นักวิชาการ เปิดประเด็น “บัตรเครดิตชาวนา” ทำลายเกษตรอินทรีย์
เวทีเกษตรอินทรีย์อาเซี่ยน เตรียมเปิดตัวระบบรับรองมาตรฐานสินค้าออกานิคสู่สากล สร้างความเชื่อมั่น-เพิ่มอำนาจต่อรองเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาค นักวิชาการวิพากษ์ “บัตรเครดิตชาวนา” ส่งเสริมใช้ปุ๋ยเคมี ทำลายระบบเกษตรที่เป็นมิตรกับผู้ผลิต-ผู้บริโภค-สิ่งแวดล้อม
เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงแรมรามาการ์เด้นท์ สำนักงานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) จัดสัมมนาระหว่างประเทศ เรื่องการเสริมสร้างความยั่งยืนด้านเกษตรอินทรีย์ในภูมิภาคอาเซี่ยน โดยมีตัวแทน 9 ประเทศเข้าร่วม ได้แก่ ไทย ลาว เวียดนาม พม่า สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย
รศ.ดร.ชยาพร วัฒนศิริ ประธานกรรมการบริหารสำนักงานเกษตรอินทรีย์ (เอซีที) เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า การประชุมกันครั้งนี้เป็นการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมอาเซี่ยน เพื่อส่งเสริมการดำเนินงานด้านมาตรฐานและการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ภายในภูมิภาคเอเชีย ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล หรือ Asia Regional Organic System หรือ AROS ซึ่งจะช่วยขยายตลาดทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชีย
“ที่ผ่านมากลุ่มประเทศที่มีอำนาจซื้อ เช่น อียู(สหภาพยุโรป) มีบทบาททางการตลาดมากเกินไป เช่น กำหนดมาตรฐานสูงเกินไป กลุ่มผู้ผลิตที่แท้จริงต้องร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็ง สร้างเครือข่ายกันพัฒนาระบบรับรองมาตรฐานที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ และเป็นจริง เพื่อสร้างอำนาจการต่อรองทางการค้า”
ประธานเอทีซี กล่าวต่อว่า กระบวนการดังกล่าวต้องอาศัยความรู้ความเข้าใจพื้นฐานที่ตรงกันก่อน เพราะ AROS จะเป็นการตรวจรับรองมาตรฐานทุกขั้นตอน ตั้งแต่พื้นที่การเพาะปลูก สภาพแวดล้อม ขั้นตอนต่างๆ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้ ภายหลังจากการประชุมหาแนวทางจนได้มาตรฐานทุกขั้นตอนแล้ว จะเปิดตัวในงานออกานิกแฟร์ ที่ประเทศเยอรมันซึ่งถือเป็นการประกาศตัวในเวทีระดับโลก
“การรับรองสินค้าเกษตรอินทรีย์ในเมืองไทยมี 2 ส่วนคือกรมวิชาการเกษตรหรือ “ออกานิกไทยแลนด์” รับรองเฉพาะภายในประเทศ และมาตรฐานเกษตรอินทรีย์(มกท.)รับรองโดย IFOAM (International Federation of Organic Agriculture Movements) และ มกอช. สามารถส่งออกต่างประเทศ รับรองให้กับบริษัทขนาดใหญ่และการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อยที่ประสบความสำเร็จ เช่น การส่งข้าวไปยุโรป”
รศ.ดร.ชยาพร ยังกล่าวว่า มกท. ยังรับรองมาตรฐานสินค้าออกานิกให้กับประเทศสมาชิกด้วย ได้แก่ ลาว พม่า เวียดนาม เขมร อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเนปาล แต่ยังเป็นมาตรฐานระดับประเทศอยู่ ซึ่งหากมีมาตรฐาน AROS จะช่วยให้สินค้ามีความน่าเชื่อถือมากขึ้น ซึ่งผู้ได้รับประโยชน์หลักคือกลุ่มเกษตรที่ได้รับมาตฐานจาก มกท. อยู่แล้วเพราะ AROS เป็นมาตรฐานในการเทียบเคียงกับระดับสากล และฝากรัฐบาลให้สนับสนุนเกษตกรให้หลากหลายกว่านี้
ประธานกรรมการบริหารสำนักงานเกษตรอินทรีย์ ยังกล่าวถึงนโยบายประชานิยมบัตรเครดิตชาวนาของว่าที่รัฐบาลใหม่ว่า เป็นการสนับสนุนให้เกษตรกรใช้สารเคมีอย่างแพร่หลาย และทำลายระบบเกษตรอินทรีย์ปลอดสารที่เป็นมิตรกับเกษตรกร ผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม
“บัตรเครดิตชาวนาเป็นการสนับสนุนให้ใช้เคมีอย่างแพร่หลาย ไม่ก่อประโยชน์อย่างแท้จริง เพราะการให้ความรู้เกษตกรยังไม่มี เช่น การสารเคมีที่ถูกวิธี ใส่แค่ไหน เท่าไหร่ ไม่ให้ตกค้างในดินและผลผลิต ไม่เคารพสิทธิผู้บริโภคด้วย กลุ่มที่มีศักยภาพหรือกำลังตั้งหลักอยู่ก็อาจจะเปลี่ยนใจไปใช้สารเคมีแบบเดิมเพราะได้รับการสนับสนุน การพัฒนาอย่างแท้จริงเกษตรกรควรจะพึ่งพาตัวเองได้ และมีความรู้ความเข้าใจ มากกว่าการรอคอยความช่วยเหลือ” ประธานเอทีซี กล่าว .