เครือข่ายปชช.-นักวิชาการ เรียกร้องปล่อยตัวผู้ชุมนุมต้านรัฐประหาร
บัณฑิตอาสาฯ-สปป-เครือข่ายสิ่งแวดล้อมฯ จี้ คสช.ปล่อยตัวผู้ชุมนุมต้านรัฐประหารหน้าหอศิลป์ฯ กทม. เมื่อวันที่ 23 พ.ค. "มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน" เรียกร้อง กสม.-สว.สายเลือกตั้ง ลาออก ต้านรัฐประหาร
ภายหลังจากเจ้าหน้าที่ทหารจับกุมประชาชนจำนวนหนึ่งที่มาร่วมชุมนุมต่อต้านการรัฐประหาร บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 23 พ.ค.2557 ที่ผ่านมา โดยผู้ที่ถูกจับกุมไปทราบรายชื่อในเบื้องต้นคือ นายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการบริหารนิตยสารฟ้าเดียวกัน, นายอภิชาติ พงษ์สวัสดิ์ และนายบุณยะรักษ์ วัฒนะรัตน์ ส่วนอีก 2 ที่ถูกจับกุมไปพร้อมกันยังไม่ทราบชื่อ
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า กลุ่มบัณฑิตอาสาสมัครฯ ,เครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีสาน และสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปล่อยตัวประชาชนโดยไม่มีเงื่อนไขและคืนอำนาจการปกครองให้ประชาชนโดยเร็ว
กลุ่มบัณฑิตอาสาสมัครปกป้องประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์ "ปล่อยตัวเพื่อนเรา คืนอำนาจให้ประชาชนทันที" มีใจความสำคัญ ไม่เห็นด้วยที่กองทัพไทยใช้วิธีการแก้ปัญหาด้วยวิธีการทำรัฐประหาร อันเป็นวิธีการที่ล้าหลัง รวมทั้งไม่สามารถตอบสนองปัญหาสถานการณ์บ้านเมืองที่มีความซับซ้อนและเป็นที่ต้องการของประชาชนจำนวนมากของประเทศได้ แถลงการณ์ยังเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักศึกษา ประชาชน ที่ คสช. ได้กักตัวอยู่ในทันทีโดยไม่มีเงื่อนไข
“เนื่องจากการแสดงออกซึ่งความเห็นทางการเมืองนั้นถือเป็นสิทธิ เสรีภาพ อันเป็นส่วนสำคัญของศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ที่มิอาจล่วงละเมิดได้”
ด้านเครือข่ายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอีสาน ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติภาพ (ศสส.),ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม ,กลุ่มนิเวศวัฒนธรรมศึกษา, ศูนย์สื่อชุมชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ศสธ.) และศูนย์พิทักษ์สิทธิการจัดการทรัพยากรลุ่มน้ำชี ตอนล่าง มีข้อเรียกร้องให้คสช. คืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชนไทยโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น และเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นโดยประชาชนเอง, ให้คสช. หยุดใช้ความรุนแรง หยุดละเมิดสิทธิเสรีภาพ, สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร สิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวสารต่างๆ ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานโดยเร็วที่สุดและข้อเรียกร้องประการสุดท้ายคือ “ให้ คสช. ยุติการจับกุมคุมขังนักกิจกรรมที่ได้แสดงออกทางความคิดเห็นทางการเมือง เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง”
ด้าน
ขณะที่กลุ่มสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์ “ปล่อยประชาชนทันที” เรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ปล่อยตัวประชาชนที่ไปประท้วงต่อต้านรัฐประหารที่บริเวณหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครเมื่อเย็นวันที่ 23 พฤษภาคม 2557 ทันที
ใจความตอนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุว่า “ประชาชนเหล่านั้นแสดงออกอย่างสงบ สันติ ปราศจากอาวุธ พวกเขาเพียงแสดงออกซึ่งสิทธิทางการเมืองโดยไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การหนุนหลังจากกลุ่มการเมืองใด ๆ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติระแวงสงสัย ประชาชนเหล่านั้นแสดงออกอย่างบริสุทธิ์ใจเพื่อชี้ให้เห็นความคับข้องใจ ความเป็นห่วงเป็นใยต่อประเทศชาติ ไม่ได้ต่างไปจากความห่วงใยประเทศชาติของพวกท่าน”
แถลงการณ์ตอนท้ายระบุด้วยว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติควรตระหนักด้วยว่า การรัฐประหารเป็นการได้อำนาจมาอย่างไม่ถูกต้องด้วยกฎหมาย ไม่ชอบธรรมทางการเมือง ไม่ได้รับความยินยอมจากประชาชน ดังนั้น การต่อต้านการรัฐประหารจึงเป็นสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
ขณะที่มหาวิทยาลัยเที่ยงคืน ออกแถลงการณ์เรื่อง "ขอให้ ส.ว. เลือกตั้งและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ลาออกจากตำแหน่ง" มีใจความตอนหนึ่งระบุว่า การให้วุฒิสภายังคงอยู่ต่อไปนั้นเป็นที่คาดหมายได้ว่าทางคณะรัฐประหารอาจต้องการให้องค์กรนี้ทำหน้าที่ในทางการเมืองบางอย่าง เช่น การเสนอชื่อแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เป็นต้น เพื่อไม่ให้ถูกครหาว่าตนเองเป็นผู้แต่งตั้งด้วยอำนาจจากปากกระบอกปืน แม้จะมี ส.ว. เลือกตั้ง อยู่จำนวนหนึ่งแต่ก็เป็นที่ประจักษ์ชัดเช่นกันว่าบัดนี้ ส.ว. จากการแต่งตั้ง เป็นฝ่ายมีอำนาจครอบงำในสภาแห่งนี้อยู่ อันเห็นได้จากการเลือกประธานวุฒิสภาที่จัดกันขึ้น ถ้าวุฒิสภาประกอบด้วย ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมดก็คงถูกยกเลิกไปแล้วเช่นกัน
“การดำรงอยู่ของ ส.ว. เลือกตั้ง ในวุฒิสภาขณะนี้จึงเป็นเพียงการสร้างภาพให้วุฒิสภามีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นเท่านั้น โดยจะไม่สามารถมีอำนาจต่อรองในทางการเมืองอย่างโปร่งใส ด้วยเหตุผล เฉกเช่นในภาวะปกติ
สำหรับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ องค์กรนี้ถูกจัดตั้งขึ้นมาด้วยเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและปกป้องสิทธิมนุษยชนภายใต้ระบอบประชาธิปไตย แต่การรัฐประหารที่เกิดขึ้นและการใช้อำนาจที่ปราศจากกฎหมายรองรับที่ติดตามมาภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว ไม่ว่าการปิดกั้นสื่อสารมวลชน การควบคุมตัวบุคคลที่ไม่ได้กระทำความผิดใดแม้แต่น้อย การห้ามการชุมนุมอย่างสงบ ฯลฯ ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นสิ่งที่ขัดกับสิทธิมนุษยชนอย่างรุนแรง”
แถลงการณ์ฉบับนี้ระบุด้วยว่าการลดทอนความชอบธรรมของคณะรัฐประหารจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้สังคมสามารถมีพลังในการคุมคณะรัฐประหารได้มากขึ้น ทั้ง ส.ว. เลือกตั้งและคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ซึ่งอยู่อย่างไร้ความหมายจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งการทำให้คณะรัฐประหารมีอำนาจและความชอบธรรมในทางสังคมที่ลดต่ำลง ด้วยการร่วมกันลาออกจากตำแหน่งทั้งหมด
ภาพประกอบจาก : www.oknation.net