นักศึกษากับการกระจายอำนาจ...และ "ปัตตานีมหานคร" ไม่ใช่ "นครปัตตานี"
แม้จะเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล แต่สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ยังเข้มข้น ทั้งในมิติของการก่อเหตุรุนแรง ไม่ว่าจะเกิดจากฝีมือกลุ่มก่อความไม่สงบ หรือกลุ่มอิทธิพลค้าของผิดกฎหมายตามที่ฝ่ายทหารพยายามสื่อสารกับสังคมก็ตาม ขณะที่อีกด้านก็มีความเคลื่อนไหวในมิติ "เวทีวิชาการ" อย่างคึกคัก เพื่อผลักดันให้เกิดการกระจายอำนาจ ตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นแบบพิเศษรูปแบบใหม่
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่หอประชุมคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี (ม.อ.) ได้มีการเสวนาวิชาการเรื่อง “ปัตตานีมหานคร” ตอน “บทบาทของนักศึกษากับการกระจายอำนาจ” โดยเครือข่ายภาคประชาสังคมทั้งในและนอกพื้นที่ ประกอบด้วย เครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ คณะกรรมการภาคประชาสังคมชายแดนใต้ สถานวิจัยความขัดแย้งและความหลากหลายทางวัฒนธรรม ม.อ.ปัตตานี และสำนักสันติวิธีและธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า
วิทยากรที่ร่วมบรรยายได้แก่ นายมันโซร์ สาและ รองประธานมูลนิธิวัฒนธรรมอิสลาม นายสมชาย กุลคีรีรัตนา ประธานชมรมคุ้มครองผู้บริโภคด้านฮาลาล และ นายอุดม ปัตนวงศ์ กรรมการการเลือกตั้งประจำจังหวัดยะลา โดยเนื้อหาส่วนใหญ่มุ่งเน้นไปที่ประเด็น "กระจายอำนาจ" ซึ่งหมายถึงการจัดสรรหรือแบ่งปันอำนาจการตัดสินใจอันเกี่ยวข้องกับกิจการสาธารณะของรับบาลส่วนกลางไปยังหน่วยงานหรือองค์กรอื่น และประเด็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของการปกครองตนเองในระดับท้องถิ่นของไทย
อ้างฝรั่งบอกไทยปกครองแบบ"เมืองขึ้น"
นายมันโซร์ เปิดประเด็นเป็นคนแรกด้วยการบอกเล่าถึงการขับเคลื่อนเรียกร้องให้มีการกระจายอำนาจเพิ่มขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
"เรื่องนี้ยังเป็นกระแสที่ไม่หลุดหายไปจากสื่อและมีการถกเถียงกันในหลายวงการ รวมทั้งเป็นสิ่งที่รัฐบาลชุดใหม่ (หมายถึงว่าที่รัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทย) แถลงไว้ในนโยบายช่วงหาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่คาดหวังเป็นอย่างมาก"
นายมันโซร์ กล่าวต่อว่า เมื่อพูดถึงการกระจายอำนาจหรือเขตปกครองตนเอง ต้องพูดถึงโครงสร้างของรัฐไทยที่ไม่เตยตกเป็นเมืองขึ้นของใคร เมื่อก่อนรัฐไทยปกครองโดยระบบเป็นเทศาภิบาล และแบ่งเป็นมณฑล ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มี 7 หัวเมืองมลายู ซึ่งรูปแบบนี้ทุกภาคก็มีเหมือนๆ กัน โดยให้อำนาจส่วนหนึ่งกับคนในพื้นที่เพื่อปกครองตัวเอง
แต่ต่อมาภายหลังมีการจัดรูปการปกครองใหม่ แบ่งเป็นจังหวัด ระบบเจ้าเมืองถูกยกเลิก อำนาจอยู่ที่กรุงเทพฯ ซึ่งฝรั่งบอกว่าประเทศไทยปกครองแบบเมืองขึ้น กดประชาชนของตนเอง เพราะศูนย์รวมอำนาจอยู่ที่กรุงเทพฯ สิทธิพิเศษอยู่ที่นั่นเกือบทั้งหมด
"สิ่งที่เกิดขึ้นตลอดมาเหมือนกับที่ท่านอานันท์ ปันยารชุน (อดีตนายกรัฐมนตรี และประธานคณะกรรมการปฏิรูป) พูดว่า 'จะให้ประเทศไทยเดินไปข้างหน้า ต้องตัดอำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดออกไป' ซึ่งเรื่องนี้กลายเป็นกระแส เพราะผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นตัวแทนของรัฐบาลกลาง ขณะที่ในท้องถิ่นเรามีการเลือก อบจ. (องค์การบริหารส่วนจังหวัด) แต่อำนาจหลักยังอยู่ที่ผู้ว่าฯ แล้วจะตอบโจทย์ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ได้อย่างไร" เขาตั้งคำถาม
"ปัตตานีมหานคร" ไม่ใช่ "นครปัตตานี"
นายมันโซร์ บอกอีกว่า ด้วยโครงสร้างที่บูดเบี้ยวอย่างที่เป็นอยู่ เป็นประเด็นที่คนรุ่นใหม่ต้องคิดต่อว่า ร้อยกว่าปีกับระบบอย่างนี้สมควรที่จะมีอยู่อีกหรือไม่ หากการรวมศูนย์อำนาจยังเป็นเช่นนี้จะทำอย่างไร การขับเคลื่อนของเครือข่ายภาคประชาสังคมเป็นเพียงกลไกปลุกให้ขยับเพื่อสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของเราเอง
"เราสู้มา 2 ปี เมื่อพรรคเพื่อไทยพูดเรื่องนี้ว่าจะสนับสนุนการกระจายอำนาจมากกว่า ศอ.บต. (ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้) ทำให้พวกเรามีความหวัง แต่โครงสร้างของปัตตานีมหานคร (โมเดลที่เสนอโดยเครือข่ายภาคประชาสังคม) ไม่เหมือนกับนครปัตตานี (โมเดลที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทย) เพราะมีสาระไม่เหมือนกัน เราสู้เพื่อให้รัฐบาลยอมรับ และเคลื่อนไหวโดยมีทิศทางไปข้างหน้า มีโครงสร้างเพื่อท้องถิ่น ทุ่มศักยภาพเพื่อให้มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สำหรับพื้นที่ชายขอบ กำจัดมรดกทางการเมืองที่เป็นการเมืองระบบครอบครัวซึ่งทำให้คนดีไม่มีโอกาสทำงานการเมืองให้หมดไป เป็นประเด็นที่เราต้องการทำลายระบบนี้ แล้วเปลี่ยนเป็นระบบซูรอ (ทำประชาคมแบบอิสลาม) แทน”
ปัญหาสารพัด-โครงสร้างปัจจุบันแก้ไม่ได้
ด้าน นายอุดม กล่าวว่า ปัญหาในสามจังหวัดมีการพูดกันทุกวงการ แต่เป็นคนนอกพื้นที่ สำหรับนักศึกษาซึ่งเป็นคนในพื้นที่ต้องเข้าใจประเด็นถึงจะช่วยแก้ปัญหาได้
“ประชาชนในพื้นที่นี้มีความแตกต่างจากคนพื้นที่อื่นของประเทศไทย หลายปีที่ผ่านมาเราต้องอยู่ท่ามกลางความหวาดผวา เรามีความแตกต่างเป็นอัตลักษณ์ของคนมลายูที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้หลายประการ คือ หนึ่งความเป็นชนชาติมลายู สองภาษามลายูซึ่งถูกกดทับมาตลอด เราไม่มีโอกาสเรียนภาษามลายูในโรงเรียนของรัฐซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน สามการนับถือศาสนาอิสลาม สี่ขนบธรรมเนียมประเพณี และห้าประวัติศาสตร์มลายูมุสลิมปัตตานี ซึ่งมีการพูดว่าการจะดับไฟใต้ต้องดับไฟประวัติศาสตร์”
นายอุดม กล่าวต่อว่า ปัญหาในพื้นที่นี้มีทุกอย่าง ตั้งแต่ปัญหาปากท้อง ประมงชายฝั่ง โจรผู้ร้าย ยาเสพติด ของเถื่อน ความอยุติธรรม โดยเฉพาะปัญหายาเสพติดซึ่งทำลายสังคมมุสลิมอย่างร้ายแรง แต่รัฐยังไม่มีมาตรการจัดการขั้นเด็ดขาด เป็นปัญหาภาพรวมที่อดทนมาตลอด ปัญหาร่วมสมัยก็มีมาก แต่ไม่มีใครแก้ไขได้ ใครจะมาปกป้องชีวิตและทรัพย์สินของพวกเรา
"ประเด็นเจ็บปวดมากที่สุดคือ ฝ่ายความมั่นคงฟันธงว่าเป็นการแบ่งแยกดินแดน จึงส่งกำลังทหารลงมาในพื้นที่เกือบแสนคน ทุ่มงบประมาณลงมาเป็นแสนล้าน แต่ก็แก้อะไรไม่ได้ ใช้กฎหมายทั้ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) กฏอัยการศึก (พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457) ซึ่งมีแต่ปัญหาเพิ่มขึ้น ทั้งที่ควรใช้วิธีนุ่มนวล"
นายอุดม เสนอว่า การแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ต้องแก้ไขที่การปฏิรูปโครงสร้างโดยการเคลื่อนไหวของคนในพื้นที่เอง ดังเช่นการเคลื่อนไหวเรื่อง "ปัตตานีมหานคร" เป็นการเคลื่อนไหวของประชาชน แต่จะสำเร็จหรือไม่เป็นสิ่งที่อัลลอฮ์ทรงรับรู้
รวมศูนย์อำนาจทำลายภูมิปัญญาท้องถิ่น
ขณะที่ นายสมชาย ซึ่งมีพื้นเพเป็นคนเชียงราย แต่ทำธุรกิจใน จ.ยะลา มาหลายปีแล้ว บอกว่า คนทางภาคเหนือก็มีปัญหาเหมือนคนชายแดนใต้ คืออัตลักษณ์ถูกทำลายทั้งที่อยู่กันมานานกว่า 700 ปี
“คนที่นั่นมีภูมิปัญญามากมาย แต่ตอนนี้ต้องพึ่งพาหมีแพนด้าหลินปิง และต้องต่อสู้กับแผนพัฒนาต่างๆ การรวมศูนย์อำนาจทำให้ตัวหนังสือท้องถิ่นและชนเผ่าหายไป ทั้งที่หลายประเทศเขารักษาชนเผ่า โครงสร้างของเราเป็นสามเหลี่ยมหัวกลับที่ไม่มั่นคง ฉะนั้นการออกแบบการปกครองควรเป็นกระจกหลายสี" นายสมชาย กล่าว
จากข้อเสนอปฏิรูปประเทศไทย ซึ่งจัดทำโดยคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ชุดที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน มีคณะกรรมการ 19 คน ทำงานมา 10 เดือน ใช้งบประมาณไป 13 ล้านบาท ได้ข้อเสนอ 2 เรื่องใหญ่คือ หนึ่งการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และสองการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจ โดยการรวมศูนย์อำนาจเป็นสาเหตุของ 5 เรื่องหลักคือ 1.ท้องถิ่นอ่อนแอ จัดการตัวเองไม่ได้ 2.เกิดความขัดแย้งระหว่างอำนาจรวมศูนย์กับอำนาจท้องถิ่น 3.ระบบราชการสมรรถนะต่ำ คอร์รัปชั่นสูง ทำให้รัฐล้มเหลว 4.แย่งชิงทางการเมืองอย่างรุนแรง และ 5.ทำรัฐประหารได้ง่าย
ปลุกพลังนักศึกษาเปลี่ยนแปลงสังคม
อลิสา หะสาเมาะ หัวหน้าแผนกวิชาพัฒนาสังคม คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.อ.ปัตตานี กล่าวว่า นักศึกษาไม่ใช่เยาวชน แต่เป็นช่วงต้นของการเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสิทธิภาพสามารถทำสิ่งต่างๆ ได้มากมาย เชื่อมั่นว่านักศึกษามีพลังในการเปลี่ยนแปลงโลกและสังคม
“การกระจายอำนาจเป็นโอกาสในการทำงานเพื่อสังคม ให้คนในพื้นที่ซึ่งมีบริบทเดียวกันได้มีโอกาสปรับปรุง พัฒนา บริหารบ้านเมืองอย่างที่อยากจะเป็น เมื่อพูดถึง ‘ปัตตานีมหานคร’ ต้องคำนึงถึงความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ภาษา วัฒนธรรม การกระจายอำนาจมีเรื่องราวอีกมากมายที่ต้องคิด เป็นพันธะผูกพันที่เยาวชนจะต้องนำพาสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้นให้ได้” อลิสา กล่าว
สำหรับบทบาทของนักศึกษาที่เข้าร่วมเวที ได้มีการซักถามและเสนอแนะในสิ่งที่พวกเขาใฝ่รู้ในหลายประเด็น อาทิ สถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่ ปัญหาของกระบวนการยุติธรรม นโยบายชาตินิยมของรัฐไทยทำให้เรื่อง “ชาติ” แตะต้องไม่ได้ และมีการแสดงความรู้สึกสิ้นหวังที่จะก้าวข้ามความรุนแรงที่เกิดขึ้น เพราะรัฐไม่เปิดโอกาสให้คนพื้นที่ได้คิดและทำ ที่สำคัญคือคนนอกพื้นที่มีทัศนคติคับแคบ ไม่เข้าใจปัญหา ทำให้เกิดความอยุติธรรมต่างๆ
นอกจากนั้นยังมีความเห็นในประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ
- สังคมไทยยังขาดการวิพากษ์วาทกรรม การคิดวิเคราะห์ ควรสนับสนุนให้เกิดเวทีแสดงความคิดเห็น เพื่อหาทางออกในเรื่องต่างๆ อย่างตกผลึก
- สังคมไทยยังยอมรับระบบรัฐปกครอง สยบยอมต่อสิ่งต่างๆ ที่มีมา
- การขับเคลื่อนเรื่องกระจายอำนาจส่วนใหญ่ยังเป็นไปโดยกลุ่มปัญญาชน อยากให้ชาวบ้านรากหญ้าเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
- หาก “ปัตตานีมหานคร” เกิดขึ้นจริง กังวลว่าอำนาจจะตกอยู่กับชนชั้นนำมากกว่าคนส่วนใหญ่
- คนส่วนน้อยในพื้นที่จะมีที่ยืนอย่างไร
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------
เชิงอรรถ - รู้จัก "ปัตตานีมหานคร"
ข้อมูลจากการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นในรูปแบบเวทีสาธารณะกระจายไปทุกอำเภอของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ และสี่อำเภอของ จ.สงขลา โดยเครือข่ายประชาชนเพื่อพัฒนาการมีส่วนร่วมทางการปกครองในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และองค์กรสนับสนุน ตั้งแต่ปี 2552 จนถึงเดือน ม.ค.2554 รวมทั้งสิ้น 49 เวที มีผู้เข้าร่วมเวทีประมาณ 1,427 คน ได้ข้อสรุปเป็นรูปแบบและโครงสร้างการปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ดังนี้
ผู้ว่าราชการปัตตานีมหานคร
มีอำนาจในการบริหารและกำหนดนโยบาย มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนด้วยเสียงเกินกึ่งหนึ่ง มีวาระ 4 ปี มีรองผู้ว่าฯ เป็นคนไทยพุทธไม่น้อยกว่า 1 ใน 3
ปลัดปัตตานีมหานคร
มาจากการแต่งตั้งโดยผู้ว่าฯ ทำหน้าที่บริหารราชการประจำตามนโยบาย
ผู้อำนวยการเขต
มีจำนวน 37 คน มาจากการแต่งตั้งโดยผู้ว่าฯ ทำหน้าที่ประสานงานกับสภาเขต
หัวหน้าแขวง
มีจำนวน 290 คน มาจากการแต่งตั้งโดยผู้ว่าฯ ทำหน้าที่ประสานงานกับสภาเขต กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน
สภาปัตตานีมหานคร
มีจำนวน 31 คน มาจากการเลือกตั้งตามเขตพื้นที่ 25 คน และกลุ่มผู้นับถือศาสนาพุทธ 3 คน ศาสนาอื่น 1 คน สตรี 1 คนและผู้พิการ 1 คน ทำหน้าที่เสนอและพิจารณาข้อบัญญัติ ตั้งกระทู้ถาม และตั้งคณะกรรมการด้านต่างๆ
สภาเขต
มีจำนวนอย่างน้อยเขตละ 7 คน มาจากการเลือกตั้งตามเขตพื้นที่ มีหน้าที่จัดทำแผนพัฒนาเขต จัดสรรงบประมาณพัฒนาเขต
สภาประชาชน
มีจำนวน 51 คน มาจากการเลือกตั้งของกลุ่มอาชีพ กลุ่มวัฒนธรรม องค์กรประชาสังคมที่จดแจ้งกับปลัดปัตตานีมหานคร ทำหน้าที่เสนอแนะ ตรวจสอบ ประเมินผลการดำเนินงานของผู้ว่าฯ และสมาชิกปัตตานีมหานคร พร้อมจัดทำรายงานประจำปี เสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิต่อสภาปัตตานีมหานครเพื่อเป็นกรรมาธิการด้านต่างๆ ในการพิจารณาดำเนินงานของสภาปัตตานีมหานคร แนะนำรายชื่อผู้ที่สภาเห็นว่ามีความเหมาะสมจะลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ ด้วยกระบวนการปรึกษาหารือ
คณะผู้แทนส่วนกลาง
ทำหน้าที่ประสานงานและแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับปัตตานีมหานคร กำกับดูแลการบริหารให้เป็นไปตามกฎหมายและมาตรฐานกลาง ให้คำปรึกษาในแง่ของข้อกฎหมายและระเบียบต่างๆ มีจำนวน 22 คน จากผู้แทนกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
คณะผู้อาวุโสทางจริยธรรม
มีจำนวน 15 คน มาจากการเลือกตั้งของผู้นับถือศาสนาอิสลามที่จบการศึกษาระดับซานาวีขึ้นไป ทำหน้าที่วินิจฉัยหลักการอิสลามตามที่ผู้ว่าฯ หรือประธานสภาฯ ร้องขอ ซึ่งคำวินิจฉัยดังกล่าวต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของศาสนิกอื่นและไม่ขัดต่อบทบัญญัติตามกฎหมาย