 แบ่งออกเป็น รายจ่ายประจำ 2,026,709.6 ล้านบาท คิดเป็น 78.7% ของงบประมาณรายจ่าย รายจ่ายเพื่อชดเชยเงินคงคลัง41,965.4 ล้านบาท คิดเป็น1.6% งบลงทุน 450,625 ล้านบาท คิดเป็น 17.5% และรายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ 55,700 ล้านบาท คิดเป็น 2.2% โดยการจัดทำงบประมาณครั้งนี้อยู่บนพื้นฐานการประมาณการอัตราขยายตัวเศรษฐกิจในปี 2558 ที่ 6.3% แต่เมื่อลบเงินเฟ้อ 2.3% ประมาณอัตราขยายตัวเศรษฐกิจที่แท้จริงจะอยู่ที่ 4%
สำหรับปฏิทินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2558 ภายหลังจากที่ประชุม คสช.เห็นชอบแล้ว จากนี้ไประหว่างวันที่ 13-27 มิถุนายน ให้ส่วนราชการจัดทำรายละเอียดการของบประมาณ มายังสำนักงบประมาณ ซึ่งขณะนี้มีคำขอไม่เป็นทางการมาแล้ว แต่ยังไม่ผ่านหัวหน้า คสช.ในวงเงิน 4.1 ล้านล้านบาท ขณะที่สำนักงบประมาณจะนำมาพิจารณารายละเอียดก่อนส่งให้หัวหน้า คสช.พิจารณารายละเอียดในวันที่ 15 กรกฎาคม และวันที่ 29 กรกฎาคม ซึ่งหัวหน้าคสช.จะให้ความเห็นชอบร่างพ.ร.บ.งบประมาณ 2558 และนำเสนอฝ่ายนิติบัญญัติ ในวันที่ 6 สิงหาคม
จากนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณระหว่างวันที่ 7 สิงหาคม ถึงวันที่ 5กันยายน และในวันที่ 9 กันยายน ฝ่ายนิติบัญญัติจะพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณ ในวาระที่ 2 และ 3 ขณะที่วันที่ 15 กันยายน สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะนำร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯขึ้นทูลเกล้าถวาย เพื่อสามารถเริ่มใช้ได้ในวันที่ 1ตุลาคม 2557 กรณีที่จะมีฝ่ายนิติบัญญัติมาพิจารณาเป็นไปตามขั้นตอนปกติของทางราชการ แต่หากในเวลานั้นยังไม่มีสภานิติบัญญัติ ทางหัวหน้าคสช.ก็จะทำกระบวนการที่ให้มีการตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาเต็มคณะ 30-40 คน
สำหรับยุทธศาสตร์การจัดทำงบรายจ่ายปี 2558 ให้หน่วยงานรัฐน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาเป็นหลักปฏิบัติ โดยพิจารณาให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 และแผนแม่บทอื่นๆ กำหนดบทบาทหน้าที่ของภาครัฐในการให้บริการสาธารณะแก่ประชาชน บนเจตนารมณ์และนโยบายของ คสช.เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและฟื้นฟูความเชื่อมั่น
นอกจากนี้ได้กำหนดยุทธศาสตร์สำคัญเรื่องการฟื้นฟูความเชื่อมั่นและเร่งรัดวางรากฐานของประเทศ ประกอบด้วย การเร่งรัดช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน การฟื้นฟูความเชื่อมั่นและกระตุ้นเศรษฐกิจการลงทุน การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ การป้องกัน ปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ การดำเนินการตามกรอบประชาคมอาเซียน การขับเคลื่อนวางโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อรองรับการพัฒนาสู่อนาคต การเร่งรัดประยุกต์ใช้งานวิจัยและพัฒนาไปสู่การปฏิบัติ และการแก้ปัญหาและพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้
ขณะเดียวกันที่ประชุมคณะกรรมการคสช.เห็นชอบมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้จ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2557 โดยการเบิกจ่ายงบลงทุน ทั้งประเทศ ณ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 40% ยังต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 60% จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพการเบิกจ่ายเพื่อให้สิ้นปีงบประมาณ 2557 เบิกจ่ายได้ตามเป้าหมายที่หัวหน้าคสช.กำหนด 95%
ทั้งนี้สำนักงบประมาณได้เสนอ 5 แนวทางที่ให้ส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจนำไปปฏิบัติประกอบด้วย 1.โครงการที่ยังคงมีความจำเป็นต้องดำเนินการและมีความพร้อมที่จะก่อหนี้ผูกพันภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ให้เร่งดำเนินการและเบิกจ่ายงบประมาณให้แล้วเสร็จภายใน 30 กันยายน 2557
2.โครงการที่ยังคงมีความจำเป็นต้องดำเนินการแต่เริ่มดำเนินการหรือก่อหนี้ผูกพันไม่ทันภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2557 ให้เสนอปลัดกระทรวงเพื่อเสนอหัวหน้าฝ่ายที่รับผิดชอบหรือหัวหน้าคสช.ตามประกาศคสช.ฉบับที่ 22/2557 แล้วแต่กรณีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
3.โครงการที่เริ่มดำเนินการหรือก่อหนี้ผูกพันไม่ทันวันที่ 30 มิถุนายน 2557 และหมดความจำเป็น ไม่สามารถดำเนินการ หรือมีความซ้ำซ้อน เป็นงบเหลือจ่ายให้พิจารณาปรับแผน โดยโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณเพื่อนำไปดำเนินการในโครงการที่มีความพร้อม สามารถดำเนินการหรือก่อหนี้ผูกพันได้ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2557 ตามเงื่อนไขแนวทางที่กำหนด
4.กรณีที่ได้รับการจัดสรรเป็นงบกลาง รายการสำรองจ่าย ที่บรรลุวัตถุประสงค์ไปแล้ว เป็นงบเหลือจ่ายให้ส่งคืนสำนักงบประมาณแต่หากยังมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องนำเงินไปใช้ในรายการอื่นให้เสนอปลัดกระทรวงเพื่อเสนอหัวหน้าฝ่ายที่รับผิดชอบ ให้ความเห็นชอบ
5.เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีที่ยังไม่มีข้อผูกพัน ให้ทบทวนความจำเป็น หากยังมีความจำเป็นให้เร่งทำข้อผูกพันและเบิกจ่ายโดยเร็ว แต่หากหมดความจำเป็นให้ดำเนินการตามข้อ 3 คือปรับแผน โอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณ เพื่อไปใช้ในโครงการที่มีความพร้อม
สำหรับเงินงบประมาณที่จะปรับโอนในอันดับแรกให้นำไปชำระหนี้ค่าสาธารณูปโภค เงินชดเชยค่างานสิ่งก่อสร้าง ข้อผูกพันตามกฎหมาย จากนั้นให้นำไปดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานดังนี้คือ บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนกรณีเร่งด่วน เช่น ช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติสาธารณะ,ใช้ในโครงการที่ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจ ซึ่งสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างชัดเจน ใช้ในโครงการที่สนับสนุนให้เกิดความปรองดองของคนในชาติ
การแก้ปัญหาของหน่วยงานกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น สมทบในโครงการที่งบประมาณไม่เพียงพอ หรือโครงการที่ดำเนินการได้เร็วกว่าแผนเป็นโครงการที่แก้ปัญหาหรือตอบสนองความต้องการของประชาชน เช่น การซ่อมบำรุงสิ่งสาธารณะประโยชน์ เรื่องเร่งด่วนตามนโยบายคสช. และโครงการที่มีความจำเป็นเร่งด่วน หากไม่ดำเนินการจะเกิดความเสียหายต่อราชการ โดยการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณทั้งหมดต้องเริ่มดำเนินการหรือก่อหนี้ผูกพันภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2557 และไม่ควรโอนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเดินทางไปต่างประเทศ ในหมวดยานพาหนะหรือใช้จ่ายเป็นงบบุคลากร