รู้จัก "ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ"
"ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ" คือศาลทหารที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหาร แต่กระทำผิดในความผิดที่ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีด้วย
พลันที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ออกประกาศฉบับที่ 37/2557 เรื่อง ความผิดที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้บรรดาคดีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา ได้แก่ ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตั้งแต่มาตรา 107-112 และความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113-118 และความผิดตามประกาศหรือคำสั่ง คสช. ให้การกระทำผิดเกิดขึ้นในเขตราชอาณาจักร และในระหว่างที่ประกาศนี้ใช้บังคับ อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีของศาลทหาร ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีประกาศเปลี่ยนแปลงนั้น
หลายคนที่ได้ฟังคำประกาศของ คสช.อาจจะไม่เข้าใจว่า "ศาลทหาร" คืออะไร ไม่ได้บังคับใช้เฉพาะกับทหารหรือ
พลิกดูพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ธรรมนูญศาลทหาร พ.ศ.2498 พบอำนาจศาลทหารบัญญัติอยู่ในมาตรา 13 ระบุว่า ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาวางบทลงโทษผู้กระทำผิดต่อกฎหมายทหารหรือกฎหมายอื่นในทางอาญา ในคดีซึ่งผู้กระทำผิดเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด และมีอำนาจสั่งลงโทษบุคคลใด ๆ ที่กระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาลตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
กล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ศาลทหารก็เหมือนศาลพลเรือน แต่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีกับผู้ที่กระทำผิดกฎหมายทหาร หรือกับบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือทหารประจำการระดับต่าง ๆ นั่นเอง ยกเว้นคดีที่กระทำผิดร่วมกับพลเรือน คดีที่ต้องดำเนินคดีในศาลเด็กและเยาวชน และคดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน
ศาลทหารดังกล่าวนี้ เรียกว่า "ศาลทหารในเวลาปกติ" ซึ่งยังไม่ใช่ศาลทหารตามประกาศ คสช.ฉบับที่ 37 เพราะศาลทหารที่ คสช.ประกาศ คือ "ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ"
ซึ่งตาม พ.ร.บ.ธรรมนูญศาลทหารฯ มาตรา 36 บัญญัติว่า "ในเวลาไม่ปกติ" คือ ในเวลาที่มีการรบหรือสถานะสงคราม หรือได้ประกาศใช้กฎอัยการศึก ศาลทหารซึ่งมีอยู่แล้วในเวลาปกติคงพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ตามอำนาจ แต่ถ้าผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้ประกาศ หรือผู้บัญชาการทหารสูงสุดได้สั่งตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึกให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาใด ๆ อีก ก็ให้ศาลทหารพิจารณาพิพากษาคดีอาญาตามประกาศหรือคำสั่งนั้นได้ด้วย
ทั้งนี้ เมื่อหมดภาวะการรบหรือสถานะสงคราม หรือเลิกใช้กฎอัยการศึก ศาลทหารยังคงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีที่ค้างอยู่ในศาลหรือที่ยังมิได้ฟ้อง...
กล่าวให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ "ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ" คือศาลทหารที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีบุคคลที่มิได้อยู่ในอำนาจศาลทหาร แต่กระทำผิดในความผิดที่ผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกประกาศให้ศาลทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีด้วย
สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาที่ประกาศ คสช.ให้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลทหารนั้น ในกลุ่มแรก คือ คดีหมิ่นสถาบัน ซึ่งสังคมไทยคงรู้จักกันดีอยู่แล้ว ส่วนอีกกลุ่มหนึ่ง คือ ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร ตั้งแต่มาตรา 113-118 ประกอบด้วย
ความผิดฐานกบฏ, สะสมกำลังพลหรืออาวุธ หรือสมคบกันเพื่อเป็นกบฏ, ยุยงทหารหรือตำรวจให้หนีราชการ, ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความไม่สงบขึ้นในบ้านเมือง, ยุยงให้ร่วมกันหยุดงาน และกระทำต่อธงหรือเครื่องหมายอื่นใดอันมีความหมายถึงรัฐ เพื่อเหยียดหยามประเทศชาติ .