ศาลทวายนัดพิจารณาคดี 29 พ.ค. ชาวบ้านร้องบ.เหมืองพ่ออดีต รมต.
ศาลทวายรับฟ้องคดีชาวบ้านต่อต้านเหมืองตะกั่วตระกูล "ชวาลตันพิพัทธ์" สร้างผลกระทบในพื้นที่น้ำปนเปื้อน-แม่น้ำแห้งขอด หน้าฝนเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ นัดพิจารณาครั้งแรก 29 พ.ค. นี้
วันที่ 27 พฤษภาคม 2557 ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับรายงานจากสมาคมพัฒนาทวายซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ตรวจสอบโครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวายและติดตามสถานการณ์การทำเหมืองแร่ของบริษัทสัญชาติไทย ในพม่า ระบุว่า วันนี้ ศาลทวายรับฟ้องกรณีบริษัทเมียนมาร์พงษ์พิพัทธ์ของไทย และกรมกิจการเหมืองแร่ ลำดับ 2 สังกัดกระทรวงเหมืองแร่ของพม่า ผู้ประกอบกิจการเหมืองแร่เฮ็นดาในทวาย ก่อผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ คดีดังกล่าวมีกลุ่มนักกฎหมายทวาย (Dawei Lawyer Group – DLG) ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดทวายในนามของชาวบ้าน 9 คน เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายต่อทรัพย์สิน และศาลได้นัดให้มีกระบวนพิจารณาคดีครั้งแรกในวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 ที่จะถึงนี้
รายงานจากสมาคมพัฒนาทวายระบุว่า เหมืองเฮ็นดา ตั้งอยู่ในบริเวณรอยต่อหมู่บ้านเฮ็นดาและเมียวพิว เมืองมยิตตา จังหวัดทวาย แคว้นตะนาวศรี หนึ่งในเหมืองที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศพม่า ดำเนินการโดย บริษัท เมียนมาร์พงษ์พิพัทธ์ บริษัทไทยที่จดทะเบียนในพม่า ภายใต้ความร่วมมือกับกรมกิจการเหมืองแร่ ลำดับ 2 สังกัดกระทรวงเหมืองแร่ ประเทศพม่า โดยโครงการเหมืองดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจของชุมชน
ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรารายงานว่า จากการลงพื้นที่สำรวจเหมืองเฮ็นดา เมื่อเร็วๆ นี้ ได้รับการเปิดเผยจากชาวบ้านเมียวพิวที่ได้รับผลกระทบว่าการทำเหมืองของ บ.เมียนมาร์พงษ์พิพัทธ์ ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิต ทำให้แม่น้ำเหือดแห้ง และเมื่อชาวบ้านขุดลึกลงไปใต้ดิน น้ำที่นำมาอุปโภคบริโภคก็มีสีและกลิ่นคล้ายตะกั่ว และมีเด็กหญิงในหมู่บ้านที่เริ่มมีแผลพุพองตามร่างกาย ซึ่งชาวบ้านยังไม่แน่ใจว่า อาจจะเกิดจากสารพิษในการทำเหมืองที่ปนเปื้อนมากับน้ำที่ชาวบ้านใช้หรือไม่ นอกจากนี้ การทำเหมืองที่มีการขุดหน้าดินและนำมากองทับถม จนปิดกั้นเส้นทางน้ำ ยังส่งผลกระทบทำให้เมื่อถึงหน้าฝน เกิดน้ำท่วมหมู่บ้านครั้งใหญ่
ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองระบุว่า ปี ค.ศ. 2012 ( พ.ศ. 2555 ) เกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่ ท่วมนานถึง 11 วัน และท่วมสูงถึงคอ
นายอี ไจ ซึ่งเป็นชาวบ้านเมียวพิวนำผู้สื่อข่าวไปที่บ้านของเขาที่ยังมีน้ำท่วมขัง และกล่าวว่าน้ำที่ท่วมสูงในปีถัดมาคือปี 2013 ( พ.ศ. 2556 ) ก็ยังท่วมหนักเช่นกัน จนส่งผลให้ในปัจจุบัน น้ำก็ยังท่วมขังอยู่ในบ้านของเขา
ด้าน ตาน เวย ผู้ใหญ่บ้านเมียวพิว ซึ่งเป็นหนึ่งในชาวบ้านที่ยื่นฟ้องต่อศาลทวายขอความเป็นธรรมที่เหมืองสร้างผลกระทบให้แก่ชาวบ้าน ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศราว่า วิถีชีวิตของคนที่นี่ ผูกพันกับแม่น้ำเฮ็นดา ที่ตั้งแต่เล็กจนโต เขาก็ได้อาศัยแม่น้ำนี้ จับปลาจับกุ้ง ซึ่งแม้ในอดีต จะเคยมีชาวตะวันตกคืออังกฤษมาทำเหมืองที่นี่ในยุคอาณานิคม แต่ก็ไม่เคยมีการขุดหน้าดิน นำกองดินที่ขุดมาทับถมและปิดกั้นเส้นทางน้ำจนแม่น้ำเหือดแห้งเช่นในปัจจุบันนี้
ขณะที่ นางตอเตเลาะ ที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วมครั้งใหญ่ และประสบกับปัญหาน้ำดื่ม น้ำใช้ไม่สาะอาด และรู้สึกไม่ปลอดภัยจากการใช้น้ำอุปโภคบริโภค กล่าวกับผู้สื่อข่าวอิศราว่า การทำเหมืองที่ไม่รับผิดชอบต่อชีวิตของผู้คนเช่นนี้ “ทำให้เรารู้สึกว่าบริษัทเหมืองของไทย ทำเหมือนเราไม่ใช่คน” นางตอเตเลาะ ระบุ
รายงานจากสมาคมพัฒนาทวายระบุด้วยว่า ปี พ.ศ. 2542 เมื่อบริษัทเมียนมาร์พงษ์พิพัทธ์ เริ่มเข้ามาดำเนินการเหมืองตะกั่ว แม่น้ำ ลำธาร ก็เริ่มตื้นเขิน พืชและสัตว์หลายชนิดเริ่มสูญหายไป พืชผลทางการเกษตร บ้านเรือน บ่อน้ำ วัดและเจดีย์ซึ่งเป็นศาสนสถานเก่าแก่ ถูกทำลายอันเนื่องมาจากการปล่อยทิ้งของเสียที่เป็นพิษและดินตะกอนลงมาตามลำน้ำอย่างไร้ระบบและไร้ความรับผิดชอบ
จากนั้น ปี พ.ศ. 2555 ได้เกิดน้ำท่วมทะลักครั้งใหญ่ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือน พืชผลทางการเกษตร และแหล่งน้ำตามลำน้ำมองเพียว ซึ่งปัจจุบันที่ดินและแหล่งน้ำของหมู่บ้านถูกทับถมด้วยของเสียและดินตะกอนที่มาจากเหมือง ผลจากการทดสอบน้ำจากแหล่งน้ำในหมู่บ้านพบว่า น้ำจากสองในสามแหล่งไม่ปลอดภัยสำหรับการบริโภค โดยพบสารหนู และสารตะกั่ว ในระดับสูงเกินกว่าค่าสูงสุดที่กำหนดโดยองค์การอนามัยโลก
รายงานจากสมาคมพัฒนาทวาย ระบุว่า บริษัทเมียนมาร์ พงษ์พิพัทธ์ ( Myanmar Pongpipat Co., Ltd.) มีที่ตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่ 57(B-1), Shwe Hinn Tha St., 6 1/2 Mile, Pyay Rd., Hlaing T/S., Yangon,Myanmar
กรรมการผู้จัดการและเจ้าของบริษัทชื่อนาย เกรียงไกร ชวาลตันพิพัทธ์ ( Mr. Kriangkrai Chavaltanpipat )
ประเภทธุรกิจ เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนในต่างประเทศ FCO (Foreign Company )
นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ข้อมูลจากสำนักข่าว THE NEW LIGHT OF MYANMAR เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ.2542 ( 1 July 1999 ) เผยแพร่ข่าว Deputy Prime Minister meets President of Myanmar Pongpipat Co
ใจความสำคัญตอนหนึ่ง ระบุว่า เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 1999 หม่อง หม่อง ขิ่น รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเมียนมาร์ ในฐานะประธานการลงทุน และนายอู มิน เต็ง พบปะหารือกับ นายสมพงษ์ ชวาลตันพิพัทธ์ ประธานบริษัทเมียนมาร์ พงษ์พิพัฒน์ และคณะ ในการแถลงข่าวร่วมกันถึงความร่วมมือในการลงทุนทำเหมืองในเมียนมาร์
รายละเอียดของข่าวระบุว่า“YANGON, 30 June – Deputy Prime Minister and Chairman of Myanmar Investment Commission Vice-Admiral Maung Maung Khin met President of Myanmar Pongpipat Co Ltd Mr Sompong Chavaltanpipat and party who called at his office at 3 pm today.
Also present on the occasion were Minister at the State Peace and Development Council Chairman's Office and Secretary of MIC Brig-Gen Maung Maung, Deputy Minister for Mines U Myint Thein and officials.
They discussed bilateral co-operation in mining sector and investment opportunities in Myanmar. “
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบข้อมูลธุรกิจของนายสมพงษ์ ชวาลตันพิพัทธ์ จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ไม่พบชื่อบริษัทจดทะเบียนในนาม เมียนมาร์พงษ์พิพัทธ์ แต่พบชื่อบริษัทพงษ์พิพัทธ์ เหมืองแร่จำกัด ( PONGPIPAT MINING CO.,LTD.) ( เดิมจดทะเบียนในชื่อบริษัทพงษ์พิพัทธ์ขนส่งจำกัด ) มีที่ตั้งอยู่ที่ 90 หมู่ที่ 1 ตำบลทรายแดง อำเภอเมืองระนอง จังหวัดระนอง 85130 จดทะเบียนเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2539 ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท ประเภทกิจการ บริษัทจำกัด ประกอบธุรกิจ รับจ้างบรรทุกทางบก ปัจจุบัน ยังเปิดดำเนินกิจการ อยู่
กรรมการบริษัทประกอบด้วย นายสมพงษ์ ชวาลตันพิพัทธ์ สัดส่วนการถือหุ้น 35% จำนวนหุ้นที่ถือ 35,000 หุ้น ราคาหุ้นละ 10 บาท มูลค่าหุ้นทั้งหมด 350,000 บาท
นางศิริมา ชวาลตันพิพัทธ์ สัดส่วนการถือหุ้น 35% จำนวนหุ้นที่ถือ 35,000 หุ้น 350,000 บาท
นางวิมลลักษณ์ พรรณรัตนพงศ์ สัดส่วนการถือหุ้น 30% จำนวนหุ้นที่ถือ 30,000 หุ้น 300,000 บาท
ผู้มีอำนาจที่ 1 นาย สมพงษ์ ชวาลตันพิพัทธ์ ส่วนอำนาจกรรมการ ให้กรรมการคนใดคนหนึ่งลงลายมือชื่อและ ประทับตราสำคัญของบริษัท
ทั้งนี้นายสมพงษ์เป็นบิดาอดีตรัฐมนตรีคนหนึ่งในยุครัฐบาลประชาธิปัตย์