คสช.เร่งเคลียร์"รถไฟฟ้าสายสีแดง"เผยอดีต "บิ๊ก" เร่งอนุมัติลงนามสัญญา
เผยผลประชุม คสช.-คค. แก้ปัญหาเร่งด่วน รฟฟ.สายสีแดง บางซื่อ-รังสิต ชานชาลาออกแบบไม่รองรับอนาคต พบ อดีต "บิ๊กคมนาคม" เร่งอนุมัติเซ็นสัญญา-เล็งสร้างรางเพิ่ม
แหล่งข่าวจากกระทรวงคมนาคม เปิดเผยสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ว่า เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เรียกเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงคมนาคมเข้าชี้แจงประเด็นปัญหาเร่งด่วนของแต่ละหน่วยงาน เพื่อให้ คสช. รับทราบ โดยในการชี้แจงดังกล่าว คสช. กำหนดให้ผู้แทนจากแต่ละองค์กรทั้งภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ ใช้เวลาคนละ 3 นาทีในการชี้แจง
ประเด็นสำคัญตอนหนึ่ง มีการชี้แจงถึงปัญหาของการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง ช่วงบางซื่อ-รังสิต ที่รับผิดชอบโดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงที่ต้องเร่งแก้ไขโดยด่วน คือสัญญาที่ 1 และ สัญญา 2 ที่กำลังเกิดปัญหา
สำหรับรายละอียดเบื้องต้นของสัญญาดังกล่าว ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย ( http://www.railway.co.th ) ระบุว่า สัญญาเลขที่ วญส.ที่ รฟ.กส.1000/58/2556 ลงวันที่ 24 มกราคม 2556
สัญญาที่ 1 คือ งานโยธาสำหรับสถานีรถไฟบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง ลงนามสัญญาจ้างกิจการร่วมค้า S U Joint Venture เป็นผู้รับจ้างงานก่อสร้างสัญญาที่ 1 เมื่อ 18 มกราคม 2556 ในวงเงิน 29,826,973,512 บาท .
สัญญาที่ 2 คือ งานโยธาสำหรับทางรถไฟช่วงบางซื่อ – รังสิต กำหนดลงนามสัญญาจ้างบริษัท Italian – Thai Development Public Company Limited เป็นผู้รับจ้างงานก่อสร้างสัญญาที่ 2 ในวงเงิน 21,235,400,000 บาท ในวันที่ 31 มกราคม 2556
แหล่งข่าวกล่าวเพิ่มเติมว่าหน่วยงานที่รับผิดชอบชี้แจงสาเหตุของปัญหาต่อ คสช. ว่าเนื่องจากเดิมทีโครงการตามสัญญาที่ 1 นี้ สนข. ( สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ) ได้ทำการออกแบบไว้โดยไม่ได้รองรับรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเมื่อทั้งสถานีและชานชาลาไม่ได้ถูกออกแบบเพื่อรองรับอนาคต ในเวลาต่อมา ทาง สนข. จึงเห็นว่าควรต้องมีการแก้แบบ แต่ปรากฏว่าในช่วงดังกล่าว มีผู้ใหญ่ของกระทรวงคมนาคมในขณะนั้น บอกให้เซ็นสัญญา ไปก่อนแล้วจากนั้น จึงค่อยมาปรับแก้แบบในคราวหลัง ทำให้เกิดข้อถกเถียงกับ สนข. โดย สนข. เสนอว่า ควรมีการแก้แบบ จึงเชิญอาจารย์ จากมหาวิทยาลัยแห่งหนี่งมาร่วมพิจารณาเรื่องความเหมาะสมของราคาด้วยว่าถ้าปรับแก้แบบแล้ว ราคาเช่นนี้เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร โดยขณะนั้น ทางกระทรวงคมนาคมก็ได้มีการหารือเรื่องราคาในแก้แบบของสัญญาที่ 1 ถึง 2 ครั้ง แต่ก็ยังไม่ได้มีการนำผลสรุปเข้าสู่การพิจารณาของครม. เนื่องจากเกิดการยุบสภาฯ เสียก่อน
“ปัญหาเร่งด่วนตอนนี้คือการก่อสร้างก็ต้องเดินไปข้างหน้า แต่ปัญหาคือ คสช. จะพิจารณาให้สร้างแบบเก่าหรือแบบใหม่ที่เคยเตรียมจะนำเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องด่วน เพราะถ้าวันหนึ่งข้าง หน้า มีรถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นมา จะทำยังไง ชานชาลากับสถานีก็ต้องทุบทิ้งงั้นหรือ ก็คงไม่ถูกต้อง ดังนั้น เรื่องนี้จึงต้องมีการเสนอให้ คสช.พิจารณา” แหล่งข่าวรายนี้ระบุ
แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า ปัญหาเร่งด่วนประการต่อมาคือ การออกแบบก่อสร้างตามสัญญาที่ 2 ซึ่งเป็นการก่อสร้างในส่วนทางวิ่ง โดย สนข. ออกแบบไว้ 2 แบบ คือแบบที่ 1. ให้ใช้หัวจักรดีเซลเป็นหัวลาก กับ แบบที่ 2. เป็นการก่อสร้างสำหรับรถไฟฟ้าที่มีระบบเชื่อมสัญญาณแบบเดียวกับแอร์พอร์ต ลิงค์
"การออกแบบเช่นนี้ ทั่วโลก เขาไม่ทำกัน เป็นคนละระบบกันจะนำมารวมกันไม่ได้ มันอันตราย เพราะรถไฟฟ้ามีอัตราเร่งสูง แต่ หัวรถจักรดีเซลอัตราเร่งต่ำ และระบบการควบคุมหัวรถจักรดีเซลก็ใช้คนควบคุม ขณะที่รถไฟฟ้ามีความทันสมัย ใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมระยะห่างของขบวนรถแต่ละขบวน คอยควบคุมความเร็ว ดูเรื่องระบบเบรค มีคนเข้าไปยุ่งน้อยมาก เพราะฉะนั้น ทั้งระบบและความเร็วที่ต่างกันแบบนี้ ถ้านำเอา 2 ระบบ มาวิ่งรางเดียวกัน ทั่วโลกเขาไม่ทำ มันอันตราย”
แหล่งข่าวกล่าวว่า ปัญหาของสัญญาส่วนที่ 2 คือควรต้องเพิ่มการอีก 1 ราง คือแบบหัวรถจักรปัจจุบัน กับ แบบรถไฟฟ้าสายสายสีแดง แต่ทั้งนี้ ที่ผ่านมาก็ต้องรอ ครม. เห็นชอบ ถ้าครม. ยังไม่มีมติเห็นชอบ ก็ไม่สามารถดำเนินการอะไรไม่ได้ เพราะในลำดับแรกต้องมีการหล่อโครงสร้างขึ้นมาก่อน ซึ่งการจะหล่อโครงสร้างได้ก็ต้องมีแบบก่อน ซึ่งตอนนี้ ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า จะใช้แบบใดแน่
แหล่งข่าวกล่าวว่า สัญญาที่ 1 คือ งานโยธาสำหรับสถานีรถไฟบางซื่อและศูนย์ซ่อมบำรุง มีความล่าช้าในการดำเนินการก่อสร้างตามกำหนดเดิมไปแล้วประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สัญญาที่ 2 คือส่วนงานโยธาสำหรับทางรถไฟช่วงบางซื่อ – รังสิต มีความล่าช้าไปแล้วประมาณ 33 เปอร์เซ็นต์ คาดว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ( รฟท. ) จะส่งแบบโดยละเอียดของสัญญาที่ 1 และสัญญาที่ 2 ให้ คสช. พิจารณาในวันที่ 2 มิถุนายนนี้
"ในการหารือเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคมที่ผ่านมา มี พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศและรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจและทีมที่ปรึกษาเศรษฐกิจ เป็นประธานในการรับฟังคำชี้แจงจากหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดกระทรวงคมนาคม และมีการขอร้องไม่ให้มีการให้ข่าวต่อสื่อมวลชน"