ปัดคลอดแผนนิรโทษฯ คสช.ย้ำสงบเร็วตั้ง “นายกฯ-ครม.” ทันที
คสช.ปัดคลอดแผนนิรโทษกรรม ย้ำทำงาน 3 ระยะ สงบเร็วตั้ง “นายกฯ-ครม.” ได้ทันที เผยคนไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง ต้องแจงเป็นลายลักษณ์อักษร ยันทำตามกฎหมาย ปล่อยตัวเลิกยุ่มย่ามอีก ระบุศาลทหารตั้งทนายได้ตามปกติ
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2557 ที่สโมสรทหารบก เทเวศร์ พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก ในฐานะทีมโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงข่าวความคืบหน้าประจำวันว่า กรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการออกกฎหมายนิรโทษกรรมนั้น ขอยืนยันว่า เรื่องการนิรโทษกรรมแก่ผู้ที่กระทำความผิดก่อนวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ไม่ได้อยู่ในนโยบายของ คสช. และไม่เคยมีการพูดคุยกันแต่อย่างใด เนื่องจากนโยบายหลักจะมุ่งเน้นเรื่องการสร้างความปรองดองด้วยกลไกของส่วนงานต่าง ๆ
พ.อ.วินธัย กล่าวอีกว่า สำหรับแผนการของ คสช. ที่กำหนดไว้ 3 ระยะนั้น ไม่ได้กำหนดกรอบเวลาในแต่ละขั้นไว้ แต่หากการดำเนินการในระยะที่ 1 ในส่วนของการสร้างบรรยากาศลดความขัดแย้งในสังคมลงได้ ก็จะสามารถเข้าสู่การดำเนินการในระยะที่ 2 ได้โดยเร็ว ซึ่งในช่วงดังกล่าวจะมีการตั้งสภาปฏิรูป สภานิติบัญญัติ รวมไปถึงนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีได้ โดย คสช. จะพิจารณาแต่งตั้งตัวบุคคลต่าง ๆ ผ่านการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อเข้ามาทำหน้าที่เดินหน้าเรื่องการปฏิรูปประเทศ ก่อนนำไปสู่การดำเนินการในระยะที่ 3 ในส่วนของการเข้าสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ผ่านการเลือกตั้งต่อไป
“ระหว่างนี้จึงไม่อยากให้สังคมหรือภาคส่วนต่างๆมาเร่งรัดในเรื่องการทำงานใด ๆ ของ คสช. เพราะสถานการณ์ในช่วงนั้น ๆ จะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า การทำงานของ คสช. ในแต่ละระยะสัมฤทธิ์ผลหรือไม่ และสามารถก้าวต่อไปยังระยะถัดไปหรือยัง” พ.อ.วินธัย กล่าว
พ.อ.วินธัย กล่าวว่า ส่วนกรณีที่องค์กรฮิวแมนไรท์วอชท์ ระบุถึงอำนาจของศาลทหาร โดยการดำเนินคดีไม่สามารถมีทนายได้นั้น ขอชี้แจงว่า เป็นการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน เพราะศาลทหารมีการพิจารณาคดีจะไม่แตกต่างจากศาลพลเรือน แต่ความแตกต่างคือ จะมีแค่ศาลเดียวเท่านั้นในช่วงภาวะไม่ปกติ ขณะที่จำเลยสามารถแต่งทนายได้ตามปกติ
พ.อ.วินธัย กล่าวด้วยว่า สำหรับกรณีผู้ที่ถูกเรียกมารายงานตัว แต่มาไม่ได้ตามกำหนดนั้น ต้องทำเรื่องชี้แจงอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรถึงเหตุผลความจำเป็นให้ คสช. พิจารณา ส่วนเหตุผลจะฟังได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับ คสช. ส่วนกรณีนายวีรพัฒน์ ปริยวงศ์ นักกฎหมายอิสระ ที่ถูกเรียกตัวตามคำสั่ง คสช. แต่ได้แจ้งว่าติดภารกิจที่ต่างประเทศ โดยอ้างว่าทหารมีความประสงค์ไม่ดีต่อตัวเองนั้น ขอยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง เพราะเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตามกฎหมาย และไม่มีเจตนาใช้ความรุนแรงใด ๆ และทันทีที่มามอบตัวก็มีหารือทำความเข้าใจกัน ส่วนบุคคลที่ปล่อยตัวแล้ว โดยเฉพาะแกนนำ ทาง คสช. จะไม่เข้าไปติดตามพฤติกรรมอย่างที่เข้าใจกัน เพราะพยายามหลีกเลี่ยงการสร้างเงื่อนไขนำไปสู่ความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก bangkokbiznews