ยุบกองทุนน้ำมันคิดให้ดี ซีอีโอ ปตท.ชี้เสี่ยงรัฐไร้เครื่องมือจัดการวิกฤต
ปตท.เปิดบ้านแจงสื่อปมพลังงาน ‘ดร.ไพรินทร์’ ยอมรับที่ผ่านมาใช้กองทุนน้ำมันผิดวัตถุประสงค์ แต่หาก 'ยุบ' ต้องคิดให้ดี เสี่ยงรัฐไร้เครื่องมือจัดการหากเกิดวิกฤต เน้นย้ำปฏิรูปต้องปล่อยตามกลไกตลาดเหมือนนโยบายข้าว
วันที่ 9 มิถุนายน 2557 ที่สำนักงานใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. กล่าวถึงความมั่นคงด้านพลังงาน คือ การมีพลังงานใช้ไม่หมด โดยบริษัทพลังงานทั่วไปจะมีเกณฑ์มาตรฐานระดับสากลกำหนดให้ต้องมีแหล่งพลังงานใช้ไม่ต่ำกว่า 10 ปี แต่ของไทยอยู่ในระดับ 7-8 ปีเท่านั้น ซึ่งหากวันนี้สมมติ ปตท.ผลิตพลังงานจะต้องมีน้ำมันหรือแก๊สในปริมาณเท่ากับ 10 ปีของการผลิต 1 วัน เก็บอยู่ใต้พื้นพิภพ มิเช่นนั้นบริษัทพลังงานจะไม่มั่นคง ถือเป็นการมองระยะยาวให้ลูกหลานได้ใช้
ส่วนปัจจุบันคนไทยใช้พลังงานมากขึ้นหรือไม่ ผู้บริหาร ปตท. กล่าวว่า ใช้มากขึ้น ฉะนั้นงบประมาณที่จะใช้ขุดเจาะพลังงานใต้ดินให้มีสำรองใช้ยาวนาน 10 ปี จึงมีจำนวนมหาศาล อย่างไรก็ตาม หากเกิดวิกฤตแล้วไทยไม่เป็นเจ้าของน้ำมันต่อให้มีเงินก็ซื้อไม่ได้ ฉะนั้นตั้งคำถามว่า เราอยากจะอยู่แบบกล้า ๆ กลัว ๆ ?
“สำหรับระยะกลางนั้น ประเทศที่เจริญแล้วจะมี ‘คลังสำรองน้ำมันยุทธศาสตร์’ เช่น สิงคโปร์ จีน อินเดีย โดยมีจุดประสงค์ป้องกันปัญหาขาดแคลนและช่วยลดผลกระทบความผันผวนด้านราคา ไทยจึงจัดตั้งกองทุนน้ำมันขึ้น” ดร.ไพรินทร์ กล่าว และว่า ส่วนที่ระบุตั้งขึ้นอย่างผิดกฎหมาย ก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน เพราะหากผิดจริงคงเป็นเวลาร่วม 20 ปี ทั้งนี้ ยอมรับกองทุนน้ำมันถูกใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยเก็บจากน้ำมันคนหนึ่งไปให้อีกคนหนึ่ง แต่การไม่มีเครื่องมือเลยควรเป็นเรื่องที่ต้องคิดดี ๆ
เมื่อถามว่า ควรมีกองทุนน้ำมันต่อหรือไม่ ผู้บริหาร ปตท. กล่าวว่า คงไม่ก้าวล่วงนโยบาย แต่ความเห็นส่วนตัว ควรมีคลังสำรองน้ำมันยุทธศาสตร์ แต่หากยุบทิ้งรัฐจะไม่มีเครื่องมือจัดการหากเกิดวิกฤต แม้ที่ผ่านมาจะใช้ผิดวัตถุประสงค์ ซึ่งเชื่อว่า คงไม่มีเจตนาร้าย
เมื่อถามอีกว่า คสช. ได้เข้าถึงข้อมูลเหล่านี้มากน้อยเพียงใด ดร.ไพรินทร์ กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงานได้จัดเตรียมข้อมูลทั้งหมดให้แก่ คสช. แล้ว เพียงแต่ห่วงประเด็นการบิดเบือนข้อมูลในโซเซียลมีเดียที่มีสูงมาก เพราะมักถูกกระแสสังคมเหนี่ยวนำไปจนน่ากังวล อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ คสช.ยังไม่มีการนำข้อมูลจากสื่อดังกล่าวมาหารือกับ ปตท.
ผู้บริหาร ปตท. ยังกล่าวเปรียบการปฏิรูปพลังงานในอนาคตเป็นเหมือนตาชั่ง สุดท้ายไทยจะขับเคลื่อนเรื่องนี้ในรูปแบบ ‘ประชานิยม’ เหมือนในอดีต หรือปล่อยให้เป็นไปตาม ‘กลไกตลาด’ ดังเช่นนโยบายข้าวในปัจจุบันที่กำลังถูกปรับให้เป็นไปตามกลไกตลาด
"ในสื่อโซเซียลมีเดียพูดกันมากให้ปรับลดราคาพลังงาน นั่นแสดงถึงไทยกำลังถอยหลังจากกลไกตลาดมาสู่ประชานิยม ซึ่งอันที่จริงแล้วการปฏิรูปหมายถึงการทำสิ่งที่ถูก ทั้งนี้ บางคนอาจต้องเจ็บปวด แต่ไม่ใช่ให้พลังงานทุกอย่างมีราคาถูกหมด เพราะมิเช่นนั้นจะต้องหางบประมาณมากมาย ซึ่งหลักการเหล่านี้ คสช.กำลังศึกษาอยู่" ดร.ไพรินทร์ กล่าว และว่า บนพื้นฐานความเข้าใจพลังงานมีอยู่ไม่มาก ยิ่งขุดยิ่งยาก ราคายิ่งแพง ฉะนั้นจึงเชื่อว่า ควรให้พลังงานถูกอ้างอิงผ่านกลไกราคาตลาดจะดีกว่า
ทั้งนี้ ดร.ไพรินทร์ กล่าวถึงกระแสข่าวปรับเปลี่ยนบอร์ด ปตท.ว่า กำลังรอดู อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาได้มีการปรับเปลี่ยนตลอด ถือเป็นเรื่องปกติ ซึ่งยืนยันขณะนี้ยังไม่มีใครยื่นหนังสือลาออก
ส่วน ปตท.ผูกขาดตลาดพลังงานหรือไม่ ผู้บริหาร ปตท. กล่าวด้วยว่า ปัจจุบันปตท.มีส่วนแบ่งในตลาดขายปลีกน้ำมันเพียงร้อยละ 39 บางจาก ร้อยละ 10 เอสโซ่ ร้อยละ 10 เชลล์ ร้อยละ 9 เชฟรอน ร้อยละ 7 และอื่น ๆ ร้อยละ 25 ดังนั้นจึงตั้งคำถามว่า สัดส่วนที่ปรากฏนั้นจะส่งผลให้ ปตท.ผูดขาดตลาดได้อย่างไร.
ภาพประกอบ:www.marketeer.co.th