ปธ.ทีดีอาร์ไอวอน คสช.ยุติจำกัดเสรีภาพทางวิชาการ
ประธานทีดีอาร์ไอวอนคสช.ระงับประกาศที่ส่งผลต่อการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการ ย้ำผู้มีอำนาจต้องรับฟังความเห็นที่แตกต่างเพื่อตรวจสอบกลไกการทำงาน หากใครกระทำเกินขอบข่ายให้ลงโทษไปตามกฎหมาย
จากการที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และได้มีการออกคำสั่งให้บุคคลมารายงานตัว ในจำนวนนั้นมีนักวิชาการรวมอยู่ด้วยหลายคน โดยตามรายงานข่าว บางคนถูกส่งไปควบคุมตัวในค่ายทหารโดยไม่ทราบสถานที่แน่ชัดและกำหนดปล่อยตัวที่แน่นอน นอกจากนั้น ยังมีการออกประกาศที่สร้างข้อจำกัดกั้นขวางการสัมภาษณ์นักวิชาการในสื่อสารมวลชน (ประกาศฉบับที่ 14/2557) และห้ามวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (ประกาศฉบับที่ 18/2557) นั้น
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เรียกร้องให้ คสช. ระงับคำสั่งและประกาศที่ส่งผลต่อการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการโดยที่ประชุมผู้บริหารของทีดีอาร์ไอได้แสดงความเป็นห่วงต่อการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการในช่วงหลังการรัฐประหาร
"พวกเราในฐานะหน่วยงานทางวิชาการเห็นว่า ผู้มีอำนาจควรเปิดใจกว้างยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาพที่ไม่มีกลไกตรวจสอบและถ่วงดุลอื่นต่อการใช้อำนาจรัฐ คสช. ควรเปิดกว้างให้นักวิชาการและประชาชนทั่วไปมีเสรีภาพในการวิพากษ์วิจารณ์การทำงาน เพราะการดำเนินการของ คสช. อาจมีผลกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง จึงควรรับฟังความเห็นจากสังคมด้วย"
ดร.สมเกียรติ กล่าวด้วยว่า การเปิดกว้างให้มีเสรีภาพทางวิชาการจะช่วยให้ คสช. ได้รับความคิดเห็นและคำแนะนำที่เป็นประโยชน์ ทั้งนี้หากเป็นห่วงว่าจะมีนักวิชาการรายใดแสดงความคิดเห็นที่เกินกว่าขอบเขตที่เหมาะสม ก็ควรใช้กฎหมายที่มีอยู่ในการดำเนินคดีตามกระบวนการยุติธรรมตามปรกติ
“ส่วนเรื่องการปฏิรูปนั้นเป็นการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนในวงกว้าง จึงควรเกิดขึ้นภายใต้บรรยากาศการถกเถียงแลกเปลี่ยนที่ทุกฝ่ายสามารถมีส่วนร่วมในการแสดงออกได้อย่างเท่าเทียมและเสรี ไม่ควรดำเนินการปฏิรูปโดยกีดกันผู้ที่เห็นต่างออกไปจากกระบวนการปฏิรูป”