ปลัด ศธ.แนะปรับเกณฑ์กู้ยืมศึกษาถึงมือเด็กจน ชง รบ.ใหม่แก้อ่านไม่ออก-เขียนไม่ได้
ปลัด ก.ศึกษาฯ แนะปรับเกณฑ์กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา ให้ถึงมือเด็กจน-เด็กอิสลาม เพิ่มช่องทางพิเศษให้โรงเรียนพิจารณาตามความจำเป็น เพิ่มสิทธิ์เด็กสายอาชีพ เตรียมชงรัฐบาลใหม่สาน น.การศึกษาตลอดชีพ แจกแท็ปเล็ตนักเรียนเอกชนด้วย เร่งแก้ปัญหาคุณภาพเด็กไทยต่ำลง อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้
นายอภิชาติ จีระวุฒิ ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (ปลัด ศธ.) กล่าวว่า ที่ผ่านมาคนส่วนใหญ่เข้าใจว่า ศธ.เป็นผู้รับผิดชอบกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) แต่ความจริงแล้วกองทุนดังกล่าวอยู่ในการดูแลของกระทรวงการคลัง ศธ.เป็นเพียงส่วนหนึ่งเพราะมีนักเรียนนักศึกษาเป็นผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ส่วนตัวมองว่าการปล่อยกู้โดยทุ่มเงินให้ทุนการศึกษามากๆอาจไม่ใช่การแก้ปัญหา แต่การบริหารเม็ดเงินให้ได้ประโยชน์สูงสุดนั้นคือการแก้ปัญหาที่แท้จริง เพราะปัจจุบันเด็กจากครอบครัวที่ยากจนจริงๆหรือมีปัญหา กลับไม่ได้กู้ แต่คนที่พอมีฐานะช่วยเหลือตัวเองได้กลับสามารถกู้ได้
ทั้งนี้หลักเกณฑ์การของกู้ยืมนั้นจะดูรายได้ครอบครัวต่อปี เช่น ลูกเกษตรกรบางคน ความจริงมีฐานะแต่เมื่อนำรายได้ต่อปีไปเสนอก็จะเสนอเฉพาะต้นทุน หรือบางคนก็เขียนให้น้อยกว่าจำนวนที่ได้รับจริง ขณะที่ลูกข้าราชการบางคน แต่มีลูกมาก หากดูรายได้ต่อปีอาจจะดูมีรายได้สูงแต่หากหักค่าใช้จริงๆ แล้วจะยังไม่เพียงพอต่อการดูแลบุตรเมื่อลูกไปขอยื่นกู้ยืมก็ต้องใช้ยอดรายได้เดียวกัน ซึ่งอาจจะดูว่าไม่มีความจำเป็นต้องกู้ จึงไม่ได้รับการพิจารณาให้กู้ เท่ากับว่าหลักเกณฑ์การกู้ยืมไม่ได้ดูปัญหาที่แท้จริง
นายอภิชาติ กล่าวต่อว่า จะเสนอนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่าควรปรับหลักเกณฑ์การกู้ยืม กยศ. ในประเด็นสำคัญ คือ การเพิ่มช่องทางพิเศษให้สถานศึกษาสามารถพิจารณาผู้มีสิทธิ์กู้ยืมได้เอง เช่น กรณีพ่อแม่ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตกระทันหัน หรือมีฐานะยากจนจริงๆ นอกจากนี้สำหรับนักเรียนที่นับถือศาสนาอิสลาม บางคำที่กำหนดในหลักเกณฑ์ทำให้นักเรียนไม่สามารถกู้ยืม กยศ.ได้เพราะขัดหลักศาสนา เช่น คำว่า “กู้” หรือ “ดอกเบี้ย” ดังนั้นควรจะกำหนดศัพท์ใหม่เพื่อให้นักเรียนอิสลามมีโอกาสกู้ กยศ.ได้
ขณะที่ในส่วนของผู้เรียนในสายอาชีวศึกษาที่ ศธ.มีนโยบายจะเพิ่มจำนวนผู้เรียนในสายดังกล่าว ฉะนั้นควรจะกำหนดสัดส่วนแยกจากผู้เรียนสายสามัญ และหากใครเรียนตามสาขาที่เป็นความต้องการของประเทศก็ให้สิทธิ์กู้เป็นกรณีพิเศษ อย่างไรก็ตามเรื่องนี้จะต้องเข้าหารือกับกระทรวงการคลังอีกครั้ง
นอกจากนี้ปลัด ศธ. ยังเปิดเผยถึงนโยบายและโครงการที่เตรียมเสนอต่อรัฐบาลใหม่ว่า เมื่อพิจารณาจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) และนโยบายของพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาล ในส่วนของสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ (สป.) จะนำเสนอนโยบายจัดการศึกษาตลอดชีวิต เนื่องจากที่ผ่านมาเป้าหมายในการจัดการศึกษาคือประชากรในวัยเรียนที่มีอายุ 6-20 ปี แต่ปัจจุบันอัตราวัยเด็กและแรงงานลดลง ในขณะที่ผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น
ดังนั้นต้องเน้นการจัดการศึกษาตลอดชีวิต โดยเฉพาะผู้สูงอายุ นอกจากนี้จะต้องเพิ่มทักษะแรงงาน เพราะขณะนี้แรงงานส่วนใหญ่จบระดับประถมศึกษาหรือต่ำกว่า การปรับปรุงคุณภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา รวมถึงปัญหาการขาดแคลนครู ซึ่งจะเสนอรัฐบาลให้มีการทบทวนนโยบายการจำกัดอัตรากำลังคนภาครัฐ เพื่อขออัตราในการบรรจุกำลังคนเพิ่มขึ้น เพราะแม้ ศธ.จะได้รับการคืนอัตราครูที่เกษียณอายุราชการกลับมาเต็ม 100% แต่ก็เป็นการคืนอัตรากำลังที่เท่าเดิม ไม่ได้มีการเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ซึ่งเป็นการปล่อยให้ปัญหาการขาดแคลนครูเป็นมะเร็งร้ายกัดกินการศึกษาไทย
ปลัด ศธ.กล่าวอีกว่า นอกจากนี้จะเสนอให้รัฐบาลเร่งแก้ปัญหาเด็กอ่านหนังสือไม่ออก เขียนไม่ได้ โดยอาจจะต้องปรับรื้อระบบการวัดและประเมินผลใหม่ ให้เด็กที่สอบตกสามารถที่จะซ้ำชั้นได้ ไม่ใช่สอบแก้ตัวแล้วให้เกรด 1 ก็สามารถผ่านขึ้นไปเรียนชั้นต่อไปได้ ซึ่งรู้สึกไม่สบายใจที่ถูกสังคมประณามว่าจัดการศึกษาแล้วคุณภาพของเด็กไทยตกต่ำลง
อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวคงต้องหารือในภาพรวมร่วมกับหน่วยงานที่มีสถานศึกษาในสังกัด โดยมี รมว.ศึกษาธิการคนใหม่ นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน ส่วนการส่งเสริมให้เด็กนักเรียนมีคอมพิวเตอร์ใช้ตามโครงการ One Tablet PC Per Child นั้น หากนักเรียนชั้น ป.1 ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ทุกคนได้รับแจก นักเรียนในส่วนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) ก็ต้องได้รับแจกด้วย โดยจะหารือร่วมกับ สช.ว่าจะมีแนวทางการดำเนินงานในเรื่องนี้อย่างไร .