กลุ่มจับตาปฎิรูปพลังงานจี้คสช.รื้อระบบจัดสรร LPG ให้ปชช.ใช้ก่อนภาคปิโตรฯ
กลุ่มจับตาปฎิรูปพลังงานไทย เตรียมยื่นข้อเสนอเร่งด่วนเพื่อการปฎิรูปพลังงานของประเทศต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ 4 ข้อ เน้นย้ำเรื่องการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ลดราคาก๊าซหุงต้ม และปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ
วันที่ 4 มิถุนายน 2557 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรารายงานว่า เครือข่ายประชาสังคม จัดงานแถลงข่าวเปิดตัว กลุ่มจับตาปฎิรูปพลังงานไทย (THAI ENERGY REFORM WATCH) พร้อมทั้งเตรียมยื่นข้อเสนอเร่งด่วนเพื่อการปฎิรูปพลังงานของประเทศต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ณ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กรุงเทพฯ
นางสาวรสนา โตสิตตระกูล อดีตวุฒิสมาชิก กรุงเทพมหานคร พร้อมทั้งสมาชิกกลุ่มจับตาการปฎิรูปพลังงานไทย(จปพ.) ออกแถลงการณ์ถึงประชาชนร่วมจับตาปฏิรูปพลังงานไทยว่า พลังงานเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอันเป็นสาธารณสมบัติของประชาชน และยังมีผลกระทบต่อประชาชนในหลายด้าน ทั้งในแง่ความจำเป็นขั้นพื้นฐานของการดำรงชีวิต ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสุขภาพ ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจและลดความเหลื่อมล้ำ
ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนโดยส่วนร่วม ในการกำหนดนโยบายและวางแผนพัฒนาพลังงานของประเทศ จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความโปร่งใส ความมีธรรมาธิบาล และการมีส่วนร่วมของประชาชนในทุกระดับ
ปัญหาที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือ กิจการพลังงานของประเทศไทยตั้งแต่ต้นน้ำ อย่างธุรกิจการสำรวจปิโตรเลียม กลางน้ำอย่างเช่นระบบส่งท่อก๊าซธรรมชาติ การขนส่งน้ำมัน โรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน และโรงไฟฟ้า และปลายน้ำที่มีการจำหน่วยไฟฟ้า น้ำมันสำเร็จรูปก๊าซ LPG และ NGV อยู่ภายใต้การผูกขาดของกลุ่มธุรกิจพลังงานผูกขาดเพียงแค่ไม่กี่กลุ่ม เกิดความไม่เป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากร การมีอำนาจเหนือตลาด และยังมีอิทธิพลเหนือกลไกของรัฐบาลที่ยอมให้มีการกำหนดราคาเชื้อเพลิงได้ตามที่กลุ่มธุรกิจผูกขาดพลังงานต้องการ
“เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะ นักการเมืองและข้าราชการที่มีหน้าที่ร่วมกันในการกำหนดนโยบายและการกำกับดูแลด้านพลังงาน ต่างมีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ในกิจการพลังงานเหล่านี้ด้วยกันทั้งสิ้น” นางสาวรสนา กล่าว
ทั้งนี้สำหรับข้อเสนอเร่งด่วนต่อ คสช. เพื่อให้เร่งแก้ไขปัญหามีทั้งหมด 4 ข้อดังนี้
1.ต้องเปิดโอกาสให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการเสนอข้อมูลและเสนอความคิดเห็นในการปกป้องผลประโยชน์ของตนเองโดยเท่าเทียมกันกับภาครัฐและธุรกิจ
2.ให้ยกเลิกการขึ้นราคาก๊าซหุงต้มหรือ LPG กับประชาชน โดยให้ดำเนินการดังนี้
2.1 ให้ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน2551 ที่ให้มีการจัดสรรก๊าซ LPG ที่ผลิตได้ในประเทศให้ภาคปิโตรเคมีใช้เป็นลำดับแรกร่วมกับภาคครัวเรือนออกไปเสียก่อน เนื่องจาก LPG ที่ได้ผลิตในประเทศถูกภาคปิโตรเคมีใช้มากเป็นอันดับหนึ่ง จนไม่เพียงพอต่อการใช้ของภาคส่วนและต้องมีการนำเข้า โดยภาระการนำเข้าเป็นของประชาชนทั้งหมด
2.2 ให้มีมติในการจัดสรรก๊าซ LPG ขึ้นใหม่ โดยให้ LPG ที่ผิตจากโรงแยกก๊าซธรรมชาติซึ่งใช้ก๊าซธรรมชิตจากอ่าวไทยอันเป็นธรรมชาติของคนไทยทุกคน ต้องจัดสรรให้ประชาชนใช้ก่อนโดยเฉพาะภาคครัวเรือน ด้วยราคาหุงต้มต้นทุนที่แท้จริงบวกกับกำไรที่เหมาะสมเป็นธรรมต่อผู้ใช้และผู้ผลิตมิใช่อิงราคาตลาดโลก เมื่อเหลือจึงให้ภาคอื่นใช้ หากไม่พอให้ภาคอุตสาหกรรมทุกประเภทเป็นผู้รับภาระการนำเข้าเองโดยให้โรงแยกก๊าซธรรมชาติต้องเผยแพร่รายงานต้นทุนการประกอบการที่แท้จริง
2.3 ลดราคาก๊าซ LPG ให้กลับไปเท่ากับราคา LPG ของภาคขนส่งที่ 21.38 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ข้ามประเภทระหว่าง 2 กลุ่มนี้ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการที่เข้มงวดในการลักลอบใช้ LPG ของภาคอุตสาหกรรมมิให้มีการใช้ผิดประเภท และการลักลอบส่งขายต่างประเทศ
3.ให้ยกเลิกโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงสำเร็จรูปที่อิงราคาสมมุตินำเข้าจากสิงคโปร์ โดยให้ยกเลิกการเก็บค่าพรีเมี่ยม เช่น ราคาขนส่ง ค่าประกันภัย ค่าสูญเสียระหว่างการขนส่ง จากประเทศสิงคโปร์มายังประเทศไทยซึ่งไม่มีจริง และให้รัฐบาลกำหนดราคาจำหน่ายเชื้อเพลิงสำเร็จรูปตามราคาส่งออกจากไทยซึ่งกำหนดโดยกลไกตลาดโลก และให้บริษัทน้ำมันเผยแพร่รายงานต้นทุนที่แท้จริงของโรงกลั่น
4.ปรับปรุงโครงสร้างของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติให้มีตัวแทนของภาคประชาชนในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยตรงต่อการกำหนดนโยบายและวางแผนวางพัฒนาพลังงานของประเทศไทย