พึ่งอำนาจ คสช. ล้างไพ่ ก.ศป. คุมอำนาจศาลปกครอง?
คณะกรรมการข้าราชการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) สิ้นสภาพไปตามรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ถูกคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิกไปหรือไม่ ยังไม่ได้ข้อยุติ
แม้ก่อนหน้านี้นายหัสวุฒิ วิทิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด ในฐานะประธาน ก.ศป.ได้นำเรื่องนี้เข้าหารือในที่ประชุม ก.ศป.เมื่อวันพุธที่ 28 พฤษภาคม และยังนำไปหารือในที่ประชุมตุลาการศาลปกครองสูงสุดอีกครั้งเมื่อวันพุธที่ 4 มิถุนายนที่ผ่านมา
ในการประชุม ก.ศป. มีนายหัสวุฒิและตุลาการศาลปกครองสูงสุดบางคนยืนกระต่ายขาเดียว ก.ศป.สิ้นสภาพไปตามรัฐธรรมนูญ ดังนั้นต้องให้ คสช.ประกาศยืนยันความมีอยู่ของ ก.ศป.และต้องสรรหา ก.ศป.ผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ทั้งหมด ทั้งที่มาจากตุลาการศาลปกครองสูงสุด (6คน) และตุลาการศาลปกครองชั้นต้น (3คน) ยังไม่รวมผู้ทรงวุฒิจาก ครม.และวุฒิสภา (รวม 3 คน)
ขณะที่ ก.ศป.ซึ่งเป็นตุลาการน่าจะเกือบทั้งหมด เห็นว่า ก.ศป. ยังไม่สิ้นสภาพเพราะมีการบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ อยู่แล้ว นอกจากนั้นในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ก็มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวกับศาลปกครองและ ก.ศป.เช่นเดียวกับ รัฐธรรมนูญ 2550 ก็ไม่มีการอ้างว่า ก.ศป.สิ้นสภาพและยังทำงานตามอำนาจหน้าที่ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ได้ครบถ้วน
อย่างไรก็ตาม ในจำนวนนี้ อาจมีความเห็นแตกต่างในรายละเอียดว่า แม้สถานะของ ก.ศป ยังมีอยู่. แต่องค์ประกอบไม่ครบ เพราะขาดผู้ทรงวุฒิจาก ครม.และวุฒิสภาเนื่องจากหมดวาระลง และยังไม่มีการสรรหาผู้มาดำรงตำแหน่งแทน ก็เกิดการรัฐประหารขึ้นเสียก่อน ซึ่งการที่ ก.ศป.องค์ประกอบไม่ครบ อาจไม่สามารถทำหน้าที่ตามกฎหมายได้
ดังนั้นในการประชุมตุลาการศาลปกครองสูงสุด (มีประมาณ 20 คน) ในวันที่ 4 มิถุนายน นายหัสวุฒิ จึงใช้กลยุทธในการจี้ถามตุลาการแต่ละคนให้แสดงความเห็นถึงสถานะของ ก.ศป.ทำให้ตุลาการหลายคนเกรงใจไม่กล้าแสดงความเห็นแบบฟันธง ปรากฏใช้เวลาถกเถียงเรื่องนานประมาณ 6 ชั่วโมง ตั้งแต่ 9 โมงเช้าถึงบ่าย 3 โมง ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป
ในที่สุดมีผู้เสนอว่า ในฐานะที่ประธานศาลปกครองสูงสุดรักษาการตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯให้ไปตัดสินใจในเรื่องนี้ ซึ่งนายหัสวุฒิรับลูกในทันทีโดยแถลงต่อที่ประชุมว่า จะตัดสินใจเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและให้ ก.ศป.สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยจะมีการทำหนังสือถึง คสช.ให้ประกาศยืนยันสถานะของ ก.ศป. ทั้งนี้ เมื่อนายหัสวุฒิพิจารณาแล้ว จะส่งร่างหนังสือให้นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ ตุลาการหัวหน้าคณะในศาลปกครองสูงสุดและนายสมชัย วัฒนการุณ ตุลาการศาลปครอง เป็นผู้ตรวจร่างหนังสือดังกล่าว ก่อนส่งให้ กศช.
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่นายหัสวุฒิต้องตัดสินใจคือ
1.สถานะของ ก.ศป.ชุดปัจจุบันสิ้นสภาพไปแล้ว แม้ คสช.จะให้ ก.ศป.คงมีอยู่ แต่ต้องมีการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใหม่ทั้งในส่วนของตุลาการ 9 คน ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 3 คน ซึ่งเป็นไปตามความต้องการนายหัสวุฒิและพวก
2.สภานะของ ก.ศป.ชุดปัจจุบัน ยังคงอยู่ เพียงแต่ให้ คสช.ประกาศยืนยันสถานะออกมาให้ชัดเจนและอาจมีการสรรหาในส่วนผู้ทรงคุณวุฒิภายนอกจาก ครม.และวุฒิสภาที่ยังขาดอยู่ 3 คนซึ่งเป็นความเห็นของ ก.ศป.เสียงส่วนใหญ่
ขณะเดียวกันเอกสารแถลงข่าวของสำนักงานศาลปกครอง เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน อ้างนายไพโรจน์ มินเด็น ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองชั้นต้น ในฐานะโฆษกศาลปกครอง ที่ระบุว่า การที่ประธานศาลปกครองสูงสุดได้เชิญตุลาการศาลปกครองสูงสุดทุกคนมาประชุมร่วมกันนั้น มิใช่เป็นการประชุมใหญ่ของตุลาการศาลปกครองที่จะพิจารณาวินิจฉัยปัญหาใดหรือคดีใดตามปกติ หากแต่ประธานศาลปกครองสูงสุดจะขอคำปรึกษา เนื่องจากเห็นว่าประเด็นเกี่ยวกับสถานะของ ก.ศป. เป็นปัญหาที่สำคัญและอาจก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการบริหารงานบุคลากรภายในศาลปกครองได้ การประชุมดังกล่าวจึงมิได้มีการลงมติในเรื่องใด
ทั้งนี้ ที่ประชุมได้มีความเห็นให้ประธานศาลปกครองสูงสุดในฐานะที่เป็นผู้รักษาการตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 ดำเนินการเพื่อให้ ก.ศป. สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามกฎหมายต่อไปโดยมีองค์ประกอบของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิครบถ้วนตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น
เห็นได้ว่า คำแถลงของโฆษกศาลปกครองออกมาในลักษณะที่สอดคล้องกัน เพียงแต่มิได้พูดถึงการมอบหมายให้นายวรพจน์ วิศรุตพิชญ์ และนายสมชัย วัฒนการุณ เป็นผู้ตรวจร่างหนังสือก่อนที่จะส่งให้ คสช. ดังนั้นสิ่งที่จะต้องจับตาดูคือ
หนึ่ง นายหัสวุฒิจะมีส่งร่างหนังสือมาให้นายวรพจน์และนายสมชัย ตรวจก่อนหรือไม่ ก่อนที่จะส่งให้ คสช.ตามที่นายหัสวุฒิแจ้งไว้ต่อที่ประชุม เพราะถ้านายหัสวุฒิดำเนินการไปเพียงลำพังจะไม่สามารถตรวจสอบการกระทำของนายหัสวุฒิได้เลย
สอง นายหัสวุฒิจะดำเนินการให้ไปเป็นตามความต้องการของตนเองและพวก หรือ ก.ศป.เสียงส่วนใหญ่คือ ทำให้ ก.ศป.ปัจจุบันสิ้นสภาพและสรรหาชุดใหม่ขึ้นมาทั้งหมดหรือ ให้ ก.ศป.ชุดปัจจุบันยังคงอยู่โดยไม่ต้องการมีการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิใหม่
อาจมีคำถามขึ้นว่า การทำให้ ก.ศป.ชุดปัจจุบันสิ้นสภาพจะมีผลอย่างไร มีการวิเคราะห์กันว่า
ประการแรก ก.ศป.มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารบุคคล สามารถให้คุณให้โทษตุลาการ อาทิ การโยกย้ายแต่งตั้ง การลงโทษทางวินัย ซึ่งนายหัสวุฒิไม่สามารถคุมเสียงข้างมากใน ก.ศป.ชุดปัจจุบันได้ การทำให้ ก.ศป.สิ้นสภาพหรือล้างไพ่ใหม่ ทำให้ต้องเลือก ก.ศป.ใหม่ (ตุลาการศาลปกครองชั้นต้น 3 คน และตุลาการศาลปกครองสุงสุด 6 คน) ซึ่งเปิดโอกาสให้นายหัสวุฒิสามารถคุมเสียงข้างมากใน ก.ศป.ได้ ถ้าสามารถผลักดันตุลาการสายตนเองให้ชนะการเลือกตั้ง
ประการที่สอง การที่ ก.ศป.สิ้นสภาพ จะทำให้คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นโดย ก.ศป.ชุดนี้สิ้นสภาพไปด้วยโดยเฉพาะคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงนายหัสวุฒิ กรณี "จดหมายน้อย" ของนายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม เลขาธิการสำนักงานศาลปกครองในการฝากตำรวจให้เป็นผู้กำกับการโดยอ้างว่าเป็นความต้องการของประธานศาลปกครองสูงสุด
ดังนั้น ถ้ามีการเลือกตั้ง ก.ศป.ชุดใหม่ นายหัสวุฒิสามารถคุมเสียงข้างมากได้ จะทำให้ไม่มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสืบสวนข้อเท็จจริงเรื่องนี้อีกหรือไม่?
จากทั้งหมดนี้ จึงต้องจับตาดูว่า การตัดสินใจของนายหัสวุฒิที่อ้างว่าจะคำนึงถึงผลประโยชน์สูงสุดนั้น คือผลประโยชน์ของใคร? และ คสช.จะมีประกาศอะไรออกมา เข้าทางหรือสนองผลประโยชน์ของใคร?