ต้านรัฐประหาร แต่ไม่(เคย)ต้านคอร์รัปชั่น
องค์กรหลายองค์กร (บางองค์กรแทบไม่เคยเป็นที่รู้จักของสาธารณชน) รวมถึงประชาชนจำนวนหนึ่งออกมาชูป้าย ออกแถลงการณ์ คัดค้านการทำรัฐประหารของคณะรักษาความสงบ (คสช.) หลังวันที่ 22 พ.ค.57 โดยยกเหตุผลว่าเป็นการใช้อำนาจนอกระบบ ไม่เป็นไปตามระบบประชาธิปไตย ไม่สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในสังคม ละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของพลเมือง ฯลฯ
แอบคิดแบบเล่นๆว่า ก่อนหน้านี้ถ้าคนกลุ่มนี้“ตื่นตัว” รับไม่ได้กับคอร์รัปชั่น เหมือนแสดงออก“รับไม่ได้”กับการใช้อำนาจรัฐประหาร ก็คงไม่เกิดรัฐประหารในปี 49 การเมืองไทยก็คงไม่เดินมาสู่จุด ณ ตอนนี้
ความจริงไม่ได้ยินดีกับประชาธิปไตย (ปลอมๆ) และก็ไม่ได้ชื่มชมรัฐประหาร แต่ข้อเท็จจริงที่ไม่สามารถปฏิเสธได้ก็คือนโยบายสาธารณะที่ออกมาจากรัฐบาลในยุคประชาธิปไตย ระหว่างปี 2544-2557 (ยกเว้นยุครัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ 9 ต.ค.49-6 ก.พ.51) เอื้อประโยชน์ให้ตัวเองพวกพ้องและบริวารนับสิบ
(1) กรณีแปลงค่าสัญญาสัมปทานเป็นภาษีสรรพสามิต
(2) กรณีการแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone)
(3) กรณีแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) และให้หักค่าใช้จ่ายจากรายรับและ กรณีการปรับลดอัตราค่าใช้เครือข่ายร่วม เป็นการเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปฯ และบริษัทเอไอเอส แยกเป็น 2 กรณี
กรณีแรก การแก้ไขสัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่ออนุญาตให้ใช้เครือข่ายร่วมและหักค่าใช้จ่ายจากรายรับ
กรณีสอง กรณีการปรับลดอัตราการใช้เครือข่ายร่วมระหว่าง กสท. กับ บริษัท ดีพีซี ตามสัญญาให้ดำเนินการให้บริการวิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า DIGITAL PCN (PERSONAL COMMUNICATION NETWORK)
(4) การละเว้น อนุมัติ ส่งเสริม สนับสนุนธุรกิจดาวเทียมตามสัญญาดำเนินกิจการ ดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศโดยมิชอบหลายกรณี เพื่อเอื้อประโยชน์แก่บริษัทชินคอร์ปฯ และบริษัทชินแซทฯ แยกเป็น 3 กรณี ได้แก่
กรณีการอนุมัติโครงการดาวเทียมไอพีสตาร์ (IP STAR) โดยมิชอบ
กรณีการอนุมัติแก้ไขสัญญาดำเนินกิจการดาวเทียมสื่อสารภายในประเทศ ลดสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทชินคอร์ปที่ต้องถือในบริษัท ไทยคมจากไม่น้อยกว่าร้อยละ 51 เป็นไม่น้อยกว่า ร้อยละ 40
กรณีการอนุมัติให้ใช้เงินค่าสินไหมทดแทนของดาวเทียมไทยคม 3 ที่ได้รับความเสียหาย 6,700,000 ดอลลาร์สหรัฐไปเช่าช่องสัญญาต่างประเทศเพื่อใช้ทดแทนดาวเทียมไทยคม 3
(5) กรณีอนุมัติให้รัฐบาลพม่ากู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) เพื่อนำไปซื้อสินค้าและบริการของบริษัทไทยคมโดยเฉพาะ
(6) ทุจริตโครงการบ้านเอื้ออาทร 2 หมื่นล้าน
(7) ทุจริตโครงการสมาร์ทการ์ด 7,900 ล้านบาท
(8) ทุจริตจัดซื้อกล้ายาง 1,440 ล้านบาท
(9) ทุจริตจัดซื้ออุปกรณ์การเรียนขององค์การค้าคุรุสภา
(10) เลี่ยงภาษีนำเข้ารถหรูหมื่นล้าน
(11) การเช่าซื้อคอมพิวเตอร์ของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) 2,894 ล้านบาท
(12) ผลประโยชน์ทับซ้อนกรณีจัดซื้อที่ดินย่านถนนรัชดาฯ
(13) ทุจริตโครงการสร้างโรงพักทดแทนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
(14) ทุจริตจัดซื้อรถจักรยานยนต์ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ
(15) ทุจริตจัดซื้อเครื่องซีทีเอ็กซ์ สนามบินสุวรรณภูมิ
(16) ทุจริตโครงการรับจำนำข้าวสร้างความเสียหายหลายแสนล้านบาท
ใช้อำนาจรัฐแต่งตั้งเครือญาติเป็นข้าราชการเมืองและกรรมการในหน่วยงานของรัฐ อาทิ
1.นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ เป็นข้าราชการการเมืองตำแหน่งเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (คำสั่งกระทรวงศึกษาธิการที่ สลร.651/2544) และเป็นที่ปรึกษานายกฯ
(คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 59/2548)
2.พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร เป็นกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย (มติครม.11 มี.ค.46) เป็น ผบ.ทบ.ในยุครัฐบาลทักษิณ เป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ( คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 146/2554)
3.นางเยาวเรศ ชินวัตร เป็นนายกสภาประจำสถาบันราชภัฏอุบลราชธานี (26 พ.ย.46 )
4.พล.อ.อุทัย ชินวัตร เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (คำสั่งกระทรวงมหาดไทยที่ 451/2546) เป็นที่ปรึกษารองนายกฯ 4 พ.ค.47 (นายวันมูหะมัดนอร์) และ เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 12 ต.ค.47 (คำสั่งกระทรวงเกษตรฯ ที่ 370/2547)
5.นายวีระพันธุ์ ชินวัตร เป็นกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติ ( มติ ครม.19 มิ.ย.49)
6.ทันตแพทย์หญิงศรีญาดา ชินวัตร เป็นเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม 22 ก.พ.51 ยุคนายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ และติดต่อกันจนกระทั่งยุคนายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เป็นรัฐมนตรีในรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์
7.น.ส.ชยิกา วงศ์นภาจันทร์ บุตรสาว นางเยาวเรศ ชินวัตร ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 29 ส.ค.54 (คำสั่งนายกรัฐมนตรีที่ 146/2554)
8.นายสมชัย โกวิทเจริญกุล สามีนางมณฑาทิพย์ ชินวัตร เป็นกรรมการองค์การเภสัชกรรม (มติครม.27 ก.พ.56 )
9.พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เป็นบอร์ดการบินไทย
10.พล.ร.อ.เกียรติศักดิ์ ดามาพงศ์ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพเรือ เป็นกรรมการการท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.)
ไม่นับกรณีโยกย้ายข้าราชการโดยใช้ระบบอุปถัมภ์ อาทิ นายถวิล เปลี่ยนศรี
น่าสังเกตว่าในช่วงที่โครงการดังกล่าวถูกสื่อหรือองค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบตรวจพบคอร์รัปชั่นเชิงนโยบาย สร้างความเสียหายมหาศาล กรณีชาวนาจำนวนหนึ่งผูกคอตายจากความฉ้อฉลในนโยบายจำนำข้าว เราแทบไม่เคยได้ยินผู้รักประชาธิปไตย (บางคน) เหล่านี้รวมตัวแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ คัดค้านต่อต้านการคอร์รัปชั่น
ราวกับไม่รู้ ไม่เห็น ไม่ได้ยินเสียด้วยซ้ำ
น่าเศร้าเป็นที่สุด บางคนยังใช้ต้นทุนนักวิชาการ นักกิจกรรม นักธุรกิจ เข้าไปมีตำแหน่งเป็นบอร์ดหน่วยงานของรัฐ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นๆ รับใช้รัฐบาลที่ออกนโยบายฉ้อฉลอย่างสุดลิ่ม
ด้วยเพราะความเชื่อที่ว่า จะโกงทั้งโคตร หรือโคตรโกงอย่างไรก็ได้ ขอให้มีรัฐบาล ประชาธิปไตย เท่านั้นเป็นพอ
ถ้าเชื่ออย่างนี้ ก็เป็นได้แค่ นักประชาธิปไตยปลอมๆ เท่านั้น?