ก.สาธารณสุข-พัฒนาสังคม เตรียมขยายโครงการดูแลผู้สูงอายุจาก 4 ชุมชน 4 จว.
ปลัด ก.สาธารณสุขเผย อีก 19 ปีไทยมีผู้สูงอายุกว่า 17 ล้านคนหรือ 1 ใน 4 ของประชากร ปัจจุบันมี17 ล้าน พบ 1 ใน 5 เป็นต้อกระจก และ 1 ใน 3 หูตึง มีโรคยอดฮิตหัวใจ-ความดันสูงร้อยละ 44 เตรียมขยายผลโครงการนำร่องบูรณาการระบบบริการผู้สูงอายุจาก 4 ชุมชน 4 จังหวัดต้นแบบไปทั่วประเทศ
นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธานเปิดประชุมวิชาการรองรับการเป็นสังคมของผู้สูงอายุในอนาคต โดยกล่าวว่าจากการคาดการณ์ขององค์การอนามัยโลกใน พ.ศ.2568 หรืออีก 14 ปีข้างหน้า ทั่วโลกจะมีผู้สูงอายุมากกว่า 800 ล้านคน 2 ใน 3 อยู่ในประเทศกำลังพัฒนา ส่วนไทยมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปี 2553 ทั่วประเทศมีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปกว่า 8 ล้านคน คิดเป็น 12% ของประชากรทั้งหมด และในปี 2573 หรืออีก 19 ปี ไทยก็จะมีผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นเป็น 17 ล้านคน หรือ 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด ขณะนี้ไทยมีผู้สูงอายุที่มีอายุประมาณ 100 ปีขึ้นไปจำนวน 13,692 คน มากที่สุดที่ จ.นครศรีธรรมราช 591 คน รองลงมาคือ ยะลา 563 คน และสมุทรปราการ 558 คน
นพ.ไพจิตร์ กล่าวต่อว่าเมื่ออายุมากขึ้นจะทำให้เกิดความเสื่อมถอยของอวัยวะต่างๆ ทำให้ผู้สูงอายุเกิดโรคได้ง่าย ผลการสำรวจสุขภาพล่าสุดในปี 2551-2552 พบผู้สูงอายุไทย 1 ใน 5 เป็นต้อกระจก มีปัญหาหูตึงเกือบ 1 ใน 3 และยังมีปัญหาโรคประจำตัวที่พบมากอันดับ 1 ได้แก่ โรคหัวใจและโรคความดันโลหิตสูง ร้อยละ 44 โรคเกี่ยวกับต่อมไร้ท่อเช่นเบาหวาน ร้อยละ 22 โรคข้อเสื่อม กระดูกพรุนร้อยละ 14
ซึ่งผู้สูงอายุเหล่านี้จะต้องได้รับการดูแลที่เหมาะสม ทั้งในบ้านในชุมชนและสถานพยาบาล โดย สธ.ได้ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำโครงการพัฒนารูปแบบบริการสุขภาพและสวัสดิการสังคม เช่น ด้านอาชีพ รายได้ แก่ผู้สูงอายุเชิงบูรณาการในชุมชน ตั้งแต่ปี 2550–2554 เพื่อใช้เป็นต้นแบบของความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในการดูแลผู้สูงอายุอย่างยั่งยืนนำร่องใน 4 ชุมชน 4 จังหวัด 4 ภาค ได้แก่ นนทบุรี ขอนแก่น เชียงราย และสุราษฎร์ธานี โดยได้รับการสนับสนุนวิชาการจากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจก้า จะประเมินผลในปลายปีนี้ และขยายผลทั่วประเทศต่อไป .
ที่มาภาพ : http://www.lib.ru.ac.th/journal/apr/apr13_op_def.html