แรงงานนอกระบบเข้าประกัน ม.40 พุ่ง 4 แสน -ผู้ป่วยฯจี้ชะลอสถาบัน ค.ปลอดภัย
ปลัด รง. เผยแรงงานนอกระบบสมัครประกันสังคมมาตรา 40 กว่า 4 แสนราย ร้อยละ 99 เลือกเงินสมทบ 150 รัฐจ่าย 50-จ่ายเอง 100 ประโยชน์ทดแทนรายได้เมื่อป่วย-พิการ-ค่าทำศพ บวกบำเหน็จชราภาพ ด้านเครือข่ายผู้ป่วยจากงานจี้ชะลอตั้งสถาบันความปลอดภัยฯ ชี้สัดส่วน คกก.ไม่สมดุล ให้รอรัฐบาลใหม่
วันที่ 29 ก.ค.54 นพ.สมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ปลัดกระทรวงแรงงาน(รง.) กล่าวหลังประชุมผู้บริหารกระทรวงแรงงานว่า ตัวแทนสำนักงานประกันสังคม(สปส.)ได้รายงานความคืบหน้าขยายความคุ้มครอง ประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบตามมาตรา 40 ของ พ.ร.บ.ประกันสังคมโดยตั้งแต่วันที่ 12 พ.ค.-27 ก.ค.2554 มีแรงงานนอกระบบยื่นจดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 401,482 ราย
แยกเป็นขยายความคุ้มครองในทางเลือกที่ 1 เงินสมทบ 100 บาทต่อเดือนโดยรัฐจ่าย 30 บาท ผู้ประกันตนจ่าย 70 บาท ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์เงินทดแทนการขาดรายได้เมื่อป่วยต้องนอนพักรักษาตัว 200 บาทต่อวันไม่เกิน 20 วันต่อปี การขาดรายได้เมื่อทุพพลภาพและเงินค่าทำศพ 2,446 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.61 และทางเลือกที่ 2 เงินสมทบ 150 บาทต่อเดือน รัฐจ่าย 50 บาท ผู้ประกันตนจ่าย 100 บาท ซึ่งได้รับสิทธิประโยชน์ใน 3 กรณีข้างต้นบวกเงินบำเหน็จชราภาพ 399,036 รายคิดเป็นร้อยละ 99.39
“ส่วนการชำระเงินสมทบ มีการบริการหลายรูปแบบ ซึ่งการชำระผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิสเริ่มแล้วตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค.ที่ผ่านมาเสียค่าบริการครั้งละ 10 บาท แต่สามารถส่งเงินสมทบล่วงหน้าได้ครั้งละสูงสุดไม่เกิน 12 เดือน โดยชำระเพียงครั้งเดียว หรือหากจะเลือกชำระเป็นรายเดือนก็สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ในช่วงวันแรกจนถึงวันสิ้นเดือนของเดือนนั้นเท่านั้น จะไม่มีการชำระย้อนหลัง” ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าว
วันเดียวกัน สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย และ เครือข่ายแรงงานจังหวัดต่างๆประมาณ 30 คนนำโดยนางสมบุญ สีคำดอกแค ประธานสภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่ฯเดินทางมายังกระทรวงแรงงานเพื่อยื่นหนังสือต่อนายสมเกียรติ คัดค้านการแต่งตั้งอนุกรรมการยกร่างกฎหมายการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน และให้ชะลอการยกร่างกฎหมายดังกล่าว โดยมีนายจีรศักดิ์ สุคนธชาติรองปลัด รง.เป็นตัวแทนรับหนังสือ
นางสมบุญ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในช่วงสุญญากาศทางการเมืองเครือข่ายแรงงานเห็นว่ากระทรวงเร่งรัดดำเนินการในเรื่องการออกกฎหมายจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯ จนเกินไป โดยได้ยกเลิกคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมายการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยฯชุดเดิม และแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯชุดใหม่ขึ้นมา โดยมีคำสั่งแต่งตั้งเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยสัดส่วนคณะอนุกรรมการฯชุดใหม่มีตัวแทนฝ่ายรัฐ 10 คน นายจ้างและลูกจ้างฝ่ายละ 3 คน และนักวิชาการ 4 คน ตัวแทนเครือข่ายผู้ป่วยจากการทำงาน 1 คน ซึ่งทุกคนมีสิทธิออกเสียงลงมติร่างกฎหมายจัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัย
นางสมบุญ กล่าวอีกว่าหากสัดส่วนคณะอนุกรรมการฯไม่สมดุลเช่นนี้ จะทำให้การออกกฎหมายเป็นไปแบบวิชาการและติดอยู่ในกรอบของระบบราชการไม่สอดคล้องกับความต้องการของแรงงานที่อยากให้มีความคล่องตัว จึงขอให้กระทรวงแรงงานยกเลิกการแต่งตั้งอนุกรรมการฯเพื่อปรับสัดส่วนของทุกฝ่ายให้สมดุล และชะลอการยกร่างกฎหมายดังกล่าวโดยให้ รมว.แรงงานคนใหม่มาพิจารณาเรื่องนี้
“เครือข่ายผู้บาดเจ็บจากการทำงานอยากให้สถาบันความส่งเสริมความปลอดภัยฯ คล่องตัว ไม่ยึดติดกับระบบราชการ ดูแลทั้งการป้องกันและส่งเสริมความปลอดภัยในการทำงาน ไม่ใช่ชดเชยความเสียหายให้แก่แรงงานเท่านั้น มีศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ และนำดอกผล 20% จากกองทุนเงินทดแทนมาใส่เป็นเงินกองทุนส่งเสริมความปลอดภัยฯ และคณะกรรมการฯก็ควรมาจากการสรรหาแล้วเสนอ รมว.แต่งตั้งโดย ประธานคณะกรรมการมีความเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมความปลอดภัยฯ” นางสมบุญ กล่าว
ด้าน นายจีรศักดิ์ กล่าวว่า จะนำหนังสือคัดค้านนี้ไปเสนอต่อนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แต่หากดำเนินการไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ ก็จะนำเสนอต่อ รมว.รง.คนใหม่ ส่วนกรณีเครือข่ายแรงงานเห็นว่าสัดส่วนคณะอนุกรรมการยกร่างกฎหมายฯ ที่ตนได้ลงนามแต่งตั้งไปเมื่อวันที่ 26 ก.ค.ที่ผ่านมาขาดความสมดุลระหว่างฝ่ายรัฐ นายจ้างและลูกจ้างนั้น จะเสนอต่อคณะกรรมการความปลอดภัยฯให้พิจารณาว่าควรจะมีการปรับให้สัดส่วนของแต่ละฝ่ายมีความสมดุลหรือไม่ .