อนุสนธิจาก คสช.
การรัฐประหารครั้งล่าสุด ณ วันที่ ๒๔ พฤษภาคม ๒๕๕๗ นี้ ดูจะใช้บทเรียนจากความล้มเหลวของคราวที่แล้ว อย่างน่าทึ่ง เช่น
๑) เริ่มจากการประกาศกฎอัยการศึกก่อน แล้วจึงประกาศยึดอำนาจอีกสองวันต่อมา แม้วุฒิสภาก็สั่งล้มเลิกลงภายหลัง แสดงว่าประกาศอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่คน ๆ เดียว แล้วจึงค่อยกราบบังคมทูลพระกรุณา และรับพระราชโองการโปรดเกล้าฯ เมื่อวันที่ ๒๖ นี้เอง โดยไม่มีประธานองคมนตรีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย และไม่มีการไปเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วยประการใด ๆ ทั้งนี้ เพื่อกันความครหานินทาถึงราชสำนักให้เห็นว่าทหารคิดการทำกันเอง โดยที่ใครจะเชื่อความข้อนี้แค่ไหนเป็นอีกประเด็นหนึ่ง
๒) คราวนี้ ไม่มีการตั้งนายกรัฐมนตรีให้มาบริหารราชการแผ่นดินแทนคณะรัฐประหาร ซึ่งเรียกชื่ออย่างสั้น ๆ เพียงว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ คสช. ตั้งธงเพื่อทำลายอำนาจของทักษิณ ชินวัตรอย่างฉับพลันด้วยการย้ายปลัดประทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติให้หมดอำนาจลง รวมถึงการโยกย้ายนายตำรวจคนสำคัญ ๆ สายทักษิณ รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัดต่าง ๆ ด้วย ถ้าสามารถทำให้ทักษิณและคณะหมดอำนาจไปจากทางราชการงานเมือง จะเป็นความสำเร็จของ คสช. ดังที่การรัฐประหารคราวที่แล้วล้มเหลวด้วยประการทั้งปวง (ส่วนการย้ายอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)นั้น เท่ากับเป็นการได้แต้มอย่างง่าย ๆ)
๓) การบริหาราชการโดยเฉพาะก็ทางด้านเศรษฐกิจและการคลังที่เอานักวิชาการที่สามารถมาร่วมด้วยนั้น นับว่าน่าจับตามองดัง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล กับนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ นั้นอยู่คนละขั้ว แต่ก็ซื่อสัตย์สุจริตและมีความสามารถด้วยกันทั้งคู่ ถ้าทำงานร่วมกันได้ โดยนายทหารใหญ่รับฟังทัศนคติของบุคคลทั้งสอง น่าจะเป็นผลดี ยังนายยงยุทธ ยุทธวงศ์ ก็เป็นนักวิชาการที่มีจุดยืนทางจริยธรรม ที่มีความสามารถด้วยเช่นกัน แม้การไปเป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลหลังรัฐประหารคราวที่แล้ว จะไม่ประสบผลสำเร็จก็ตาม อยากทราบว่าจะมีเทคโนแครตที่ซื่อสัตย์และสามารถอย่างอาจหาญ มาร่วมกับ คสช. อีกกี่คน นอกเหนือพวกเนติบริกร ซึ่งรับใช้เผด็จการทุกคณะ
๔) ที่พึงตราเอาไว้ ก็คือคณะผู้บริหารดังกล่าว จะกล้าตีไปที่โครงสร้างทางสังคมอันอยุติธรรมได้เพียงไหน มีทางเข้าใจถึงความยากไร้ของคนส่วนใหญ่เพียงใด และมีทางที่จะเรียนรู้จากภูมิปัญญาชาวบ้านบ้างหรือไม่ โดยที่ต้องตราเอาไว้ทีเดียวว่า นโยบายของทักษิณและยิ่งลักษณ์นั้นเป็นไปแต่ในทางประชานิยมเท่านั้น หากยังเป็นการซ่อนเร้นความทุจริตไว้อย่างหมกเม็ดอีกด้วย ไม่ว่าจะเรื่องจำนำข้าวหรือการซื้อรถยนต์คันแรกโดยได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งเป็นการสนับสนุนบริษัทค้ารถยนต์ เพิ่มการจราจรติดขัด ตลอดจนเป็นพิษเป็นภัยกับระบบนิเวศยิ่งนัก
ทราบว่า คสช. มีนโยบายให้ทำถนนหรือเขื่อนรอบ ๆ กรุงเทพฯ ถ้าเป็นเช่นนั้นจริง นี่ก็คือความหายนะอย่างแท้จริง ดังที่ยิ่งลักษณ์อนุมัติเงินจำนวนมหาศาล เพื่อทำเขื่อนต่าง ๆ โดยอ้างว่าเพื่อเอาชนะอุทกภัย นั่นเป็นความเลวร้ายอย่างสุด ๆ ถ้าจะทำอะไรให้ราชธานีแห่งนี้ ควรลอกแม่น้ำเจ้าพระยาและคูคลองต่าง ๆ ที่โยงถึงกันให้เมืองกรุงมีศักดิ์ศรีสมกับเป็นเมืองของพระแก้วมรกต จะอย่างไรก็ตาม งานพวกนี้ ควรขอประชามติด้วย จึงจะควร
๕) การตั้งศาลทหารนั้นเป็นดาบสองคม ถ้าจะช่วยให้กระบวนการยุติธรรมดีขึ้น นั่นเป็นสาระที่สำคัญอันควรใช้ทั้งสติและปัญญา ตลอดจนขันติธรรม เฉกเช่น การจะปรับให้ระบบการศึกษาดีขึ้น รวมถึงการคณะสงฆ์ด้วย แต่เกรงว่าทัศนะดังกล่าวคงไม่อยู่ในสายตาของคนที่มีอำนาจในบัดนี้
๖) การเชิญคนไปพบ หรือไปกักตัวนั้น ดูจะบานปลายไปทุก ๆ ที ดีไม่ดีนี่จะเป็นระบอบแมกคาที ดังที่ปรากฏมาแล้ว ณ สหรัฐอเมริกา น่าจะหลีกเลี่ยงให้ทันท่วงที และที่สหรัฐฯตัดความช่วยเหลือในช่วงนี้ นั่นก็เป็นเพียงเกมการเมืองในระยะสั้น เพราะสหรัฐฯอุดหนุนรัฐบาลเผด็จการมาแล้วแทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะสุฮาโต้แห่งอินโดนีเซีย หรือ ส. ธนะรัชต์แห่งไทยแลนด์
๗) จิตสำนึกของผู้นำ คสช. ในเวลานี้ ดีร้ายจะเอาอย่าง ส. ธนะรัชต์ ก็ได้ แต่อย่าลืมนะว่าแม้คน ๆ นั้นจะเลวร้ายเพียงใด และบ้ากามเพียงไหน แต่เขาก็มีความฉลาดเฉลียวมิใช่น้อย ทั้งยังมีกุนซือที่สามารถยิ่งนัก แม้คน ๆ นั้นจะปราศจากศีลธรรมจรรยาเอาเลย แต่คน ๆ นั้นก็ช่วยให้จอมเผด็จการผ้าขาวม้าแดง หาคนดีมีฝีมือมารับใช้บ้านเมืองได้อย่างควรแก่การก้มหัวให้ เช่น ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ทางด้านเศรษฐกิจการคลัง และทวี บุณยเกตกับระบบรัฐสภา แม้นั่นจะใช้เวลากว่า ๑๐ ปี จึงจะร่างรัฐธรรมนูญเสร็จก็ตาม
๘) การสั่งให้มอบเงินแก่ชาวนาอันเรื้อมานานจากการจำนำข้าวนั้น คสช. ได้ใบชมสมกับอภิสิทธิ์ของการรัฐประหาร ดังเมื่อรัฐประหารครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๙๐ ก็สั่งลดราคาโอเลี้ยง น้ำแข็ง ฯลฯ โดยได้แต้มอย่างรวดเร็ว และผู้นำคณะรัฐประหารกล่าวหาว่ารัฐบาลก่อนหน้านั้นทุจริต แต่แล้วคณะรัฐประหารก็ทุจริตยิ่งกว่านั้นมากมายหลายเท่านัก
๙) หวังว่าการร่างรัฐธรรมนูญคราวนี้และการตั้งรัฐบาลพลเรือนคราวนี้ คงไม่เลวร้ายหรือล่าช้าดังสมัย ส. ธนะรัชต์ และการทำลายล้างปัญญาชนตลอดจนนักการเมืองที่คิดต่างไปจากกระแสหลัก คงจะไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างโหดเหี้ยมเลวร้ายดังสมัย ส. ธนะรัชต์ เช่นกัน
๑๐) พระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ที่ ส. ธนะรัชต์ ให้ตราออกมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ นั้น คือต้นตอแห่งความหายนะของสถาบันสงฆ์ ถ้าไม่แก้ไขประเด็นนี้ให้ถึงแก่น การพระศาสนาจะฟื้นตัวขึ้นไม่ได้เลย
ส.ศ.ษ.
ป.ล. ไม่ทราบว่าหัวหน้า คสช. จะเคยศึกษาประวัติของ Pompey บ้างไหม ท่านผู้นี้เคยเป็นแม่ทัพที่สามารถมาก หากต่อมาต้องประสงค์จะเป็นนักการเมือง Plutarch เขียนประวัติท่าน (ซึ่งแปลเป็นอังกฤษ) ว่า Life out of uniform can have the dangerous effect of weakening the reputation of famous generals … .They are poorly adapted to the equality of democratic politics. Such men claim the same proceeding in civilian life that they are on the battle fields… . So when people find a man with a brilliant military record playing an active part in public life, they undermine and humiliate him. But if he renounces and withdraws from politics, they maintain his reputation and ability and no longer envy him. The trouble was that Pompey was a poor political tactician and also uninspiring public speaker.
เชื่อว่าหัวหน้า คสช. คงไม่มีเวลาที่จะอ่านข้อเขียนของข้าพเจ้า แต่ถ้าลูกน้องที่มีมันสมองและหวังดีต่อนาย จะเสนอให้นายได้ทราบถึงข้อความจากอดีต นั่นอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับสถานการณ์ในปัจจุบันก็ได้
และไหน ๆ พูดถึงประวัติศาสตร์โรมันแล้ว ขอยืมคำละตินมาแปล คสช. ว่า otium cum dignitateกล่าวคือ สันติภาพ (otium) ต้องเป็นไปพร้อม ๆ กับ ศักดิ์ศรี (dignitate) ถ้าขาดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน และปราศจากเสรีภาพในการแสดงออกเสียแล้ว นั่นคือสันติภาพปลอม