52 ชุมชน รับรางวัล “หมู่บ้านประชาธิปไตย” จาก สนง.เอกลักษณ์ชาติฯ
องคมนตรีแนะใช้หลักประชาธิปไตย ลดปัญหาแตกแยกทางความคิด-แก้เหตุไม่สงบ “ชุมชนบ้านน้ำผุด” เผยความเข้มแข็งจากกระบวนการประชาคมรักษาป่าต้นน้ำตรัง “บ้านหนองเม็ก” ชี้วิธีอยู่ร่วมกันของคนต่างสีในชุมชนอย่างสมานฉันท์
วันที่ 27 ก.ค. 54 คณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตย สำนักงานงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ (สอช.) สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี จัดพิธีมอบรางวัล “ชุมชนหรือหมู่บ้านประชาธิปไตยตัวอย่าง ประจำปี 2554” ที่ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร(ไทย-ญี่ปุ่น) โดยมีนายอำพล เสนาณรงค์ องคมนตรี เป็นประธานมอบรางวัล และกล่าวเปิดงานว่ากิจกรรมดังกล่าวทำให้คนไทยมีความรู้ ความเข้าใจเรื่อง การปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข และบังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม โดยยึดพื้นฐานตามหลักการประชาธิปไตยที่ว่า ร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมปฏิบัติ ร่วมรับผิดชอบ และร่วมรับผลประโยชน์
“หากคนไทยยึดมาตรฐานดังกล่าวในการดำรงชีวิตแล้ว เชื่อว่าปัญหาความแตกแยกทางความคิดและเหตุการณ์ความไม่สงบในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสังคม จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน” องคมนตรี กล่าว
ด้าน นายสุวัช สิงหพันธ์ ประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตย กล่าวว่า การปกครองในระบอบประชาธิปไตย เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องมีความรู้ความเข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะอำนาจตามระบอบดังกล่าวต้องมาจากประชาชน ดังนั้นการส่งเสริมให้คนไทยมีความรู้ มีพฤติกรรมประชาธิปไตยอันพึงประสงค์ เช่น รู้จักบทบาทหน้าที่และสิทธิของตนเอง ยอมรับเสียงส่วนมากไม่ละเลยเสียงส่วนน้อย มีจิตสำนึกต่อสังคม จึงเป็นภารกิจที่สำคัญ
นายสุวัช กล่าวต่อว่า การคัดเลือกหมู่บ้าน หรือ ชุมชนประชาธิปไตยตัวอย่าง มีวัตถุประสงค์ 3 ประการ ได้แก่ 1.เพื่อให้ชุมชน/หมู่บ้านนำเอาหลักการประชาธิปไตยมาใช้ในการดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดประชาคมหรือการร่วมกันแก้ไขปัญหายาเสพติด 2.เพื่อส่งเสริมให้ชุมชนมีวิถีประชาธิปไตย อยู่ในศีลธรรม มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่น 3.เพื่อประกาศยกย่องหมู่บ้านที่ได้รับรางวัล และส่งเสริมให้ชุมชนหรือหมู่บ้านอื่นๆนำไปเป็นตัวอย่าง ซึ่งในปีนี้มีชุมชน/หมู่บ้านที่ได้รับรางวัล 52 แห่ง จาก 46 จังหวัดทั่วประเทศ
นายมานพ ชัยบัวคำ ผู้ใหญ่บ้านโป่งศรีนคร ม.11 ต.โรงช้าง อ.ป่าแดด จ.เชียงราย กล่าวว่านอกจากจะได้รับรางวัลหมู่บ้านประชาธิปไตยในปีนี้แล้ว ปีที่ผ่านมายังได้รับรางวัลหมู่บ้านต้นแบบปกป้องสถาบันอีกด้วย โดยจัดทำโครงการ “ธงไตรงค์ ดำรงไทย” ด้วยการประดับธงชาติตลอดแนวถนนทุกสายในหมู่บ้าน พร้อมการเคารพธงชาติร่วมกันทุกเช้า-เย็น และยังมีโครงการอื่นๆที่ทำร่วมกันในชุมชน เช่น หน้าบ้านน่ามอง หลังบ้านน่าดู ในบ้านน่าอยู่ โดยมีคณะกรรมการหมู่บ้านลงตรวจเยี่ยมและให้คะแนน
“แนวคิดดังกล่าวมาจากการที่เราเห็นคนในหมู่บ้านเริ่มแตกแยกทางความคิด จึงคิดว่า จะแสดงออกถึงความรักชาติ และรักประชาธิปไตยอย่างไร” ผู้ใหญ่บ้านโป่งศรีนคร กล่าว
ด้าน นายสวัสดิ์ ขุนนุ้ย ผู้ใหญ่บ้าน ม. 7 ต. น้ำผุด อ.เมือง จ.ตรัง หนึ่งในตัวแทนชุมชนที่ได้รับรางวัล เปิดเผยกับศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศราว่า หมู่บ้านได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆโดยใช้หลักการประชาธิปไตย เช่น มีการประชุมทุกๆวันที่ 6 ของเดือน เพื่อรับฟังปัญหาจากชาวบ้าน และร่วมกันแก้ไขปัญหาต่างๆในชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยอาศัยมติในที่ประชุมตามแบบประชาคม นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมการรักษาพื้นที่ป่าต้นน้ำตรังซึ่งถือเป็น 1 ใน 8 ของผืนป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย โดยร่วมกับเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขาปู่เขาย่า
นายคำผาย ภาระวัตร ผู้ใหญ่บ้าน ม. 8 ต.หนองเม็ก อ.หนองหาน จ. อุดรธานี เปิดเผยว่า ได้น้อมนำเอาพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ตั้งแต่ปี 2541 จนกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ให้กับประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ยังได้รับรางวัลหมู่บ้านสีขาวปลอดยาเสพติด จากเดิมที่อดีตเคยเป็นทางผ่านซื้อ-ขายยาเสพติด และยังได้รางวัลปกป้องสถาบันด้วย ซึ่งทั้งหมดเกิดจากความร่วมมือร่วมใจในชุมชนตามหลักประชาธิปไตย
“ที่ผ่านมาชุมชนเคยมีความแตกแยก โดยเฉพาะแนวคิดทางการเมืองที่แตกต่าง แต่เราก็คุยกันว่าไม่ว่าจะเสื้อสีอะไรก็ต้องปกป้องสถาบัน ซึ่งทุกคนในหมู่บ้านเห็นด้วย รวมทั้งคนที่อยู่ในกลุ่มเสื้อแดง เขาก็บอกว่ารักประชาธิปไตยและรักสถาบัน เพียงแต่มีมุมมองทางการเมืองที่แตกต่าง ซึ่งก็เราอยู่ร่วมกันในหมู่บ้านได้ไม่มีปัญหา” ผู้นำหมู่บ้านหนองเม็กกล่าว
ทั้งนี้โครงการคัดเลือกหมู่บ้านประชาธิปไตยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน โดยมีชุมชนหรือ หมู่บ้านที่ได้รับคัดเลือกมาแล้วทั้งสิ้น 272 แห่ง ซึ่งหลักเกณฑ์คัดเลือก ได้แก่ สนับสนุนและส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข, มีการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างเป็นกระบวนการและมีการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่ส่งเสริมการพัฒนาประชาธิปไตยอย่างยั่งยืน, สนับสนุนและส่งเสริมการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาล, มีวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย อยู่ในระเบียบวินัย กรอบคุณธรรมและจริยธรรม รวมถึงบำรุงรักษาศิลปวัฒนธรรม จารีตประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ดีงาม และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมในเขตพื้นที่ .
…………….…………
(ล้อมกรอบ)
รายชื่อชุมชนและหมู่บ้านประชาธิปไตยตัวอย่างประจำปี 2554
กรุงเทพมหานคร ได้แก่ ชุมชนชวนชื่นบางเขน เขตหลักสี่, ชุมชนตรอกข้าวเม่า เขตบางกอกน้อย, ชุมชนศาลาลอย เขตวัฒนา
จังหวัดกระบี่ ได้แก่ ชุมชนเมืองเก่าพัฒนา ต.กระบี่ใหญ่ อ.เมือง จ. กระบี่, บ้านถ้ำเสือ ม. 5 ต.อ่าวลึกใต้ อ.อ่าวลึก
จังหวัดกาญจนบุรี ได้แก่ ชุมชนวิสุทธรังสี ต.ท่าล้อ อ.เมืองกาญจนบุรี, ม.หนองประดู่ ม.2 ต.หนองประดู่ อ.เลาขวัญ
จังหวัดขอนแก่น ได้แก่ หมู่บ้านหนองสิม ม.11 ต.โจดหนองแก อ.พล
จังหวัดจันทบุรี ได้แก่ หมู่บ้านทรัพย์ประเมิน ม.9 ต.โป่งน้ำร้อน อ.โป่งน้ำร้อน
จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้แก่ หมู่บ้านแพรกวิหารแก้ว ม. 11 ต.บางเตย อ.เมืองฉะเชิงเทรา
จังหวัดชลบุรี ได้แก่ ชุมชนนาพร้าว ม. 5 ต.สุรศักดิ์ อ.ศรีราชา, หมู่บ้านหนองพะยอม ม. 1 ต.หนองบอนแดง อ.บ้านบึง
จังหวัดชุมพร ได้แก่ หมู่บ้านศาลาประชาคม ม. 12 ต.ท่าข้าม อ. ท่าแซะ
จังหวัดเชียงราย ได้แก่ หมู่บ้านโป่งศรีนคร ม. 11 ต.โรงช้าง อ.ป่าแดด
จังหวัดเชียงใหม่ ได่แก่ หมู่บ้านแม่ใจใต้ ม. 7 ต.เวียง อ.ฝาง
จังหวัดตรัง ได้แก่ หมู่บ้านเขาหลัก ม.7 ต.น้ำผุด อ.เมือง
จังหวัดตราด ได้แก่ หมู่บ้านห้วงบอน ม. 5 ต.ไม้รูด อ.คลองใหญ่
จังหวัดตาก ได้แก่ หมู่บ้านวังม่วง ม. 5 ต.ไม้งาม อ.เมือง
จังหวัดนครนายก ได้แก่ หมู่บ้านชวดบัว ม.4 ต.ดอนยอ อ.เมือง
จังหวัดนครราชสีมา ได้แก่ หมู่บ้านโคกพรม ม. 5 ต.โนนไทย อ.โนนไทย
จังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ หมู่บ้านในหมง ม6 ต.พรหมโลก อ.พรหมคีรี
จังหวัดบุรีรัมย์ ได้แก่ หมู่บ้านหนองแต้ ม. 3 ต.โนนขวาง อ.บ้านด่าน
จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้แก่ หมู่บ้านดงไม้งาม ม. 3 ต.ชัยเกษม อ.บางสะพาน
จังหวัดปัตตานี ได้แก่ หมู่บ้านต้นตโนด ม. 1 ต.ป่าไร่ อ.แม่ลาน
จังหวัดพะเยา ได้แก่ บ้านสถาน 2 ม. 1 ต.ภูซาง อ.ภูซาง
จังหวัดพังงา ได้แก่ หมู่บ้านนากลาง ม.9 ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง
จังหวัดพัทลุง ได้แก่ หมู่บ้านนาวงศ์ ม. 9 ต.บ้านนา อ.ศรีนครินทร์
จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้แก่ ชุมชนบ้านกุดช้าง ม. 6 ต.หล่มเก่า อ.หล่มเก่า, หมู่บ้านหัวนาเลา ม.5 ต.บ้านติ้ว อ.หล่มสัก
จังหวัดแพร่ ได้แก่ หมู่บ้านกาซ้อง ม. 4 ต.เหมืองหม้อ อ.เมือง
จังหวัดมุกดาหาร ได้แก่ หมู่บ้านภู ม. 3 ต. บ้านเป้า อ.หนองสูง
จังหวัดยะลา ได้แก่ หมู่บ้านปาแตรายอ ม. 2 ต.เกะรอ อ.รามัน
จังหวัดระนอง ได้แก่ หมู่บ้านดอนโคกช้าง ม. 2 ต.ในวงเหนือ อ.ละอุ่น
จังหวัดระยอง ได้แก่ หมู่บ้านหนองเสม็ดแดง ม. 9 ต.คลองปูน อ.แกลง
จังหวัดราชบุรี ได้แก่ หมู่บ้านบ้านกุ่ม ม. 2 ต.บางแพ อ.บางแพ
จังหวัดลพบุรี ได้แก่ หมู่บ้านทุ่งท่าช้าง ม.1 ต.ทุ่งท่าช้าง อ.สระโบสถ์
จังหวัดลำปาง ได้แก่ หมู่บ้านโป่งแก้ว ม. 12 ต.บ้านโป่ง อ.งาว
จังหวัดลำพูน ได้แก่ หมู่บ้านเหมืองจี้ใหม่ ม. 8 ต.เหมืองจี้ อ.เมือง
จังหวัดเลย ได้แก่ หมู่บ้านนาพึง ม. 1 ต.นาพึง อ.นาแห้ว
จังหวัดสกลนคร ได้แก่ หมู่บ้านโนนหัวช้าง ม. 8 ต.สร้างค้อ
จังหวัดสมุทรสงคราม ได้แก่ หมู่บ้านลาดใหญ่ 2 ม. 11 ต.ลาดใหญ่ อ.เมือง
จังหวัดสมุทรสาคร ได้แก่ หมู่บ้านรางกระทุ่ม ม. 4 ต.ท่าเสา อ.กระทุ่มแบน
จังหวัดสิงห์บุรี ได้แก่ หมู่บ้านแหลมไผ่ ม.10 ต.งิ้วราย อ.อินทร์บุรีฃ
จังหวัดสุโขทัย ได้แก่ หมู่บ้านหรรษา ม.4 ต.ยางซ้าย อ.เมือง
จังหวัดสุพรรณบุรี ได้แก่ หมู่บ้านหนองกุฏิ ม. 7 ต.พลับพลาไชย อ.อู่ทอง
จังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แก่หมู่บ้านสุขสันต์ ม. 10 ต.ท่าขนอน อ.คีรีรัฐนิคท
จังหวัดสุรินทร์ ได้แก่ หมู่บ้านหอก ม. 4 ต.ศรีสุข อ.ศรีณรงค์
จังหวัดอ่างทอง ได้แก่ หมู่บ้านยางทอง ม. 8 ต.บางเจ้าฉ่า อ.โพธิ์ทอง
จังหวัดอำนาจเจริญ ได้แก่ หมู่บ้านหนองเดิ่น ม. 5 ต.รัตนวารี อ.หีวตะพาน
จังหวัดอุดรธานี ได้แก่ หมู่บ้านหนองนกทา หมู่ที่ 8 ต.หนองเม็ก อ.หนองหาน
จังหวัดอุทัยธานี ได้แก่ หมู่บ้านหนองกระทุ่ม ม. 2 ต.หนองยาง อ.หนองฉาง
จังหวัดอุบลราชธานี ได้แก่ ชุมชนวัดสารพัฒนึก ต.ในเมือง อ.ในเมือง .