เครือข่ายปฏิรูปที่ดิน ยื่นหนังสือว่าที่รัฐบาลใหม่ 29 ก.ค. เร่งรับรองโฉนดชุมชน
เมื่อวันที่ 27 ก.ค. 54 เครือข่ายปฎิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย (คปท.) ออกแถลงการณ์ถึงว่าที่รัฐบาลชุดใหม่ ให้เดินหน้าแก้ไขปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัย ด้วยการรับรองสิทธิชุมชน และให้กระจายการถือครองที่ดินอย่างเป็นธรรม โดยจะเข้ายื่นแถลงการณ์ ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย ในวันพรุ่งนี้(29 ก.ค.) เวลา 11:00 น.
นายบุญ แซ่จุง ตัวแทน คปท. กล่าวว่า ปัญหาที่ดินกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ โดยชาวบ้านถูกคุกคามและละเมิดสิทธิ จึงอยากให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่สำคัญ คือ 1.การรับรองมีสิทธิชุมชนตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยโฉนดชุมชน ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 2.ให้มีนโยบายที่ชัดเจนระดับปฏิบัติการในพื้นที่ เช่น พื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ที่สามารถนำเอาที่ดินบางส่วนมาจัดสรรได้ โดยอาศัยมาตรา 19 และ 38
ซึ่งที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติไม่ทราบนโยบาย จำเป็นต้องมีข้อสรุปที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาระหว่างเจ้าหน้าที่กับชุมชน และ 3.ปัญหาเรื่องคดีความต่างๆของชาวบ้าน ทั้งการฟ้องร้องในคดีบุกรุกพื้นที่ ปัจจุบันมี 34 คดี ผู้ต้องหารวม 223 ราย และคดีโลกร้อนที่ไม่ตรงตามความเป็นจริง ส่วนนโยบายอื่นๆในระยะยาว เช่น กองทุนธนาคารที่ดิน และภาษีที่ดินอัตราก้าวหน้า อยากให้เร่งสานต่อจากรัฐบาลชุดที่แล้ว
“ปัจจุบันมีชาวบ้านยื่นขอโฉนดชุมชนเพิ่มจาก 200 เป็น 400 กว่าพื้นที่แล้ว สะท้อนปัญหาขาดแคลนที่ดินทำกิน หวังว่ารัฐบาลใหม่จะรับฟังปัญหา และอนาคตประชาชนจะได้เข้าไปร่วมกำกับตรวจสอบการแก้ไขความเหลื่อมล้ำ ลดความขัดแย้งตามนโยบายปรองดองของรัฐบาล” ตัวแทน คปท. กล่าว
ด้าน นายบุญลือ เจริญมี ประธานสหกรณ์บ้านคลองโยง จำกัด ซึ่งเป็นชุมชนแรกที่ได้รับโฉนดชุมชนจากรัฐบาล กล่าวว่า บ้านคลองโยงได้ที่ดินตามโครงการโฉนดชุมชนแล้ว แต่ยังเกิดปัญหาคือยังไม่มีทุนที่จะไปดำเนินการพัฒนาที่ดิน
“อยากให้รัฐบาลคงนโยบายธนาคารที่ดินเอาไว้ และให้มีงบประมาณสนับสนุนด้วย เพราะในแต่ละชุมชนทั่วประเทศ มีปัญหาเรื่องงบประมาณ” นายบุญลือ กล่าว
นายบุญฤทธิ์ ภิรมย์ สหภัณฑ์เกษตรกรภาคใต้ กล่าวว่า การให้สิทธิชุมชนในการถือครองที่ดินร่วมกันจะแก้ไขปัญหาการเกษตรอย่างยั่งยืน อย่ามองว่าเป็นผลงานรัฐบาลชุดที่แล้ว เพราะแท้จริงมาจากภาคประชาชนเสนอเข้าไป โดยส่วนที่สำนักงานโฉนดชุมชนรับรองแล้ว ก็ให้มีการดำเนินการต่อ เพื่อเป็นหลักประกันให้กับชาวบ้าน พร้อมฝากรัฐบาลใหม่ตรวจสอบสิทธิการถือครองที่ดินของนายทุนบางกลุ่ม
“พื้นที่ของสหภัณฑ์เกษตรกรภาคใต้ จ.สุราษฎ์ธานี ได้รับการรับรองโฉนดชุมชนแล้ว แต่มีกลุ่มนายทุนครอบครองอยู่ 38 แปลง 63,452 ไร่ เป็นสวนปาล์ม โดยอ้างว่ากำลังอยู่ในระหว่างศาลอุธรณ์ ซึ่งถือเป็นการบุกรุก จึงอยากให้ตรวจสอบ ให้คืนที่ดินแก่ชุมชน” นายบุญฤทธิ์ กล่าว
ด้านนายคมสันต์ จันทร์อ่อน เครือข่ายสลัมสี่ภาค เปิดเผยว่าคนจนเมืองยังไม่ได้รับงบประมาณในการสร้างศูนย์คนไร้บ้าน ทั้งที่ผ่านการอนุมัติแล้ว 52.7 ล้าน แต่ติดปัญหาเรื่องมติ ครม. ยังเบิกออกมาไม่ได้ ยังอยากให้รัฐบาลชุดใหม่สานต่อ เพราะจะช่วยแก้ไขปัญหาคนเร่ร่อนให้มีที่หลับนอน รวมถึงนโยบายบ้านมั่นคง ก็ให้สนับสนุนทั้งเรื่องงบประมาณและเรื่องที่ดินด้วย
นายล่อง เพชรสุด เครือข่ายปฏิรูปที่ดินเทือกเขาบรรทัด กล่าวว่าอยากให้เร่งดำเนินการตามนโยบายต่างๆ ที่เคยบอกไว้ในช่วงหาเสียง ตั้งแต่การกระจายการถือครองที่ดิน และสิทธิชุมชน ซึ่งเรียกร้องหลายครั้ง แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ รัฐบาลมาจากประชาชน ต้องให้สิทธิประชาชน
ตัวแทน คปท. ยังกล่าวว่า จะไปยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ (29 ก.ค.) โดยเน้นให้เกิดการปฏิรูปสิทธิรวมหมู่ในที่ดินของชุมชน เพราะช่วยแก้ปัญหาเรื่องที่ดินทำกินอย่างยั่งยืน หากรัฐบาลมองว่าที่ดินเป็นเพียงตราสารที่เปลี่ยนมือซื้อขายได้ แม้แต่อนาคตของประเทศไทยก็จะไร้แผ่นดินอยู่ และฝากถึงว่าทีรัฐบาลว่าอย่าเอาเรื่องการเมืองเข้ามาพัวพันกับปัญหาปากท้องของประชาชน .
ทั้งนี้เมื่อวันที่ 20 ก.ค.นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานเพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน (ปจช.) ครั้งที่ 4/2554 เปิดเผยว่า ได้มีมติอนุมัติให้ดำเนินการสำรวจ และตรวจสอบพื้นที่เพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน จำนวน 65 ชุมชน ทั่วประเทศ และสรุปผลการดำเนินงานโฉนดชุมชน ตั้งแต่มีระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการจัดให้มีโฉนดชุมชน พ.ศ. 2553 ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 54 ว่า มีชุมชนยื่นคำขอโฉนดชุมชน จำนวน 428 ชุมชน อยู่ในขั้นตอนการดำเนินงาน 191 ชุมชน ได้รับอนุมัติและตรวจสอบพื้นที่ 138 ชุมชน สำรวจตรวจสอบแล้ว 133 ชุมชน และนำเสนอ ปจช. อนุมัติ 75 ชุมชน อนุมัติแล้ว 55 ชุมชน และอนุญาตให้ใช้ประโยชน์แล้ว 2 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนสหกรณ์บ้านคลองโยง จำกัด จ.นครปฐม และชุมชนสหกรณ์การเกษตรโฉนดชุมชนป่าซาง จำกัด จ.ลำพูน
ด้านปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน นายสาทิตย์ ระบุว่า เนื่องจาก การปฏิบัติงานตามระเบียบดังกล่าวต้องเกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่น ทำให้มีข้อจำกัดบางประการ ต้องปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง หรือยกร่างกฎหมายเพื่อรองรับนโยบายโฉนดชุมชนเพื่อให้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาที่ดินอย่างยั่งยืนต่อไป
(ล้อมกรอบ)
(สรุป) แถลงการณ์เครือข่ายปฏิรูปที่ดินแห่งประเทศไทย(คปท.)
- รัฐบาลต้องปฏิรูประบบสิทธิที่ดินในสังคมไทย โดยให้มีการรับรองสิทธิที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยในรูปแบบสิทธิชุมชน ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 66 เพื่อการแก้ไขปัญหาข้อพิพาท คดีความ และความขัดแย้งเรื่องที่ดินทำกินสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรจำนวนมาก
โดยรัฐบาลควรสนับสนุนกลไกคณะกรรมการประสานงาน เพื่อจัดให้มีโฉนดชุมชน ซึ่งเป็นกลไกการทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ กับภาคเอกชน ในการรับรองสิทธิชุมชนในรูปแบบฉโนดชุมชน เป็นกฎหมายรับรองสิทธิชุมชนต่อไป - รัฐบาลจะต้องจัดสรรงบประมาณจำนวน 100,000 ล้านบาท ต่อปี สำหรับกองทุนธนาคารที่ดิน เพื่อให้เป็นกลไกการจัดซื้อและจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกร และคนยากจน
- รัฐบาลจะต้องกำหนดนโยบายที่จัดเจนต่อปัญหาคดีความคนจน ด้วยการยุติคดีความที่เกษตรกรถูกฟ้องร้อง อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิของชุมชนในการใช้ประโยชน์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ด้วยการระงับการสั่งฟ้องในคดีที่ยังไม่ไปสู่ศาล และระงับการบังคับคดีในคดีที่มีการตัดสินแล้ว ส่วนคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ดำเนินการช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้อย่างเท่าเทียม .