“คสช.” สั่งตั้งกฤษฎีกา คณะพิเศษ พิจารณาร่างรธน.ฉบับชั่วคราว 45 มาตรา
“คสช.” สั่งตั้ง “กก.กฤษฎีกา” คณะพิเศษ พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 45 มาตรา “มีชัย-วิษณุ-บวรศักดิ์” นำทีม ให้ “วิษณุ” ตั้งทีมดูข้อเสนอส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เชิญองค์กรตามรธน.ถกปัญหาการบังคับใช้รธน. 50 วันที่ 6 มิ.ย. หวั่นคดีถอนถอด “ยิ่งลักษณ์” โครงการจำนำข้าวชะงัก
เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2557 แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกฤษฎีกา เปิดเผยกับสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ถึงความคืบหน้าในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ว่า ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จัดตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ขึ้นมาพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ซึ่งคณะกรรมการชุดดังกล่าวจะประกอบด้วย นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมการกฤษฎีการคณะที่ 1 นายวิษณุ เครืองาม รองประธานที่ปรึกษา และประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 2 นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะ 2
“ทางสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ได้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวเป็นต้นร่างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งมีทั้งหมด 45 มาตรา โดยจะส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ ที่ได้จัดตั้งขึ้นรับไปพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง” แหล่งข่าวระบุ
แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า นอกจากนั้นนายวิษณุ ได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาช่วยกลั่นกรอง เรื่องที่ส่วนราชการนำเสนอ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาข้อกฎหมาย ประกอบด้วย นายบวรศักดิ์ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายพชร ยุติธรรมดำรง อดีตอัยการสูงสุด นายอัครวิทย์ สุมาวงศ์ อดีตรองประธานศาลปกครองสูงสุด นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เข้ามาช่วยกลั่นกรองงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เพื่อเสนอต่อคสช.
แหล่งข่าวกล่าวว่า ในวันที่ 6 มิถุนายน 2557 คสช.ได้เชิญองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งไม่นับรวมศาล เช่น คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น เข้ามาหารือเพื่อให้แจ้งข้อขัดข้องที่องค์กรต่างๆประสบ หลังจากมีการยกร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการแก้ไขไปบ้างแล้ว เช่น การออกประกาศให้รักษาการผู้ว่าการตรวจการแผ่นดิน ใช้อำนาจแทนประธานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นได้ ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีเลือกตั้งท้องถิ่นได้ เป็นต้น
“แต่ยังคงมีปัญหาที่ยังมีอยู่ เช่น คดีเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่ยังอยู่ในศาลฎีกาแผนกคดีเลือกตั้ง และผู้ที่กระทำผิดตามกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งอยู่ในศาลอาญา ไม่สามารถพิจารณาคดีต่อไปได้ เนื่องจากพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. และส.ว. ถูกยกเลิกไป ซึ่งทำให้ไม่สามารถพิจาณาลงโทษผู้ที่ตกเป็นจำเลยได้ นอกจากนั้นยังมีปัญหาว่าส.ส.และส.ว. จำนวน 308 คน ที่ป.ป.ช.มีถอดถอน และกรณีป.ป.ช.มีมติถอนถอนน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งกระบวนการถอดถอนชะงัก” แหล่งข่าวกล่าว