ระบบอุปถัมภ์ฝังลึก ยากปฏิรูป! คุยกับดร.วริยา ชินวรรโณ ผู้ทำวิจัยจริยธรรมนักการเมือง
“เราจะเห็นนักการเมืองน้ำดี มีน้อยกว่านักการเมืองไม่ดี
มิฉะนั้นประเทศชาติคงไม่เป็นแบบนี้”
เป็นเรื่องน่าแปลก แต่จริงวิชาชีพอื่นๆ ที่ร่ำเรียนมาจะต้องมีจริยธรรมคอยกำกับ แต่สำหรับ “นักการเมือง” กลับเป็นวิชาชีพเดียวที่ไม่มีจรรยาบรรณมาคอยกำกับอย่างจริงจัง ทั้งๆ ที่นักการเมือง คือ คนที่เข้ามาใช้อำนาจรัฐแทนประชาชน 'จริยธรรม จรรยาบรรณ' จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
สำนักข่าวอิศรา ชวน รศ.ดร.วริยา ชินวรรโณ คณบดีคณะสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พูดคุยถึงงานวิจัยที่เพิ่งเสร็จสิ้นไปสดๆ ร้อน ๆ นั่นก็คืองานวิจัยเรื่อง “จริยธรรมในวิชาชีพ 11 วิชาชีพ” ที่หนึ่งในนั้นอาจารย์วริยาทำวิจัยจริยธรรมอาชีพนักการเมือง โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
แว่วมาว่า ในอนาคต สกว.จะนำเรื่องคุณธรรมจริยธรรมเข้าไปอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติการของสกว. ต่อไป
@ สำหรับอาจารย์ ระบุได้ไหมว่า การเมืองเป็นวิชาชีพไหน
ศ.ดร.สุจิต บุญบงการ อดีตประธานสภาพัฒนาการเมือง ตอนมาวิจารณ์งานวิจัยเรา ท่านบอกชัดเจน นักการเมืองไม่ได้เป็นแม้แต่อาชีพ เพราะไม่ได้ผ่านการฝึกฝนอบรมในโรงเรียน หรือในมหาวิทยาลัย เมื่อเทียบกับโรงเรียนแพทย์ นักกฎหมาย
เพราะเหตุนี้นักการเมืองจึงไม่มีจริยธรรมกำกับ
เมื่อสถานศึกษาใดๆ ก็ตามผลิตผู้ที่อยู่ในวิชาชีพออกไปสู่ตลาดแรงงานนั้น ที่ควบคู่ตามมาก็คือ จะต้องมีสมาคมวิชาชีพ มีจริยธรรมวิชาชีพ เพื่อให้การดำรงวิชาชีพนั้นๆ มีเกียรติและศักดิ์ศรี ดังนั้นเราจะเห็นผู้รับเหมา ผู้ตรวจบัญชี ก็เป็นนักการเมืองได้ ขอให้สถาปนาตัวเอง และมีเงินเพียงพอ
@ งานวิจัย “จริยธรรมในวิชาชีพ 11 วิชาชีพ” มีอะไรบ้าง
11 วิชาชีพ อย่างเช่น แพทย์ พยาบาล ทหาร ตำรวจ นักการเมือง ข้าราชการ สื่อมวลชน นักกฎหมาย ครู อาจารย์ นักธุรกิจ
ในส่วนของงานวิจัยจริยธรรมในวิชาชีพนักการเมือง ใช้เวลาทำ 3 ปี โดยเน้นให้เห็น 1.สภาพการณ์ตอนนี้เป็นอย่างไร 2. มีจรรยาบรรณนักการเมือง กำหนดโดยรัฐธรรมนูญตั้งแต่ 2540 แล้ว ภาพกว้างมีอยู่แล้ว แต่ระดับการปฏิบัติการเป็นอย่างไร
ซึ่งก็พบว่า นักการเมืองก็ประพฤติเบี่ยงเบนมากมาย ทั้งๆ ที่มีกลไกการตรวจสอบนักการเมือง เช่น สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นต้น
@ รูปแบบและขั้นการทำวิจัย
เราทำแบบสอบถามถามนักการเมืองทั้งหมดในสภาฯ ต้องเรียนให้ทราบ ได้บ้างไม่ได้บ้าง รวมๆ แล้วนักการเมืองในสภาฯ ตอบมาทั้งหมดแค่ 30%
ขณะเดียวกันก็มีพรรคการเมืองหนึ่ง ไม่ตอบเลย ส่งแบบสอบถามไปถึง 4 ครั้ง 2 ครั้งแรกก่อนน้ำท่วมใหญ่ และหลังน้ำท่วม ส่งไปถึงพรรคเลย
รวมถึงความพยายามของนักวิจัยในการขอสัมภาษณ์บุคคลสำคัญมากสุดในพรรค ก็ไม่ยอม เราเลยไม่ได้อะไรจากพรรคนี้
ขณะที่พรรคใหญ่อีกพรรคหนึ่ง เกือบทุกท่านตอบคำถาม รวมถึงพรรคเล็กพรรคน้อยก็ตอบคำถาม ทั้งนี้ เรายังมีคำถามปลายเปิดให้นักการเมืองได้ตอบด้วย บางท่านตอบ บางท่านไม่ตอบ
@ จริยธรรมใน 11 วิชาชีพเกี่ยวพันกันอย่างไร
ขอยกตัวอย่าง จริยธรรมในวิชาชีพข้าราชการ ก็เกี่ยวพันกับนักการเมือง เพราะข้าราชการ เป็นอะไรที่เกี่ยวกันกับนักการเมือง มีผลประโยชน์ต่างตอบแทน ข้าราชการก็มีประโยชน์ต่างตอบแทนกับนักการเมือง ขณะที่ข้าราชการที่ประพฤติถูกต้องก็ถูกนักการเมืองแทรกแซง ดั่งที่เห็นอยู่
ไม่เว้น แม้แต่นักธุรกิจก็เกี่ยวโยงกับนักการเมืองเช่นกัน ตอนทำโฟกัสกรุ๊ป นักธุรกิจพูดเลย หากไม่ให้เงินใต้โต๊ะ ไม่ต้องเกิด จะประมูลอะไรไม่ได้เลย
@ นักการเมือง ไม่ยึดจริยธรรมนำไปสู่ปัญหาอะไรบ้าง
“เราจะเห็นนักการเมืองน้ำดี มีน้อยกว่านักการเมืองไม่ดี มิฉะนั้นประเทศชาติคงไม่เป็นแบบนี้”
@ มองกระแสการปฏิรูประบบการเมือง นักการเมือง และการเลือกตั้งอย่างไร
ยากมาก... (หัวเราะ) เพราะฝังรากลึกมากโดยเฉพาะเรื่องระบบอุปถัมภ์ในต่างจังหวัด กรุงเทพฯ ไม่ค่อยเท่าไหร่
“คนในชนบทที่ร่ำรวย ส่วนใหญ่เป็นนักธุรกิจ เมื่อนำเงินไปลงทุน ร่ำรวยก็ต้องการอำนาจ มีคนเข้ามาอยู่ใต้สังกัดเยอะ มีผลประโยชน์ต่างตอบแทน ดังนั้น เราจะเห็นนักธุรกิจกับนักการเมืองเป็นคนๆ เดียวกันแล้ว ทำให้การปฏิรูปการเมืองจึงยากมาก ด้วยระบบอุปถัมภ์ได้หยั่งรากลึกไปแล้ว”
จากการสอบถาม ประชาชนต้องการอะไร พวกเขาต้องการการปฏิรูปเปลี่ยนค่านิยมของสังคม จากเคารพคนรวยแต่เลว ให้เคารพคนดีแต่ไม่รวยได้หรือไม่ และเปลี่ยนระบบอุปถัมภ์ ต้องจัดการให้ได้ แม้ความเป็นจริงจะยากเหมือนเข็นครกขึ้นภูเขา แต่เราอาจต้องเริ่มต้นที่คนรุ่นใหม่
@ สุดท้ายภาพลักษณ์นักการเมืองไทย ในสายตาคนไทยกันเองจะดีขึ้นได้หรือไม่
โห...ยากลำบากมาก แต่คิดว่า นักการเมืองไทยไม่สนใจหรอก ภาพลักษณ์ไม่ดีขอให้ได้เงินเป็นพอ...