9 องค์กรภาคประชาชน ออกแถลงการณ์ 9 ฉบับ ต้านรัฐประหาร!
รวมแถลงการณ์ภาคประชาชน - ภาคประชาสังคม - เครือข่ายนักศึกษา - องค์กรพัฒนาเอกชน - องค์กรนักกฎหมายสิทธิฯ รวม 9 ฉบับ ต้านรัฐประหาร
ภายหลัง วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาทหารบก ทำการยึดอำนาจ รัฐประหาร ในนามคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 เวลา 16.30 น.
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org รายงานว่า มีเครือข่ายภาคประชาชน ภาคประชาสังคม เครือข่ายนักศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน ไม่น้อยกว่า 7 องค์กร ออกแถลงการณ์คัดค้านการรัฐประหารอย่างต่อเนื่อง โดยแถลงการณ์แต่ละองค์กรมีประเด็นที่น่าสนใจโดยสรุป ดังนี้
-1- กลุ่มศิษย์เก่า มศว.มน พิษณุโลก ปกป้องประชาธิปไตย (กศป.) ออกแถลงการณ์ไม่ยอมรับการรัฐประหารในครั้งนี้ ยืนยันจะยอมรับอำนาจของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้น และขอเรียกร้องให้คณะผู้ทำการรัฐประหารคืนอำนาจให้แก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด
แถลงการณ์ ตอนหนึ่ง ระบุถึงหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่กฎหมายเกิดจากรัฐธรรมนูญซึ่งมาจากอำนาจของประชาชน แต่ในทางตรงกันข้าม ในการรัฐประหาร กฎหมายเกิดจากอำนาจทหาร ซึ่งไม่มีผลใดๆในการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นเพียงหลักการในการใช้อำนาจทหารนั้น และอาวุธต่างๆ ในการละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน
แถลงการณ์ฉบับนี้ ยังระบุถึงบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 68 (วรรคหนึ่ง) "บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตาม รัฐธรรมนูญนี้ หรือเพื่อให้ได้มาซึ่งอํานาจในการปกครองประเทศ โดยวิธีการ ซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ ... มิได้ และในมาตรา 69 บุคคลย่อมมีสิทธิต่อต้านโดยสันติวิธีซึ่งการกระทำใด ๆ ที่เป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็น ไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
-2-ปาตานี ฟอรั่ม ออกแถลงการณ์เพื่อแสดงเจตนารมณ์คัดค้าน โดยระบุว่าการยึดอำนาจครั้งนี้มีแนวโน้มและทิศทางทำให้กระบวนการสันติภาพยืดขยายออกไปอีกจนมองไม่เห็นปลายทางสันติภาพ แถลงการณ์กล่าวถึงการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งอย่างสันติ โดยเปรียบเทียบกับการแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ด้วยวิธีการทางทหารที่ผ่านมา 9 ปี แต่ก็ยังมองไม่เห็นหนทางสู่ความสันติ แต่เมื่อกระบวนการสันติภาพเริ่มต้นขึ้น ความหวังของคนชายแดนใต้ก็เกิดขึ้น จึงควรประคับประคองให้กระบวนการสันติภาพมีประสิทธิภาพและคุณภาพมากขึ้นด้วยวิธีการพูดคุย ไม่ใช่จับอาวุธที่สุ่มเสี่ยงต่อการพรากชีวิตคนจำนวนมากขึ้น เพราะการรัฐประหาร ไม่นำพาให้สังคมเกิดสันติและไม่สามารถคุ้มครอง สิทธิ เสรีภาพ ของคนในสังคมที่มีความหลากหลายทางความคิดได้ รังแต่จะสร้างเงื่อนไขใหม่ ทำให้การแก้ไขปัญหาชายแดนใต้ยากยิ่งขึ้น อำนาจรัฐที่ส่วนกลางเมื่อเปลี่ยนผ่านโดยการยึดอำนาจยิ่งทำให้การกระบวนการ พูดคุยเพื่อสันติภาพเป็นไปได้ยาก
แถลงการณ์จากปาตานี ฟอรั่ม ระบุตอนท้ายว่าขอเสนอให้มีการจัดการคืนอำนาจให้แก่ประชาชนโดยเร็วที่สุด ผ่านกระบวนการประชาธิปไตยโดยการเลือกตั้ง เพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึง การเคารพสิทธิ เสรีภาพของปวงชนชาวไทย
-3- ศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย (Young People for Social-Democracy Movement, Thailand (YPD) ) ออกแถลงการณ์ “คัดค้านรัฐประหาร ต่อต้านการกระทำอันไม่เป็นประชาธิปไตย” เรียกร้องให้มีการคืนอำนาจอธิปไตยกลับคืนสู่ประชาชนโดยเร็ว เพราะการรัฐประหารเป็นการแก้ไขปัญหาระยะสั้นที่จะทำลายสังคมประชาธิปไตยใน ระยะยาว อาจจะยุติความขัดแย้งเฉพาะหน้าได้ แต่บทเรียนในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาได้ก็เป็นบทพิสูจน์ว่า การรัฐประหารจะสร้างความขัดแย้งที่บาดลึกและยาวนาน
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า เพื่อการเฝ้าระวังและจับตา ติดตาม ตรวจสอบการใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทางศูนย์ประสานงานเยาวชนเพื่อสังคมนิยมประชาธิปไตย(YPD.) จึงขอให้ เยาวชน ประชาชน และผู้มีใจเป็นประชาธิปไตยทั้งหลาย ร่วมกันเฝ้าสังเกตพฤติกรรมการใช้อำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อาทิ การแต่งตั้งทหารและบริวารพวกพ้องมาดำรงตำแหน่งสำคัญต่างๆและกระทำการโดยไม่เป็นไปเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชน, จับตาสภานิติบัญญัติที่จะตั้งขึ้นใหม่โดยอำนาจของคณะรัฐประหารว่าจะ ออกกฎหมายใดๆก็ตามที่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนและไม่ได้เป็นไปเพื่อผล ประโยชน์ที่แท้จริงของประชาชนหรือไม่ รวมถึงการจับตาการต่อรองผลประโยชน์ที่ลงตัวของชนชั้นนำที่ทำการรัฐประหารและถูกรัฐประหาร
-4-สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.), มูลนิธิผสานวัฒนธรรม, สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม ออกแถลงการณ์คัดค้านการรัฐประหาร ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ด้วยเหตุผลสำคัญ คือ การรัฐประหารเป็นการทำลายประชาธิปไตย เพราะการยึดอำนาจการปกครองประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เป็นการใช้กำลังบังคับโดยทหาร และมีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนหลายประการ ทั้งจับกุมควบคุมตัวบุคคลโดยปราศจากข้อกล่าวหา การปิดกั้นและแทรกแซงการนำเสนอของสื่อมวลชน การประกาศเคอร์ฟิว และการห้ามชุมนุมทางการเมือง อันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานในระบอบประชาธิปไตย
การยึดอำนาจการปกครองไม่สามารถนำความสงบคืนสู่สังคมได้อย่างแท้จริง แม้ว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะอ้างเหตุในการกระทำเพื่อให้ประชาชนใน ชาติเกิดความรัก ความสามัคคีเช่นเดิมก็ตาม แต่การที่จะนำความสงบกลับคืนมาได้นั้น ต้องใช้วิธีที่สันติและเป็นธรรม และการมีส่วนร่วมของประชาชนตามวิถีประชาธิปไตย การยึดอำนาจโดยทหาร เป็นการบังคับเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจ นำไปสู่การคัดค้านตอบโต้ ดังเช่นการรัฐประหารเมื่อ 19 กันยายน 2549 ที่ยิ่งตอกย้ำ ขยายความขัดแย้งในสังคมอย่างกว้างขวาง จนนำไปสู่ความรุนแรงและการสูญเสียของสังคมเมื่อปี พ.ศ. 2551 และปี พ.ศ. 2553 และยังคงต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน การยึดอำนาจรัฐจึงไม่สามารถแก้ปัญหาของประเทศได้
-5-กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ออกแถลงการณ์ "ประชาชนมีสิทธิต่อต้านการรัฐประหารเพื่อทวงคืนอำนาจสูงสุดและรื้อฟื้น ระเบียบสังคมการเมือง" โดยระบุว่า “ตามที่พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และคณะก่อการรัฐประหารเมื่อเวลา 16.30 น. ของวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ล้มล้างรัฐบาลรักษาการ ฉีกรัฐธรรมนูญ2550 คงเหลือบังคับใช้เพียงบางส่วน พร้อมออกประกาศอีกหลายฉบับที่ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน การกระทำทั้งหมดเป็นการประกาศตั้งตนเป็นรัฏฐาธิปัตย์ ปล้นชิงอำนาจของประชาชน ล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตย มีความผิดฐานกบฏ โทษถึงประหารชีวิต”
แถลงการณ์ระบุด้วยว่า "อำนาจรัฏฐาธิปไตยเป็นของประชาชนทุกคน ไม่มีใครมีสิทธิปล้นชิงไปจากประชาชน อำนาจรัฏฐาธิปไตยเป็นสิ่งติดตัวมาแต่เกิดไม่มีใครพรากไปจากประชาชนได้ไม่ว่า จะด้วยกำลังอาวุธ หรือด้วยอำนาจมืดของผู้ยิ่งใหญ่ไม่ว่าคนใดในประเทศนี้ก็ตาม ต่อให้เข่นฆ่าประชาชนให้ตายซักกี่คน ก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่าประชาชนทุกคนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดร่วม กันอย่างไม่มีทางเป็นอื่น และจะเป็นเช่นนี้ตลอดไป ดังนั้นคณะรัฐประหารต้องคืนอำนาจให้ประชาชนทันที และต้องรื้อฟื้นระเบียบสังคมการเมืองกลับคืนสู่สภาพการณ์ก่อนเวลา 16.30 น. ของวันที่ 22 พฤษภาคม กล่าวคือ ทหารกลับเข้ากรมกอง รัฐธรรมนูญ 2550 กลับคืนสู่สภาพเดิม บังคับใช้ตามเดิมทุกประการ รัฐบาลรักษาการทำหน้าที่ต่อไปจนกว่ารัฐบาลจากการเลือกตั้งชุดใหม่จะเข้ามา แทนที่ ให้ทุกองค์กรและทุกคนที่ได้รับผลกระทบกลับคืนสู่สภาพการณ์เดิมก่อนการรัฐ ประหาร"
-6-ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ขปส.) หรือพีมูฟ ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 45 เรื่อง : คัดค้านการรัฐประหาร แสดงจุดยืน 3 ประการ คือ 1. คัดค้านการรัฐประหาร ของคณะผู้นำเหล่าทัพ และ ผบ.ตร. 2. คัดค้าน และไม่ยอมรับ ประกาศ และคำสั่ง ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) 3. ขอให้แต่ละฝ่ายและทุกภาคส่วน ร่วมกันแสดงการอารยะขัดขืนต่อ คสช. ด้วยสันติวิธี
-7-กลุ่มพอกันที ออกแถลงการณ์ เรื่อง “สันติภาพไม่ได้มาด้วยปลายกระบอกปืน” ระบุว่า “รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ครั้งนี้เกิดขึ้นด้วยข้ออ้างสวยหรูว่าเพื่อหยุดความรุนแรง หยุดการปะทะกัน ทั้งที่ปัญหาความขัดแย้งที่เป็นอยู่ เป็นความขัดแย้งระหว่างการรักษากติกาประชาธิปไตย กับความต้องการล้มกติกาประชาธิปไตย แต่การรัฐประหารเป็นการล้มกติกาประชาธิปไตยลงอย่างสิ้นเชิง
ดังนั้นการรัฐประหารจึงไม่สามารถจัดการความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ได้” และระบุด้วยว่าการรัฐประหารที่ใช้อาวุธใช้อำนาจที่เหนือกว่า มากดข่มประชาชนทุกคน ถือเป็นความรุนแรงอย่างปฏิเสธไม่ได้ ถึงแม้จะอ้างว่าเพื่อมาหยุดความรุนแรง แต่การใช้อำนาจความรุนแรงที่เหนือกว่านี้ ได้ละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนผู้พยายามจะดำรงชีวิตปกติท่ามกลางสถานการณ์ความขัดแย้ง อีกทั้งประกาศฉบับต่างๆ ของคณะรัฐประหารยังละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นร้ายแรง“รัฐประหารคือการรวบอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ที่คณะบุคคลหนึ่งๆ ตรวจสอบไม่ได้ สำหรับผู้ไม่เห็นด้วยกับการคอร์รัปชั่นทั้งหลาย พึงต่อต้านรัฐประหารอย่างแข็งขัน เพราะระบอบเผด็จการทหารคือระบอบที่คอร์รัปชั่นร้ายแรงที่สุดตลอดประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมา” แถลงการณ์ดังกล่าวระบุ ก่อนแสดงจุดยืนในตอนท้ายว่า เชื่อมั่นในการจัดการความขัดแย้งโดยไม่ใช้ความรุนแรง เพราะเชื่อมั่นว่าสังคมไทยต้องเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันบนความขัดแย้งอย่างสันติให้ได้
-8-กลุ่มนักกิจกรรมสังคม
สิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยเป็นสิ่งที่เติบโตและงอกงามขึ้นในสำนึกของคนและระหว่างคน จึงมิใช่สิ่งที่ได้มาด้วยการหยิบยื่น และไม่สามารถพรากไปด้วยกำลังอาวุธหรือความรุนแรง
การรัฐประหารที่เกิดขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา จึงไม่สามารถทำลายประชาธิปไตยและสำนึกแห่งเสรีภาพที่ฝังรากอยู่ในคนไทยได้
ที่สำคัญการรัฐประหารไม่สามารถเป็นวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาร่วมของสังคมแต่อย่างใดทั้งจากประวัติศาสตร์และเงื่อนไขในปัจจุบัน ทั้งนี้อำนาจเบ็ดเสร็จผ่านกระบอกปืน นอกจากจะไม่ช่วยให้สังคมพัฒนาในระยะยาวแล้ว มีความสุ่มเสี่ยงสูงยิ่งที่จะนำไปสู่ความรุนแรงและการสูญเสียเลือดเนื้อ
ดังนั้น นักกิจกรรมทางสังคมตามรายนามต่อไปนี้ ขอประกาศจุดยืนร่วมกันเพื่อปฏิเสธรัฐประหาร อันจะทำให้เราวนเวียนอยู่ในวัฎจักรอุบาทว์และความรุนแรงไม่สิ้นสุด โดยมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
1. ขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ คืนอำนาจอธิปไตยให้กับประชาชนไทยโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันความขัดแย้งรุนแรงยิ่งขึ้น และเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นด้วยประชาชนเอง
2. ขอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรง, ยุติการละเมิดสิทธิเสรีภาพ, สิทธิการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และสิทธิในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานโดยเร็วที่สุด รวมทั้งประกันสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนในการนำเสนอข่าวสารต่างๆ
3. ขอเรียกร้องให้คู่ขัดแย้งทางการเมือง และกลุ่มต่างๆ เร่งเจรจาเพื่อหาทางออกให้กับประเทศโดยไม่ใช้ชีวิตของประชาชนเป็นเครื่องมือต่อรอง
4. ขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องพึงตระหนักว่า การแก้ไขปัญหาต่างๆ โดยมิได้สนใจความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง อันคือปัญหารากฐานที่แท้จริงนั้น ไม่มีทางที่สังคมไทยจะหาหนทางออกจากวังวนนี้อย่างยั่งยืนได้จริง
ในท้ายนี้ ขอให้กลุ่มการเมืองทุกกลุ่มและประชาชนทุกฝ่ายร่วมกันทบทวนว่า การพยายามเอาชนะคะคานกันอย่างเด็ดขาดที่ผ่านมาโดยไม่สนใจความแตกต่างและความหลากหลายทางความคิด จะทำให้ทุกคนกลายเป็นผู้แพ้
-9-เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมเเละการเมือง (คปสม.) ออกเเถลงการณ์ เรื่อง ขอให้คืนอำนาจเเละเปิดพื้นที่สาธารณะทางสังคม โดยเรียกร้องขอคัดค้านการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเเห่งชาติ (คสช.) พร้อมให้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนเเละสื่อกระเเสหลักทำหน้าที่รายงานเหตุการณ์บ้านเมืองอย่างเหมาะสมทันที
นอกจากนี้ยังเรียกร้องให้คุ้มครองชุมชนที่ถูกอิทธิพลมืดรุกรานเเละต้องเเก้ปัญหาชุมชนต่าง ๆ ซึ่งเป็นรากของปัญหาความขัดเเย้ง เเละเร่งรัดให้มีการปฏิรูปประเทศอย่างเร่งด่วน สุดท้ายให้เร่งคืนอำนาจไปสู่ระบอบประชาธิปไตย
ทั้งหมดนี้คือเสียงจากประชาชนในหลายภาคส่วน ที่รวมตัวกันออกแถลงการณ์ ต้านรัฐประหารในครั้งนี้ !