ฟื้น 2 ล้านล้าน ลงทุนแบบไหนให้เจ๋งจริง
เริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการกองทัพบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย (ทีวีพูล) เมื่อวันศุกร์ที่ 30 พฤษภาคม 2557 ระบุชัดถึงโครงการ 2 ล้านล้านบาท หรือโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ จากแนวคิดเงินมาก่อน โครงการมาทีหลัง แถมยังลงทุนที่เกินอายุรัฐบาล เรียกว่า คิดแทนถึงรัฐบาลหน้า ขณะเดียวกันก็ละเลยเรื่องวินัยการเงินการคลังของประเทศ
มาคราวนี้ พล.อ.ประยุทธ์ พูดชัดทั้ง 2 โครงการใหญ่นี้ จะพิจารณาใหม่อย่างรอบคอบ โครงการใดที่เป็นประโยชน์ และสามารถปฏิบัติได้ จะแยกพิจารณาเป็นเรื่อง ๆ และให้มีความโปร่งใสมากที่สุด
สำนักข่าวอิศรา ประมวลข้อถกแถลงผ่านความคิด หากจะลงทุนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ทั้งระบบน้ำ ราง ถนน อากาศ และรถไฟความเร็วสูง ซึ่งอยู่ในโครงการ 2 ล้านล้าน ทั้งทีลงทุนแบบไหนถึงจะเจ๋งจริงๆ โดยเฉพาะเรื่องความคุ้มค่าลงทุน ที่ต้องการการวิเคราะห์อย่างเข้มข้น การวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม เรื่องวินัยการเงินการคลัง ทำอย่างไรไม่ให้ผิดกระบวนการที่เคยทำมา รวมทั้งไม่กลายเป็นภาระของประชาชนในที่สุด
คำนูณ สิทธิสมาน อดีตสมาชิกวุฒิสภา
“ถ้าคสช.จะฟื้น 'รถไฟด่วนความเร็วสูง' จากโครงการ 2 ล้านล้านที่ตกไปก็ไม่ว่ากัน เพราะที่ผ่านมา ผมไม่เคยคัดค้านตัวโครงการ แม้จะไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด เนื่องจากต้องการให้การคัดค้านโฟกัสอยู่ที่ประเด็นหลักที่สำคัญที่สุด คือ วิธีการใช้เงินกู้นอกงบประมาณโดยการออกกฎหมายพิเศษ ซึ่งก็เป็นจุดยืนเดิมที่คัดค้านมาตั้งแต่โครงการไทยเข้มแข็งแล้ว
แต่ถ้าจะเป็น 'รถไฟด่วนความเร็วสูง' ขอให้อยู่ใน 3 เงื่อนไขเรียงลำดับจากง่ายไปยากดังนี้
1. ให้โครงการอยู่ในกฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปีตามปรกติ และให้คำนึงถึงวิธีการอื่นนอกเหนือไปจากลงทุนเองทั้งหมดด้วย
2. ทำเฉพาะสายกรุงเทพ-หนองคาย เพื่อเชื่อมโยงต่อไปยังลาวและจีน อันจะเป็นการประสานกับจีนที่จะลงทุนสร้างในลาว
3. ออกกฎหมายเก็บภาษีลาภลอย หรือ Windfall (Profit) Tax เพื่อสร้างความโปร่งใสและความเป็นธรรมให้สังคม
ส่วนรถไฟทางคู่นั้นแทบทุกคนเห็นด้วยอยู่แล้ว
ส่วนจะเรียกใครมาคุยเรื่องโครงสร้างคมนาคมพื้นฐาน ก็ขอให้คิดให้รอบคอบโดยคำนึงถึงภาพลักษณ์และความรู้สึกของประชาชนด้วย
อันที่จริงเรื่องนี้ไม่ใช่ความคิดริเริ่มของนักการเมือง เพียงแต่นักการเมืองไปหยิบสารพัดโครงการที่ระบบราชการประจำทำไว้อยู่แล้วมาใช้วิชาการตลาดปัดฝุ่นปรับแต่งให้ดูหรูเลิศเท่านั้น
ถ้าจะเรียกคุย ก็เรียกข้าราชการประจำ
ถ้าจะเรียกนักการเมือง ก็ควรเรียกทุกฝ่ายให้เสมอภาคกัน เพราะสมัยรัฐบาลก่อนหน้ารัฐบาลที่ถูกควบคุมอำนาจบริหารก็เคยมีนโยบายมาแล้วแต่คนละรูปแบบ”
บรรยงค์ สุวรรณผ่อง สื่อมวลชนอาวุโส
“ทำไมจึงควรยกเลิกรถไฟความเร็วสูง เป็นข้อเท็จจริงที่ว่าโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเป็นจุดอ่อน และเป็นเรื่องดีถ้าไทยมีรถไฟความเร็วสูง ซึ่งคนส่วนใหญ่ก็คงจะไม่ปฏิเสธ
แต่ประเทศไทยยังไม่ถึงเวลาที่จะมีรถไฟความเร็วสูง เนื่องจาก
1. ไม่ได้ตอบโจทย์คนทั้งประเทศ เพราะคนภาคใต้และภาคตะวันออกไม่ได้ใช้ ขณะที่ภาคเหนือไปไม่ถึงเชียงราย และภาคตะวันออกเฉียงเหนือก็ไปไม่สุด
2. ค่าก่อสร้างก็ยังกว่า 800,000 ล้านบาท ที่เมื่อสร้างเสร็จแล้วก็ไม่สามารถให้บริการลงไปถึงคนรากหญ้า เพราะแค่ให้มีรายได้นำไปคืนเงินกู้ ค่าโดยสารก็สำหรับคนชั้นกลางขึ้นไปแล้ว ถ้าปรับราคาให้เป็นรถขนส่งมวลชนจริง ๆ คือใคร ๆ ก็ขึ้นได้ ก็ให้เริ่มนับการขาดทุนตั้งแต่วันแรกที่เปิดดำเนินการ
และ 3. เรากำลังสร้างภาระหนี้ใหญ่หลวงให้ลูกหลานหลายสิบปีอีกด้วย
สิ่งที่ควรสร้างอย่างยิ่ง เพราะเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นสาธารณูปการจริง ๆ คือ รถไฟสองรางคู่ไปทางกลับทางที่ยกเครื่องวางรางใหม่ให้เร็วขึ้นกว่าเดิม ตอบโจทย์คนไทยทั้งประเทศ โดยไปได้สุดถึงเชียงใหม่ เชียงราย หนองคาย อุบลราชธานี ตราด สุไหงโก-ลก และภูเก็ต
ประการสำคัญยังใช้เงินเพียงครึ่งหนึ่งของค่าก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง และยากดีมีจนก็ได้ใช้บริการเหมือนกันหมด โดยเฉพาะสินค้าที่ต้นทุนการขนส่งถูกสุด รองลงมาจากทางเรืออีกด้วย
การลงทุน ก็ไม่จำเป็นต้องออกกฎหมายพิเศษอันเป็นการเปิดช่องให้ไม่โปร่งใส ป้องกันการทุจริตลำบาก และยากแก่การตรวจสอบ หากออกเป็นพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายตามวิธีการทางงบประมาณ หรือจะกู้ ก็เป็นเงินกู้ในงบฯ โดยทยอยสร้างตามกำลังเศรษฐกิจของประเทศ แบบนี้น่าจะเหมาะสม โดยไม่ต้องสร้างภาระให้ลูกหลานนานสี่สิบห้าสิบปี
ฝากไว้ ไม่ว่าใครหรือพรรคการเมืองใดที่จะเข้ามาเป็นรัฐบาลในอนาคต”
ต่อตระกูล ยมนาค วิศวกร
“รถไฟความเร็วสูงใช้เงิน เกือบ 8 แสนล้านบาท ไม่คุ้มค่าเท่ารถไฟรางคู่แน่นอน แต่ตัวเลขรัฐบาลยิ่งลักษณ์ พยายามทำตัวเลขออกมาให้คุ้มค่าเกินจริง ถึง 12-17% อย่าไปเชื่อ ถ้าได้ตรวจดูการคำนวณ แล้วจะเห็นความเท็จที่ซ่อนอยู่”
ดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
“รถไฟรางคู่ รถไฟชานเมือง ซึ่งมีความจำเป็น และจะเสริมสถานะไทยในการเป็นจุดศูนย์กลางทางด้านการคมนาคมขนส่งในอาเซียน ระยะทางขนาดประมาณ 700-1,000 กิโลเมตรที่เชื่อมไทยกับพรมแดนเพื่อนบ้าน เพื่อเชื่อมจีนสู่อ่าวไทย เชื่อมมหาสมุทรอินเดีย กับมหาสมุทรแปซิฟิก การชนส่งทางรางที่สะดวกด้วยระบบรถไฟรางคู่ที่ทำความเร็วได้ประมาณ 120-150km/hrs ก็เพียงพอแล้ว
ดีใจที่ไม่มีคำว่า รถไฟความเร็วสูง เพราะนั่นเขาเอาไว้ขนคน ไม่ใช่ขนสินค้า และการเดินทางของคนในภูมิภาคนี้ระบบถนน กับเครื่องบินที่มี low cost airline น่าจะเหมาะสมกว่า”
อ่านประกอบข้อมูลที่เกี่ยวข้อง