ศาลปค.ป่วน อ้าง ก.ศป.หมดสภาพตาม รธน ต้องหารือ คสช.- ดองเรื่องสอบ "จม.น้อย"
ศาลปกครองปั่นป่วน ประธานศาลสูง อ้าง ก.ศ.ป. หมดสภาพ ตามรัฐธรรมนูญหลังยึดอำนาจ-อีกฝ่ายค้าน ไม่กล้ามีมติเปิดคัดเลือกตุลาการ ต้องทำหนังสือหารือ คสช. ยุติเรื่องทุกอย่าง รวมทั้งสอบ"หัสวุฒิ"เรื่องจดหมายน้อย"
แหล่งข่าวจากศาลปกครองเปิดเผย "สำนักข่าวอิศรา" ว่า เมื่อวันพุธที่ 28 พฤษภาคม มีการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง(ก.ศป.)ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดในการบริหารบุคคลของตุลาการศาลปกครอง มีนายหัสวุฒิ วิทิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด เป็นประธาน โดยมีวาระการพิจารณา เรื่องเปิดคัดเลือกบุคคลเข้ามาเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด
ปรากฏว่า นายหัสวุฒิ อ้างว่า ในการยึดอำนาจของคณะรักษาาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.)ได้ประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 สิ้นสุด ทำให้ ก.ศป.ไม่ครบองค์ประกอบที่จะเป็น ก.ศป.เนื่องจากองค์ประกอบของ ก.ศป.กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 226 จึงไม่อาจพิจารณาเรื่องต่างๆได้ แต่มีกรรมการ ก.ศป.บางส่วนไม่เห็นด้วย เพราะอำนาจหน้าที่ต่างๆของ ก.ศป.อย่ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองอยู่แล้ว นอกจากนั้นประกาศของ คสช.ฉบับที่ 5 และฉบับที่ 11 ยังให้ศาลทั้งหลาย คงมีอำนาจดำเนินการพิจารณาและพิพากษาคดีตามบทกฎหมายและประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งการดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีต้องเกี่ยวพันกับอำนาจหน้าที่ของ ก.ศป.ด้วย ดังนั้นการตีความกฎหมายต้องให้ปฏิบัติได้
แหล่งข่าว กล่าวว่า เมื่อที่ประชุมถกเถียงกันยังไม่ได้ข้อยุติ จึงมีผู้เสนอให้หารือกับ คสช.โดยสำนักงานศาลปกครองถึง คสช.อย่างเป็นทางการ อย่างไรก็ตามการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับมติ ก.ศป.ต้องหยุดไว้ทั้งหมด รวมถึงการตั้งคณะกรรมการสืบสวนข้อเท็จจริงกรณีนายหัสวุฒิ วิทิตวิริยกุล ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวพันในการส่ง "จดหมายน้อย"ถึงผู้บัญชาการตำรวจเพื่อฝากนายตำรวจให้ให้รับตำแหน่ง ผู้กำกับการโดยอ้างว่าเป็นเพื่อนสนิทของลูกนายหัสวุฒิและช่วยงานประธานศาลปกครองสูงสุดหลายครั้ง
อนึ่ง รัฐธรรมนูญ มาตรา 226 บัญญัติว่า คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองประกอบด้วยบุคคล ดังต่อไปนี้
(1) ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานกรรมการ
(2) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนเก้าคนซึ่งเป็นตุลาการในศาลปกครองและได้รับเลือกจากตุลาการในศาลปกครองด้วยกันเอง
(3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเลือกจากวุฒิสภาสองคน และจากคณะรัฐมนตรีอีกหนึ่งคนคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม และวิธีการเลือกกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ
ในกรณีที่ไม่มีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง (3) หรือมีแต่ไม่ครบสามคน ถ้าคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองจำนวนไม่น้อยกว่าหกคนเห็นว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องให้ความเห็นชอบ ให้คณะกรรมการตุลาการศาลปกครองจำนวนดังกล่าวเป็นองค์ประกอบและองค์ประชุมพิจารณาเรื่องเร่งด่วนนั้นได้