'นิพนธ์' ชี้ไม่มีจำนำข้าว ไม่ใช่เรื่องใหญ่ แนะอุดหนุนส่วนต่างแทนแทรกแซงตลาด
ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร เชื่อหากอนาคตไม่มีการรับจำนำข้าวไม่ใช่ปัญหาใหญ่ของประเทศไทย แนะวางแผนรับมือ ยกเลิกข้าวส่งออก หันมาขายในประเทศ และควรช่วยประคองราคาข้าวไม่ให้ราคาตกต่ำเกินไป
รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRT) กล่าวกับสำนักข่าวอิศรา ถึงการแก้ไขปัญหาหากในอนาคตไม่มีการรับจำนำว่า การที่จะไม่มีโครงการรับจำนำข้าว ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะในอดีตประเทศไทยเองก็ไม่ได้มีการจำนำข้าวแต่อย่างใด ซึ่งการที่ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ทั้งในด้านของปริมาณและคุณภาพก็ไม่เคยมีปัญหา ในขณะที่บางปีพบว่า ราคาข้าวตกต่ำนั้นสาเหตุอาจเกิดจากราคาข้าวผันผวน ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกษตรกรไทยเดือดร้อนและขาดทุน
สำหรับแผนการรับมือนั้น รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าวว่า เริ่มแรกคือรัฐบาลต้องเลิกขายข้าวส่งออก ต้องขายเฉพาะในประเทศเพื่อไม่ให้ราคาข้าวสารสูงเกินไป รวมถึงการเข้าไปช่วยพยุง ช่วยประคองราคาข้าวไม่ให้ตกต่ำมากไปกว่านี้ ซึ่งก็ต้องกำหนดราคาไม่ให้สูงเกินไป เช่น 15,000 บาทต่อตัน ในสมัยของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หรือแม้กระทั่งในสมัยของนายอภิสิทธิ์ 12,000 บาทต่อตัน ถือว่า ราคาสูงเกินไป งบประมาณจึงสูงตามราคาจำนำ และประกันราคาข้าว
“ถ้าราคาตลาดปีนั้นต่ำกว่าราคาเฉลี่ยใน 4 ปีที่ผ่านมา เอาราคาเฉลี่ยในปีที่ผ่านมาเป็นราคาประกันค่าเฉลี่ย แล้วถ้าแต่ละปีต่ำกว่านั้น รัฐบาลก็อุดหนุนส่วนต่างแล้วก็ไม่แทรกแซงตลาด ไม่ซื้อไม่ขายข้าวไม่สีข้าวเอง จ่ายเงินโดยตรงให้กับเกษตรกร จบ! โดยแต่ละรายไม่เกินรายละ 10 ตัน ภาระหนี้ภาระการคลังก็จะไม่เยอะ”รศ.ดร.นิพนธ์ กล่าว
ดร.นิพนธ์ กล่าวถึงสภาพดินฟ้าอากาศที่ไม่แน่นอน ที่บางครั้งไม่เหมาะแก่การปลูกข้าวนั้น อย่างกรณีน้ำท่วม แม้รัฐบาลจะมีเงินชดเชย แต่ก็น่าจะเริ่มสร้างระบบ ปรับระบบกันใหม่ ให้เกษตกรซื้อประกันดินฟ้าอากาศ แทนระบบการชดเชย หรืออาจมีการอุดหนุนให้เบี้ยประกันกับชาวนาก็ได้ โดยยังจำกัดวงเงินงบประมาณ ให้แต่ละรายไม่เกิน 10 ตัน เช่น หากเกษตรกรรายไหนมีข้าวจำนวน 100 ตัน รัฐบาลก็ประกันแค่ 10 ตัน เพื่อเป็นการอุดหนุนเกษตรกรทางหนึ่ง รวมไปถึงการสนับสนุนให้ความรู้แก่เกษตรกรให้ลดต้นทุนในการผลิตด้วย แนะนำเกษตรกรเกี่ยวกับเรื่องการใช้ยาฆ่าแมลงที่สามารถลดต้นทุนลงไปได้อีกทางหนึ่ง