4 องค์กรสื่อจี้ 'ประยุทธ์' ประกาศเจตนารมณ์จะไม่ขวางสื่อมวลชนปฏิบัติหน้าที่
4 องค์กรวิชาชีพสื่อร่อนจดหมายเปิดผนึกขอให้ คสช.ทบทวนคำสั่งกระทบการปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชน เเละมอบหมายให้กสทช. ดูเเล จี้เร่งจัดให้มีรธน.ฉบับใหม่โดยเร็ว เพิ่มบทบัญญัติความคิดเห็นปชช.-สื่อด้วย
วันที่ 24 พฤษภาคม 2557 สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทย ออกจดหมายเปิดผนึกถึงคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ (คสช.) เเละสื่อมวลชน เรื่อง ขอให้ทบทวนคำสั่งที่ส่งผลกระทบต่อการปฎิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชน ใจความว่า
ตามที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกได้ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 1 เรื่องการควบคุมอำนาจการปกครองประเทศ และมีประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 สิ้นสุดลง เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 นั้นได้ทำให้เกิดประเด็นที่หลายฝ่ายวิตกกังวลและห่วงใย โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองและรับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและสื่อมวลชน
รวมทั้งมีประกาศของ คสช.หลายฉบับที่สั่งให้ปิดและปิดกั้นการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน รวมถึงขอให้ระงับการถ่ายทอดออกอากาศของสถานีโทรทัศน์ดาวเทียม เคเบิล โทรทัศน์ระบบดิจิตอล และสถานีวิทยุต่าง ๆ นั้น ซึ่งแม้ว่าจะอนุญาตให้ออกอากาศได้ในภายหลัง แต่ยังมีการควบคุมและกำกับอยู่อย่างเข็มงวด
องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และสภาวิชาชีพวิทยุและโทรทัศน์ไทย จึงมีข้อเสนอแนะ และข้อเรียกร้องต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และเพื่อนร่วมวิชาชีพสื่อมวลชน ดังต่อไปนี้
1.ขอเรียกร้องให้ คสช. ทบทวนประกาศที่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนทุกฉบับโดยเร่งด่วน เพื่อให้สื่อมวลชนทุกแขนงกลับมาทำหน้าที่ได้ตามปกติ ทั้งนี้ คสช.อาจมอบหมายให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่กำกับดูแลสื่อวิทยุกระขายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งจะเกิดประโยชน์สูงสุดในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน
ทั้งนี้ องค์กรวิชาชีพสื่อเห็นว่าการขอความร่วมมือให้สื่อมวลชนทุกแขนงทำหน้าที่อย่างสร้างสรรค์และรับผิดชอบต่อประเทศน่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการใช้อำนาจปิดกั้นสื่อหรือระงับการออกอากาศของสื่อวิทยุและโทรทัศน์ประเภทต่าง ๆ
นอกจากนี้ คสช. ควรประกาศเจตนารมณ์ที่ชัดเจนว่าจะสนับสนุนและไม่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของสื่อมวลชนทุกแขนง ให้สามารถใช้เสรีภาพในการนำเสนอข่าวสารและแสดงความคิดเห็นจากข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา ถูกต้องครบถ้วนและรอบด้าน ซึ่งการแสดงเจตนารมณ์ดังกล่าว จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนโดยรวมและได้รับการยอมรับในสายตาของนานาชาติที่กำลังจับตามองความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในขณะนี้
2.ขอเรียกร้องให้ คสช. ดำเนินการจัดให้มีรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับใหม่โดยเร็ว โดยต้องมีบทบัญญัติที่ให้การคุ้มครองและรับรองเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนและสื่อมวลชน ทั้งนี้ ให้มีเนื้อหาที่สอดคล้องกับบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 โดยเฉพาะในมาตรา 45, 46 และมาตรา 47
3.สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทุกองค์กรและทุกคน จะต้องทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญและต้องร่วมกันนำประเทศออกจากวิกฤติให้ได้ และร่วมเปิดพื้นที่อย่างสร้างสรรค์ เพื่อให้การปฏิรูปประเทศในทุกๆ ด้านเกิดขึ้นจริงตามเจตจำนงของสังคม ที่สำคัญต้องร่วมกันตระหนักถึงคุณค่าของเสรีภาพบนความรับผิดชอบ เพราะการปิดกั้นเสรีภาพสื่อเกินความจำเป็นของ คสช.ในครั้งนี้ ได้สร้างความกังวลและไม่สบายใจแก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนทุกคน
อย่างไรก็ตาม ในสถานการณ์ที่อ่อนไหวเช่นนี้ มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่สื่อมวลชนทุกแขนงต้องใช้วิจารณญาณอย่างสูงในการปฏิบัติงาน เพื่อจะไม่ตกเป็นเครื่องมือของฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด ตลอดจนทำงานด้วยความรับผิดชอบและยึดมั่นในหลักจริยธรรมแห่งวิชาชีพโดยเคร่งครัด .
ภาพประกอบ:สำนักข่าวทีนิวส์