อดีตทหารวิพากษ์ "การเมืองนำการทหาร" ไม่เวิร์ค! - ปกครองพิเศษเร็วไป!
ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ปะทุความรุนแรงรอบใหม่ในรูปแบบการก่อเหตุร้ายรายวันที่ยืดเยื้อยาวนานมากว่า 7 ปี ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึง “ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้” ว่าถูกต้องตรงตามสมมติฐาน ถูกทิศถูกทาง และถูกฝาถูกตัว ตามที่รัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงกล่าวอ้างมาตลอดหรือไม่
ยิ่งในช่วงของการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลจากพรรคประชาธิปัตย์ไปสู่ยุคของพรรคเพื่อไทย ซึ่งนโยบายดับไฟใต้ (ที่ใช้ประกาศหาเสียงเลือกตั้ง) สวนทางกันอย่างสิ้นเชิงนั้น ยิ่งทำให้สังคมเฝ้าจับตาว่าทิศทางของการหยุดยั้งความขัดแย้งและความรุนแรง ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวานจะพลิกเปลี่ยนไปเช่นไร
ประเด็นน่าสนใจอยู่ตรงที่ความเห็นของอดีตนายทหารระดับสูงที่เคยเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกับยุทธศาสตร์ดับไฟใต้มากที่สุดคนหนึ่ง กลับมองว่า ยุทธศาสตร์ “การเมืองนำการทหาร” ที่บางคนท่องเป็นอาขยานเสมือนเป็นสูตรสำเร็จของการแก้ไขปัญหานั้น ไม่น่าจะทำให้สถานการณ์ดีขึ้นได้ดังที่หลายคนคิด
อดีตนายทหารคนที่ว่านี้คือ พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล แม้ชื่อของเขาอาจจะไม่ค่อยโด่งดังติดหูผู้คนส่วนใหญ่ในสังคมนัก แต่เส้นทางชีวิตราชการของเขานับว่าไม่ธรรมดา โดยเฉพาะในส่วนที่ต้องรับผิดชอบกับปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้
พล.อ.ไวพจน์ คืออดีตผู้อำนวยการศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ (สขช.) เคยนำคณะไปเจรจากับกลุ่มบุคคลที่เชื่อว่าเป็นแกนนำขบวนการแบ่งแยกดินแดนในต่างประเทศ และยังเป็นหนึ่งในกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติ (กอส.) ชุดที่มี นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน จัดทำรายงานข้อเสนอดับไฟใต้จนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง แต่ไม่เคยมีรัฐบาลชุดใดหยิบไปปฏิบัติ
พล.อ.ไวพจน์ เคยมีบทสัมภาษณ์ขนาดยาวเมื่อปี พ.ศ.2551 วิพากษ์ทิศทางการทำงานของรัฐบาลและฝ่ายความมั่นคงเอาไว้อย่างเผ็ดร้อนใน “ดีพเซาท์ บุ๊คกาซีน” เล่ม 3 ที่ชื่อ “สงครามความรู้สึก ปม-ลึก-ไฟใต้” ในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้...ในวันที่ยังไร้ยุทธศาสตร์” จัดทำโดยกลุ่มดีพเซาท์วอทช์
เป็นบทวิพากษ์ทั้งๆ ที่เขายังอยู่ในราชการในตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนกลาโหม ก่อนจะก้าวขึ้นเป็นรองปลัดกระทรวงกลาโหม และเกษียณอายุราชการ
วันนี้ พล.อ.ไวพจน์ กลับมาอีกครั้งในห้วงที่ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้กำลังยืนอยู่บน “ทางสามแพร่ง” ในห้วงของการเปลี่ยนผ่านรัฐบาล คือ สานต่อแนวทางเก่า ปรับเปลี่ยนแนวทางใหม่ หรือเดินหน้ากระจายอำนาจเพื่อจัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ...
ดับไฟใต้ต้องใช้ “สังคม” นำ
“ปัญหาภาคใต้นั้น กระบวนการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ยังใช้ของเดิมประเภท Win heart and mind (เอาชนะใจศัตรูโดยใช้ปฏิบัติการข่าวสาร) ซึ่งมันไม่ใช่ สหรัฐต่อสู้กับอิรักอาจจะใช้ได้ เพราะอิรักเป็นศัตรู แต่ของเราไม่ใช่ เพราะคู่ต่อสู้เป็นประชาชน ไม่ใช่ศัตรู” พล.อ.ไวพจน์ เอ่ยในเบื้องต้น
เขาขยายความต่อว่า โจทย์สำคัญของการดับไฟใต้คือจะอยู่ร่วมกันอย่างไร นั่นคือต้องเอาปัญหาสังคมเป็นตัวตั้ง ซึ่งในพื้นที่มีปัญหาเยอะมาก ฉะนั้นต้องแก้ปัญหาสังคมให้ได้ก่อนแล้วค่อยไปคิดเรื่องการเมือง แต่ถ้าเอาการเมืองนำ อย่างที่พูดกันว่า “การเมืองนำการทหาร” ก็จะคิดแต่เรื่องแบ่งแยกดินแดน เรื่องรูปแบบการปกครอง แต่ถ้าเอาสังคมนำ ต้องตอบว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไร จะเดินหน้าไปพร้อมกันอย่างไร แล้วจึงกำหนดเป็นนโยบายยุทธศาสตร์ออกมา
“ปัญหาภาคใต้มีหลายปัญหา หลักๆ คือปัญหาสังคม ฉะนั้นถ้าแก้บางปัญหาให้ดีขึ้นมาได้ ก็จะทำให้ปัญหาโดยรวมดีขึ้น แต่ถ้า Spread out (แก้ปัญหาแบบเหวี่ยงแห คลุมไปทุกเรื่อง) จะแก้อะไรไม่สำเร็จสักอย่าง ผิดทิศผิดทาง และไม่สามารถยกระดับการแก้ปัญหาภาพรวมให้ดีขึ้นได้ ผมคิดว่ายุทธศาสตร์ดับไฟใต้ต้องใช้สังคมนำ ไม่ใช่เศรษฐกิจด้วย แต่เรื่องความมั่นคงกับเศรษฐกิจจะเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อน”
ยุทธศาสตร์หยุดนิ่ง-ไม่ก้าวเดิน
พล.อ.ไวพจน์ วิเคราะห์ถึงการกำหนดยุทธศาสตร์และการแปรยุทธศาสตร์ไปสู่ภาคปฏิบัติในช่วงที่ผ่านมาว่า ในช่วงเริ่มแรกของปัญหาภาคใต้เราใช้กำลังทหารอย่างเดียว ซึ่งภายหลังรู้ว่าผิด ต่อมาจึงปรับยุทธศาสตร์ให้ดีขึ้นด้วยการจำกัดเสรีในการก่อการร้ายหรือก่อความไม่สงบ แต่ยุทธศาสตร์ก็หยุดอยู่แค่นั้น ไม่พัฒนาหรือก้าวเดินต่อไป
“ถ้าเรามองภาคใต้เป็นปัญหาสังคม ยุทธศาสตร์ต้องเปลี่ยนกรอบคิดใหม่หมด ทำอย่างไรให้ฝ่ายที่ใช้อาวุธรู้สึกไม่อยากสู้รบ กระบวนการวางกรอบยุทธศาสตร์ต้องทบทวน เพราะสถานการณ์เปลี่ยนเร็วมาก ใช้ยุทธศาสตร์เดิมไม่ได้อีกแล้ว แต่ที่ผ่านมากระบวนการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ยังยึดติดกับของเดิมชัดเจน และไม่มีการพัฒนากระบวนการ”
“การเมืองนำการทหาร” ใช้ไม่ได้"
ประเด็นที่ พล.อ.ไวพจน์ เน้นย้ำหลายครั้งตลอดการพูดคุยก็คือ ยุทธศาสตร์ที่ใช้อยู่เดิมและสืบเนื่องมาถึงปัจจุบันนั้นใช้ไม่ได้อีกแล้ว ซึ่งนั่นน่าจะหมายถึง “การเมืองนำการทหาร” แต่คำว่า “การเมือง” ของเขาดูจะตีกรอบนิยามอยู่ที่ “การเมือง” แท้ๆ ได้แก่เรื่องการเปลี่ยนความคิดความเชื่อหรืออุดมการณ์ทางการเมือง และการปรับรูปแบบการปกครอง ไม่ได้กินความกว้างไปถึง “การรบโดยไม่ใช้อาวุธ” หรือการลดเงื่อนไขความรุนแรงในมิติต่างๆ ซึ่ง พล.อ.ไวพจน์ มองว่านั่นไม่ใช่เรื่องการเมือง แต่เป็นประเด็นทางสังคม
“ในสมัยคอมมิวนิสต์ เป็นปัญหาอุดมการณ์ทางการเมือง ยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหารจึงถูกนำมาใช้ เช่น คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 66/23 และปัญหาภาคใต้ในปัจจุบันก็ยังใช้ยุทธศาสตร์นี้อยู่ ทั้งๆ ที่ไม่ใช่ปัญหาอุดมการณ์ทางการเมือง แต่เป็นเรื่องทางสังคม ความไม่เป็นธรรม ยาเสพติด อัตลักษณ์ ฉะนั้นยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหารจึงใช้ไม่ได้”
เขายกตัวอย่างถึงวิธีการที่ฝ่ายความมั่นคงนิยมใช้กันเวลาพูดถึงยุทธศาสตร์ “การเมืองนำการทหาร” ก็คือนำคน (ที่เชื่อว่าคิดหรือมีอุดมการณ์แตกต่าง) ไปเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนความคิด ความเชื่อ และทัศนคติ ซึ่ง พล.อ.ไวพจน์ เห็นว่าไม่ได้ช่วยอะไร
“ผมไม่เข้าใจว่าการจับคนไปเข้าหลักสูตร 10 วันหรือ 30 วันจะเปลี่ยนคนได้อย่างไร การแก้ปัญหาจึงต้องเอาสังคมเป็นตัวตั้ง แล้วเราจะเห็นโครงการต่างๆ ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมมากขึ้นกว่าเดิม”
“ปกครองพิเศษ” เร็วไป
ส่วนประเด็นเรื่องการจัดรูปการปกครองใหม่ในพื้นที่ ซึ่งมีกระแสเรียกร้องให้จัดตั้งองค์กรปกครองท้องถิ่นขนาดใหญ่ขึ้นเพื่อคัดสรรผู้นำจากคนในท้องถิ่นเอง จะได้จัดการแก้ไขปัญหาในมิติต่างๆ สอดคล้องกับความต้องการของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริงนั้น พล.อ.ไวพจน์ เห็นว่า เร็วเกินไปที่จะพูดถึงเรื่องรูปแบบการปกครองในวันนี้
“กรอบคิดเรื่องการปกครองน่าจะก้าวกระโดดไปปหน่อย เพราะเป็นประเด็นทางการเมืองมากกว่า ไม่ใช่ประเด็นปัญหาที่แท้จริงของคนในพื้นที่ขณะนี้ แต่ถ้าเอาสังคมนำ อาจจะสร้างการมีส่วนร่วมได้ดีกว่าเยอะ การจัดให้มีการขับเคลื่อนทางการเมืองหรือแบ่งแยกไปเป็นเขตพื้นที่พิเศษจะก่อความวุ่นวายอีกมาก ผมคิดว่าเราต้องมีทางออก (Solution) ทางสังคมพอสมควรแล้ว ค่อยมาคิดว่าจะจัดรูปการปกครองอย่างไร แยกหรือไม่แยก แต่ถ้าเอาการเมืองนำ อาจจะคิดเรื่องแยกรัฐหรือไม่ จะจัดรูปแบบปกครองแบบไหน อย่างไร คนส่วนใหญ่อาจไม่มั่นใจ หากลองนำประเด็นนี้เข้าสู่กระบวนการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ระดับชาติแล้วจะเห็นว่าสุดท้ายต้องเอาสังคมนำ”
พล.อ.ไวพจน์ ยังมองว่า เรื่องปกครองพิเศษจุดประกายจากคนบางกลุ่ม แล้วขยายออกไปเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง ทั้งๆ ที่ยังไม่ใช่ความต้องการที่แท้จริงของคนส่วนใหญ่ในพื้นที่ในปัจจุบัน เพราะมีผลสำรวจหลายครั้งก่อนหน้านี้ที่ทำกันเป็นการภายในของหน่วยงานความมั่นคงพบว่า ปัญหาอีก 80% ของพื้นที่ยังไม่มีคนทำ แต่เป็นปัญหาที่ประชาชนกังวลมาก ได้แก่ ปัญหายาเสพติด ความไม่เป็นธรรมในสังคม ส่วนเรื่องการก่อการร้ายและการแบ่งแยกดินแดน เป็นเรื่องที่คนกังวลน้อยที่สุด
อย่างไรก็ดี อดีตนายทหารนักยุทธศาสตร์ผู้นี้ ชี้ว่า ผลการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์กวาดไป 9 ที่นั่ง ขณะที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้เลย (กกต.สั่งนับคะแนนใหม่ 1 เขต) ไม่ได้สะท้อนว่าประชาชนเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับนโยบายของทั้งสองพรรคดังที่มีบางฝ่ายถกเถียงกันอยู่
“ปัจจัยที่ทำให้พรรคการเมืองชนะเลือกตั้งในภาคใต้อาจจะไม่ใช่เรื่องนโยบาย เพราะเป็นระบบหัวคะแนน แต่ถ้าดูจากผลการเลือกตั้งที่ออกมาแบบนี้ แสดงให้เห็นว่าเรื่องการปกครองยังไม่ใช่ประเด็นหลักของประชาชนในพื้นที่ และไม่สามารถสร้างกระแสได้เท่าที่ควร”
พล.อ.ไวพจน์ กล่าวด้วยว่า ปัญหาภาคใต้ที่แก้ไม่สำเร็จ เพราะนายทหารระดับสูงส่วนใหญ่ในบ้านเรารวมถึงผู้กุมนโยบายด้านความมั่นคงมองแนวคิดแค่ Military Strategy หรือยุทธวิธีทางทหาร คือใช้กำลัง แล้วก็จัดซื้ออาวุธ ซึ่งไม่เพียงพอกับสภาพปัญหาปัจจุบัน ซึ่งต้องมองไปที่ยุทธศาสตร์ด้านความมั่นคง หรือ Security Strategy
"ยกตัวอย่างปัญหากับประเทศเพื่อนบ้าน ถ้ามองแค่กรอบ Military Strategy ก็สั่งให้เอากำลังไปวาง แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาอะไรเลย จุดอ่อนคือกระบวนการกำหนดนโยบายยุทธศาสตร์ไม่ได้รับการพัฒนา ประชาชนไม่สามารถหวังพึ่งกองทัพให้แก้ปัญหาชาติได้ เพราะแก้ได้แค่ระดับยุทธวิธี จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมากองทัพแก้ปัญหาใหญ่ๆ ของชาติไม่ได้เลย รวมทั้งปัญหาภาคใต้ด้วย เพราะมองแต่ยุทธวิธีทางทหาร เมื่อผนวกกับการเมืองก็อ่อนแอ ต้องการใช้ทหารเป็นเครื่องมือ จึงยิ่งไม่กล้าปรับเปลี่ยน ทำให้เจตจำนงทางการเมืองไม่แจ่มชัด ถ้าเป็นอย่างนี้ก็พัฒนาไม่ได้" พล.อ.ไวพจน์ กล่าว
ดูเหมือนเราจะต้องกลับไปแก้ไขความผิดพลาด ณ จุดที่เป็นต้นเหตุที่แท้จริงกันเสียที!
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
ขอบคุณ : ภาพ พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล โดย ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์
อ่านประกอบ :
- พล.อ.ไวพจน์ ศรีนวล ยุทธศาสตร์ดับไฟใต้...ในวันที่ยังไร้ยุทธศาสตร์ (สัมภาษณ์โดย รอมฎอน ปันจอร์, ปิยศักดิ์ อู่ทรัพย์ และปกรณ์ พึ่งเนตร)
http://www.deepsouthwatch.org/node/244
- "ไวพจน์" ผ่าวงจร "ทหาร-การเมือง" ใช้ประโยชน์-ครอบงำ-ไร้สมดุล
http://www.oknation.net/blog/kobkab/2011/07/28/entry-2