ไฟใต้ไม่สะท้านอัยการศึก? กับความสูญเสียล้ำลึกของคนชายแดนใต้
ภายหลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ายึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการพรรคเพื่อไทย ดูเหมือนฝ่าย คสช.จะใช้กำลังทหารตำรวจรุกไล่ติดตามจับกุมกลุ่มติดอาวุธ กองกำลังใต้ดิน และเข้าตรวจค้นเคหะสถานตลอดจนพื้นที่อ่อนไหวแบบปูพรม โดยทั้งหมดพุ่งเป้าไปยังขั้วตรงข้ามทางการเมืองเป็นหลัก!
ข้าราชการทั้งพลเรือน ทหาร ตำรวจที่ทุ่มกายถวายชีวิตให้รัฐบาลชุดที่แล้ว โดนเด็ดปีกกันระนาว...
บรรดาหัวโจก นักเลงหัวไม้ ไปจนถึงมาเฟียผู้มีอิทธิพลทำหวยเถื่อน ตู้ม้า ซึ่งมีความเชื่อมโยงกับ "ข้าราชการ" และ "นักการเมือง" บางกลุ่ม ถูกออกประกาศเรียกให้เข้ารายงานตัวกับ คสช.จนแทบจะหัวหดกันหมดทั้งประเทศ
ที่น่าตกใจก็คือ "ข้อมูลเชื่อมโยง" ที่ คสช.มีอยู่ในมือ ดูจะลึกซึ้ง ชัดเจน และครอบคลุมเครือข่ายที่สนับสนุนขั้วการเมืองที่เพิ่งเสียอำนาจไปอย่างน่าตื่นตะลึง บ้างก็ว่ามี "สีกากี" (บางกลุ่ม-บางก๊วน) คอยชี้เป้าให้ บ้างก็ว่าเป็นข้อมูลที่กองทัพทำกันเองโดยประสานงานกับสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ถูกรัฐบาลชุดที่แล้วละเลย แทบไม่เคยเรียกเข้าประชุมด้วยซ้ำ
แต่มีอยู่พื้นที่หนึ่งที่บรรยากาศเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เหมือนไม่มีการยึดอำนาจ เหมือนไม่มีการประกาศกฎอัยการศึก (เพราะประกาศอยู่แล้ว) และไม่มีเคอร์ฟิว (เคยโดนมาแล้ว) เพราะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปเลย นั่นก็คือ พื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาความไม่สงบมานานกว่า 10 ปี
ตั้งแต่ คสช.ยึดอำนาจ สถานการณ์รุนแรงรายวันยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่มีหยุด แถมยังมีเหตุ "ป่วนใหญ่" อย่างระเบิดกว่า 20 จุดในเขต อ.เมืองปัตตานี เมื่อ 24 พ.ค.57 และเหตุระเบิดถึงในโรงพยาบาลโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เมื่อ 28 พ.ค.57 ด้วย โดยทั้งสองเหตุการณ์สร้างความเสียหายและความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงลึกซึ้ง
เหตุแรก ระเบิดกว่า 20 จุดในย่านชุมชน ร้านสะดวกซื้อชื่อดัง ปั๊มน้ำมัน เสาไฟฟ้าแรงสูง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 คน บาดเจ็บ 61 คน หนึ่งใน 3 ของผู้เสียชีวิต คือ ด.ช.มูฮำหมัดอิสฟาน สิเดะ วัยแค่ 5 ขวบ
ครอบครัวสะเดะนับว่าโชคร้าย เพราะนอกจากต้องสูญเสียลูกชายคนสุดท้อง คือ มูฮำหมัดอิสฟาน ไปแล้ว ลูกชายคนรองสุดท้ายก็ได้รับบาดเจ็บพร้อมกับแม่ คือ รอฮีมะ สิเดะ ส่วนหัวหน้าครอบครัวอย่าง อิสเฮาะ สิเดะ ก็อาการสาหัส ยังอยู่ในไอซียู
ครอบครัวนี้มีลูก 4 คน อิสเฮาะทำงานคนเดียวด้วยการขับมอเตอร์ไซค์รับจ้าง เมื่อต้องมาบาดเจ็บเช่นนี้ รอฮีมะยังมองไม่เห็นอนาคตว่าเธอและลูกๆ จะอยู่อย่างไร
ผู้เสียชีวิตอีกคนในเหตุการณ์เดียวกัน คือ อธิสิทธิ์ มุ่งหมายธนารักษ์ หรือ ออมสิน อายุ 19 ปี เพิ่งจบ ม.6 จากโรงเรียนเดชะปัตตนยานุกูล ปัตตานี กำลังเตรียมสอบเข้าตำรวจ
อนุศาสน์ สุวรรณมงคล อดีตสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเป็นชาวปัตตานี ได้ไปร่วมงานศพหนุ่มน้อยคนนี้ที่วัดป่าศรี ต.ตะโละ อ.ยะหริ่ง ทำให้ทราบเรื่องราวของน้องออมสิน จึงยิ่งเศร้ามากขึ้นไปอีก
อนุศาสน์ เล่าว่า น้องออมสินเป็นเด็กดี ขยันเรียน เป็นที่รักของเพื่อนๆ รุ่นพี่ รุ่นน้องในโรงเรียน และยังเป็นความหวังของครอบครัว ทุกๆ เช้าน้องออมสินจะรีบตื่นนอนตั้งแต่ตี 4 เพื่อไปกรีดยางช่วยแม่กับยาย เสร็จแล้วจึงขึ้นรถรับจ้างไปโรงเรียน ช่วงปิดเทอมก็ยังทำงานพิเศษหารายได้ให้ครอบครัว แต่ความฝันและอนาคตของเขาต้องจบลงจากสะเก็ดระเบิดที่หน้าร้านสะดวกซื้อเซเว่น อีเลฟเว่น ใน อ.เมืองปัตตานี
ในงานเผาศพ ทั้งเพื่อนพ้องน้องพี่ของออมสินจากโรงเรียนเดชะฯ ไปร่วมอาลัยเป็นครั้งสุดท้ายจนแน่นวัด แต่ละคนกลั้นน้ำตาเอาไว้ไม่อยู่ ถ้อยคำที่เพื่อนๆ และน้องๆ เขียนไว้อาลัยให้กับ "พี่ออม" เต็มไปด้วยความเศร้าและอธิษฐานให้เขาไปสู่ภพภูมิที่ดีตามคติความเชื่อของคนพุทธ
เหตุระเบิดระลอกเดียวกันในเมืองปัตตานียังทำให้เด็กวัยแค่ 2 ขวบ น้องธนกิต แดงมณี ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ ต้องผ่าตัดใหญ่ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา พี่ชายของหนูน้อยคนนี้เรียนอยู่ชั้น ป.4 ก็ถูกสะเก็ดระเบิดตามลำตัว
ส่วนเหตุระเบิดถึงในโรงพยาบาลโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี อีก 4 วันต่อมา แม้ไม่มีผู้เสียชีวิต แต่ก็ทำให้รถยนต์ได้รับความเสียหาย 7 คัน รถจักรยานยนต์ 64 คัน เนื่องจากเพลิงโหมไหม้หลังเกิดระเบิด และจุดเกิดเหตุอยู่บริเวณลานจอดรถ
ถือเป็นเหตุรุนแรงขนาดใหญ่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นในรั้วโรงพยาบาลซึ่งควรเป็นสถานที่ปลอดความรุนแรง จนชาวบ้านทนไม่ไหวต้องส่งเสียงครวญไปถึงผู้ก่อเหตุรุนแรง "ขอให้มีสถานที่ปลอดภัยสักแห่งได้ไหม?"
ช่วงเย็นวันเดียวกัน ยังเกิดเหตุคนร้ายใช้อาวุธปืนยิงและปล้นรถกระบะซึ่งดัดแปลงเป็นรถโดยสารในพื้นที่ อ.โคกโพธิ์ คนขับที่เสียชีวิตจากกระสุนปืนของคนร้าย คือ สาโรจน์ ดวงสุริยา วัย 49 ปี เป็นเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.ปัตตานี) ซึ่งทำงานมาหลายสิบปีแล้ว
เป็นธรรมดาของคนในต่างจังหวัด รวมทั้งสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หากต้องทำงานต่างอำเภอและมีรถกระบะ ก็มักจะรับคนที่อยู่บ้านทางเดียวกันเดินทางไปกลับพร้อมกัน บ้างก็ทำเป็นอาชีพคล้ายรถจ้างเหมา บ้างก็ไม่ได้ทำเป็นอาชีพ แต่ผู้อาศัยก็จะรวมเงินจ่ายค่าน้ำช่วยเจ้าของรถ
สาโรจน์เองก็นำรถกระบะมาดัดแปลงเพื่อรับคนจาก อ.เมืองปัตตานี กลับไปยัง อ.โคกโพธิ์ โดยเฉพาะที่บ้านป่าไร่ เพราะเขาเองก็ต้องรับภรรยากับลูกสาวซึ่งเรียนอยู่ชั้น ม.2 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ กลับบ้านทุกวันอยู่แล้ว
ขณะเกิดเหตุ ภรรยาและลูกสาวของสาโรจน์นั่งอยู่ในแค็บด้านหลังคนขับ เขาถูกยิงเสียชีวิตต่อหน้าต่อตา ก่อนที่คนร้ายจะลากร่างออกไปจากรถ แล้วบังคับให้ภรรยากับลูกสาวของสาโรจน์ รวมทั้งผู้โดยสารคนอื่นๆ ที่เหลือลงจากรถจนหมด และขับรถหลบหนีไป
คาดว่าอีกไม่นานรถกระบะคันนี้จะกลายเป็น "คาร์บอมบ์" ไปคร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์คนอื่นๆ อีกจำนวนไม่น้อย...
นี่คือตัวอย่างความสูญเสียจากความรุนแรงเพียง 2-3 เหตุการณ์ที่ทำร้ายทำลายชีวิตผู้บริสุทธิ์ ซึ่งไม่ว่าจะกี่รัฐบาลผ่านมายังไม่อาจหยุดยั้งได้
ไม่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจะมาจากเรื่องความต้องการแบ่งแยกดินแดนของคนบางกลุ่มแล้วเลือกใช้ความรุนแรง หรือเหตุแทรกซ้อนอื่นๆ ที่เกี่ยวโยงกับธุรกิจผิดกฎหมายตามที่ฝ่ายความมั่นคงพยายามอธิบายในหลายๆ เหตุการณ์ที่ผ่านมา แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเป็นความรับผิดชอบของหน่วยงานรัฐที่จะต้องแก้ไขอย่างจริงใจจริงจัง
โดยเฉพาะ คสช.ในฐานะรัฐบาลชั่วคราวที่มี "อำนาจเต็ม" เพราะปกครองด้วยระบบทหาร จึงน่าจะไม่มีปัญหาเรื่องเอกภาพใดๆ อีกแล้ว ก็ได้แต่หวังว่า คสช.จะสามารถคืนความสงบสุขให้กับสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ดังที่แสดงความตั้งใจเอาไว้ในระหว่างแถลงยึดอำนาจการปกครอง!
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 เพื่อนๆ สกรีดหลังเสื้อสีดำไว้อาลัยให้ "ออมสิน" หรือ อธิสิทธิ์ มุ่งหมายธนารักษ์ ที่เสียชีวิตจากเหตุระเบิดใน อ.เมืองปัตตานี
2-4 บรรยากาศในงานศพของอธิสิทธิ์
5 โปสเตอร์ที่บุคลากรของ ม.อ.ปัตตานี จัดทำขึ้นเพื่อไว้อาลัยให้กับ สาโรจน์ ดวงสุริยา เหยื่อคนร้ายปล้นรถกระบะที่ อ.โคกโพธิ์