หัวอก "รอฮีมะ" ผู้สูญเสียลูกน้อย...ในคืนที่ปัตตานีเหมือนมีสงคราม
เหตุการณ์ความไม่สงบในเขต อ.เมืองปัตตานี และบางส่วนใน อ.หนองจิก ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกัน เมื่อช่วงค่ำของวันเสาร์ที่ 24 พ.ค.นั้น สร้างความบอบช้ำให้กับพื้นที่และพี่น้องประชาชนอย่างมาก เพราะความเสียหายค่อนข้างหนักมาก โดยเฉพาะกับระบบไฟฟ้า ประปา ซึ่งเป็นสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน รวมทั้งสัญญาณโทรศัพท์มือถือ
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) สรุปว่ามีเหตุการณ์ลอบวางระเบิดเกิดขึ้นในปัตตานีทั้งสิ้น 20 จุด เฉพาะ อ.เมือง 17 จุด และ อ.หนองจิก 3 จุด
เช้าวันอาทิตย์ที่ 25 พ.ค. เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และชุดเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด (อีโอดี) เข้าเคลียร์พื้นที่ พบวัตถุระเบิดตกค้างที่ไม่ระเบิดอีก 6 ลูก 4 จุด บางจุดพบ 2 ลูก บางจุดลูกเดียว เช่น ริมแม่น้ำหน้าโรงพักปัตตานี โดยระเบิดทั้งหมดเป็นชนิดแสวงเครื่อง ประกอบใส่ท่อเหล็ก วางไว้โคนเสาไฟฟ้า จุดระเบิดด้วยระบบตั้งเวลาด้วยโทรศัพท์มือถือ
ถ้าระเบิดเหล่านี้ทำงาน สถานการณ์คงย่ำแย่กว่าที่เห็น และน่าจะมีความสูญเสียมากกว่าที่เป็นอยู่ คือ เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 61 ราย
ไล่ดูรายชื่อผู้บาดเจ็บ พบว่ามีเด็กรวมอยู่ด้วยเกือบ 10 คน ขณะที่ 1 ใน 3 ผู้เสียชีวิตเป็นเด็กอายุเพียง 5 ขวบ คือ ด.ช.มูฮำหมัดอิสฟาน สิเดะ สาเหตุที่เด็กตกเป็นเหยื่อมาก เพราะจุดเกิดเหตุส่วนใหญ่อยู่ที่ร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น ซึ่งมีผู้คนพลุกพล่าน นอกจากนั้นก็เป็นเสาไฟฟ้าในย่านชุมชน
ครอบครัวของหนูน้อยมูฮำหมัดอิสฟาน ซึ่งมารดาของเขาเรียกชื่อลูกชายคนนี้สั้นๆ ว่า "อิสฟาน" ถือว่าเคราะห์ร้าย เพราะตกเป็นเหยื่อระเบิดเกือบทั้งครอบครัว
รอฮีมะ สิเดะ มารดาของ "อิสฟาน" เล่าว่า ตอนนี้ลูกชายเสียชีวิตแล้ว ส่วนสามี คือ อิสเฮาะ สิเดะ ได้รับบาดเจ็บสาหัส ยังรักษาตัวอยู่ในห้องไอซียู ส่วนลูกชายอีกคนซึ่งเป็นพี่ชายของ "อิสฟาน" ได้รับบาดเจ็บบริเวณแขน แต่อาการไม่หนัก หมอให้กลับบ้านได้ ส่วนตัวเธอเองยังแน่นหน้าอกอยู่
"ขณะเกิดเหตุนั่งมอเตอร์ไซค์ไปรับลูกที่เรียนอัลกุรอาน กำลังกลับบ้าน โดยมีตัวฉันเอง สามี กับลูก 2 คนนั่งซ้อนมอเตอร์ไซค์กันมา จากนั้นจู่ๆ ก็มีเสียงระเบิดดังขึ้น แล้วตัวเองรู้สึกเหมือนรถถูกชน แต่ตอนหลังมีคนเล่าให้ฟังว่าถูกเสาไฟฟ้าทับ แต่เรารู้สึกเหมือนรถชนเสาไฟฟ้า ตอนนั้นสะลึมสะลือไปหมด มารู้สึกตัวจริงๆ อีกทีตอนอยู่บนรถเข็นที่โรงพยาบาลปัตตานี" รอฮีมะเล่าเหตุการณ์ในช่วงนาทีชีวิต
เธอเล่าต่อว่า เมื่อฟื้นขึ้นมาแล้วไม่ได้บาดเจ็บอะไรมาก ก็เริ่มออกตามหาลูก ตามหาแฟน หาอยู่นานกว่าจะเจอ ปรากฏว่าลูกคนเล็กอาการโคม่าอยู่ใน ห้องไอซียู แฟนก็เหมือนกัน ได้ไปดูอาการ "อิสฟาน" ไม่นาน เขาก็เสียชีวิต เมื่อเช้า (25 พ.ค.) เพิ่งทำพิธีศพตอน 9 โมง ที่บ้านบือติง ต.ปากน้ำ อ.เมืองปัตตานี
"ตอนนี้ลูกๆ และตัวฉันกลับมาอยู่ที่บือติงซึ่งเป็นบ้านของฉันเอง ไม่ได้ไปอยู่ที่บ้านสามีที่ซูงา ฆาลี ต.ดอนรัก อ.หนองจิก เพราะไม่มีใครอยู่ที่นั่น บ้านก็ปิด ฉันจึงเลือกมาจัดงานทางนี้ หลังงานศพก็ไปโรงพยาบาล เอ็กซเรย์ตัวเองกับลูกคนที่ 3 สามียังอยู่ในห้องไอซียู เขายังไม่รู้ว่าลูกคนสุดท้องเสียชีวิตไปแล้ว ยังไม่กล้าบอกเขา กลัวว่าอาการจะหนักกว่าเดิม"
บ้านสามีของรอฮีมะที่ ต.ดอนรัก มีสภาพเป็นกระต๊อบ ไม่มีเลขที่ พ่วงไฟฟ้าใช้จากบ้านของเพื่อนบ้าน ด้านหนึ่งปิดไว้ด้วยสังกะสี อีกด้านเป็นไม้ไผ่ผุพัง รอฮีมะ บอกว่า ครอบครัวของเธอมี 6 คน คือตัวเธอ สามี และลูกอีก 4 คน ทั้งหมดอยู่ในวัยเรียน มี "อิสฟาน" เป็นคนสุดท้อง ความเป็นอยู่ที่ผ่านมาค่อนข้างขัดสนอยู่แล้ว หลังจากนี้คงยิ่งเดือดร้อนหนักขึ้น
"ฉันเป็นแม่บ้าน ไม่ได้ทำงาน ส่วนแฟนขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง พอแฟนบาดเจ็บก็ไม่รู้จะทำอย่างไรต่อไป ยังมืดมน รู้สึกเสียใจและสะเทือนใจมากที่เกิดเหตุกับเด็ก เพราะเด็กก็คือเด็ก อยากให้กรณีของอิสฟานเป็นกรณีสุดท้ายที่เกิดความรุนแรงกับเด็ก แม้เหตุการณ์เมื่อคืนคนร้ายไม่ได้ตั้งเป้ามาให้โดนเรากับลูก แต่คนที่ทำต้องเข้าใจว่าลูกหลงจากเหตุการณ์เกิดขึ้นได้ตลอด ฉะนั้นถ้าไม่มีการก่อเหตุเลยน่าจะดีที่สุด" เป็นความรู้สึกจากหัวอกของผู้เป็นแม่อย่างรอฮีมะ
สำหรับพื้นที่ อ.เมืองปัตตานี โดยเฉพาะในเขตเทศบาลเมือง ไม่ได้ตกเป็นเป้าหมายการก่อเหตุรุนแรงของกลุ่มผู้ไม่หวังดีมานานหลายเดือนแล้ว ในขณะที่อีก 2 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือยะลาและนราธิวาส รวมทั้ง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ล้วนมีการก่อเหตุสร้างสถานการณ์ครั้ง ใหญ่ โดยก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6-7 เม.ย. เกิดเหตุระเบิดคาร์บอมบ์ มอเตอร์ไซค์บอมบ์ และระเบิดเพลิงกลางเมืองยะลารวม 7 จุด สร้างความเสียหายจำนวนมาก โดยเฉพาะย่านการค้าในเขตเทศบาล
ต่อมาวันที่ 6 พ.ค. เกิดเหตุระเบิด 2 จุดกลางเมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา โดย 1 ใน 2 คือในโรงพัก สภ.หาดใหญ่ เป็นคาร์บอมบ์ จากนั้นวันที่ 11-12 พ.ค.ได้เกิดเหตุระเบิด วางเพลิง และการก่อความไม่สงบรูปแบบต่างๆ มากกว่า 30 จุดในพื้นที่ 9 อำเภอของ จ.นราธิวาส กับ จ.ยะลา ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่ อ.สุไหงโก-ลก กับ อ.สุไหงปาดี จ.นราธิวาส
ฉะนั้นการเกิดระเบิดถึง 20 จุดกลางเมืองปัตตานี จึงย่อมสร้างความอกสั่นขวัญแขวนให้กับคนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ไม่น้อย...
มานะ สารี สมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปะกาฮารัง อ.เมืองปัตตานี บอกว่า ขณะเกิดเหตุชาวบ้านตกใจมาก ส่วนตัวอยู่ในพื้นที่และเผชิญกับเหตุการณ์ มาตลอด10 ปี แต่ไม่เคยเจอเหตุแบบนี้เลย กลัวมาก จะไปไหนก็ไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้เลย เพราะไฟฟ้าดับหมด ได้แต่นั่งเฝ้านับเสียงระเบิดจนหลับไป พอตื่นขึ้นมาไฟฟ้าก็ยังไม่มาอีก ชาวบ้านกลัวมากจริงๆ
ขณะที่ ไมมูเนาะ อาลี หญิงมุสลิมวัย 38 ปี ชาวบ้าน ต.ดอนรัก เล่าความรู้สึกคล้ายๆ กันว่า เมื่อคืนกลัวมาก ทุกอย่างมืดหมด ไม่เคยเจอแบบนี้มาก่อนเลย น่ากลัวจริงๆ ไม่อยากให้เกิดขึ้นอีก สงสารคนที่โดนระเบิดได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต ทราบว่าโดนกันหลายครอบครัว คนร้ายอาจไม่ได้ตั้งใจ แต่สถานที่ที่คนร้ายไปก่อเหตุเป็นจุดที่คนรวมตัวกัน ทำให้คนที่ไม่รู้เรื่องโดนไปด้วย
"ที่รู้สึกแย่คือเกิดความสูญเสียกับเด็กและผู้หญิง ไม่น่าเกิดเลย แต่พอเกิดแล้วก็ควรเยียวยาอย่างเต็มที่" ไมมูเนาะ กล่าว
นุสรา ปูตะ สาววัย 16 ปี ชาวบ้าน ต.ดอนรัก เช่นกัน บอกว่า "เมื่อคืนได้แต่ร้องไห้เพราะกลัวมาก มีแต่ความมืด ไม่รู้จะทำอย่างไร ไม่อยากให้เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นอีกเลย"
ส่วน นุรีฮัน ทา เจ้าหน้าที่เยียวยา อ.เมืองปัตตานี กล่าวว่า ขณะเกิดเหตุได้ออกไปดูชาวบ้าน เผื่อช่วยอะไรได้บ้าง
"ตอนที่ออกจากบ้านมีแต่ความมืด ไฟรถมอเตอร์ไซค์ไม่สว่างพอ ต้องใช้ไฟฉายช่วยส่อง เมื่อคืนรู้สึกเหมือนอยู่ในภาวะสงคราม" นุรีฮัน กล่าว
ถือเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ความไม่สงบที่ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจของผู้คนในวงกว้างจริงๆ...
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 รอฮีมะ ผู้สูญเสียลูกน้อย
2 บ้านของครอบครัวสิเดะที่อยู่กันอย่างขัดสน
3 เหตุรุนแรงในเขต อ.เมืองปัตตานี