ข้อแตกต่างของ“บิ๊กตู่”กับ 2 นักรัฐประหารรุ่นพี่
เชื่อหรือไม่? แม้ต่างยุคต่างสมัยกันแต่เหตุผลซึ่งเป็น“ข้ออ้าง”ในการรัฐประหาร 3 ครั้งในช่วง 23 ปี มีสาระสำคัญเหมือนกัน
ก่อนกล่าวรายละเอียดขอให้ดูคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เสียก่อน
วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาทหารบก ออกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 1/2557 ระบุว่า จากความรุนแรงที่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เขตปริมณฑล และพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศในหลายพื้นที่ เป็นผลให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตได้รับบาดเจ็บและเกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินอย่างต่อเนื่อง และเหตุการณ์ดังกล่าวมีแนวโน้มขยายตัวจนอาจเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงที่จะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ และความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนโดยรวมนั้นเพื่อให้สถานการณ์ดังกล่าวกลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว ประชาชนในชาติเกิดความรัก ความสามัคคี เช่นเดียวกับห้วงที่ผ่านมา ตลอดจนเพื่อเป็นการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกพวกทุกฝ่าย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งประกอบด้วย กองทัพบก กองบัญชากองทัพไทย กองทัพเรือ กองทัพอากาศ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ จึงมีความจำเป็นต้องเข้าควบคุมอำนาจในการปกครองประเทศตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 เวลา 16.30 น. เป็นต้นไป
ขณะที่คำประกาศของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน (บิ๊กบัง) ตามที่ปรากฏในคำสั่งแต่งตั้งหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 20 ก.ย.2549 ระบุว่า
การบริหารราชการแผ่นดิน ของรัฐบาลอันมีพันตํารวจโท ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้สึกรู้รักสามัคคีของชนในชาติอย่างที่ไม่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ของชาติไทย ประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยว่าการบริหารราชการแผ่นดินส่อไปในทางทุจริต ประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงานอิสระถูกการเมืองครอบงํา ทําให้การดําเนินกิจกรรมทางการเมืองเกิดปัญหาและอุปสรรคหลายประการ แม้หลายภาคส่วนของสังคมจะได้พยายามประนีประนอมคลี่คลายสถานการณ์มาโดยต่อเนื่องแล้ว ก็ไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ คณะทหาร ตํารวจ และพลเรือน ซึ่งมีพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นหัวหน้า ได้เข้ายึดอํานาจการปกครองไว้ได้และทําหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์
ทรงเป็นประมุข ประกาศ ณ วันที่ 20 ก.ย.2549
จากคำประกาศข้างต้นเห็นได้ว่า “ข้ออ้าง”ที่นำไปสู่การรัฐประหารของ พล.อ.ประยุทธ์ คล้ายกับข้ออ้างในการยึดอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ของ พล.อ.สนธิ คือ“ความขัดแย้งของคนในชาติ”
อย่างไรก็ตาม ถ้าเทียบกับข้ออ้างของ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ (บิ๊กจ๊อด) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ จะพบว่า การรัฐประหารทั้ง 3 ครั้งมีจุดร่วมคล้ายกันตรง “รัฐบาลไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้”
ดังคำประกาศแต่งตั้งคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อวันที่ 24 ก.พ.34 ที่ว่า
“เนื่องด้วย ปรากฏว่ารัฐบาลอันมีพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี ได้บริหารราชการแผ่นดิน ที่ไม่เป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ทั้งไม่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองได้ คณะทหาร ตำรวจ และพลเรือน ซึ่งมีพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ เป็นหัวหน้า ได้เข้ายึดอำนาจการปกครองไว้ได้ และทำหน้าที่เป็นหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ประกาศ ณ วันที่ 24 ก.พ.2534”
กระนั้น“ข้ออ้าง”ในการยึดอำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ (บิ๊กตู่) ในครั้งนี้ ต่างจาก บิ๊กจ๊อด และบิ๊กบัง ตรง ไม่มีถ้อยแถลงใดเลยที่ระบุถึงปัญหาคอร์รัปชั่นในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร
ในขณะที่การรัฐประหารยุค “บิ๊กจ๊อด”มีการตั้ง พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมืองที่มีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ อายัดทรัพย์นักการเมืองนับสิบราย
ส่วนการรัฐประหารยุคบิ๊กบังมีการตั้งนายนาม ยิ้มแย้ม เป็นประธาน ตรวจสอบการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณหลายโครงการ
แม้ว่า คตส.ยุคบิ๊กจ๊อดล้มเหลว เพราะไม่สามารถยึดทรัพย์ผู้ใดได้ ส่วน คตส.ยุคบิ๊กบังหมดวาระไปก่อนแต่ก็ส่งไม้ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ส่งฟ้องจนสามารถยึดทรัพย์ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กว่า 4.3 หมื่นล้านบาท
นี่คือจุดที่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญที่เห็นอย่างเป็นรูปธรรมในตอนนี้