พลิกปูมประวัติ "ผู้นำ" รัฐประหาร 11 ครั้ง จาก "พจน์ พหลโยธิน" ถึง “ประยุทธ์”
"..การอภิวัฒน์ 2475 ถือเป็นการรัฐประหารเพียงครั้งเดียวของไทย ที่เรียกได้ว่าเป็นการ “ปฏิวัติ” เพราะเป็นการยึดอำนาจที่เปลี่ยนรูปแบบการปกครองอย่างสิ้นเชิง ขณะที่การรัฐประหารครั้งอื่นๆ แม้จะเป็นการยึดอำนาจ เพื่อเปลี่ยนขั้วการเมือง แต่ก็ไม่อาจล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข.."
ขณะที่ประวัติศาสตร์การอภิวัฒ์นั้น มากด้วยรายละเอียดของแนวความคิด และบริบททางสังคมในยุคสมัยนั้น รวมถึงการบ่มเพาะ วางลำดับขั้นของแผนการที่ใช้เวลานานหลายปีก่อนจะสัมฤทธิ์ผลโดยปราศจากการนองเลือด
แต่ไม่ว่า "ต้นทาง" "กลางทาง" และ "ปลายทาง" ของการรัฐประหารแต่ละครั้ง จะจบลงด้วย "ผลลัพธ์" เช่นไร "ผู้นำ" ในการทำรัฐประหารแต่ละครั้ง มักถูกจับตามองเป็นพิเศษ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "บทบาท" ความเป็น "ผู้นำ"
อาทิ การยึดอำนาจในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 ของ “คณะราษฎร” นำโดยพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา, หลวงประดิษฐ์ มนูธรรม ( ปรีดี พนมยงค์ ) และข้าราชการทหารบก ทหารเรือและข้าราชการพลเรือน ร่วมกันยึดอำนาจการปกครองประเทศและเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข แม้ฝ่ายทหารจะนำโดยพระยาพหลฯ
แต่ผู้ที่ได้รับการยอมรับให้เป็นมันสมอง และแกนนำคนสำคัญรวมทั้งเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งคณะราษฎรก็คือ "ปรีดี พนมยงค์"
ทั้งนี้ เพื่อฉายภาพความเป็น "ผู้นำ" การทำรัฐประหารในประวัติศาสตร์ชาติไทย ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้สรุปข้อมูลผู้นำรัฐประหาร นับจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ทั้ง 11 ครั้ง มานำเสนอ ดังต่อไปนี้
เริ่มต้น ผู้นำคณะราษฎร สายทหารบก พระยาพหลพลพยุหเสนา ( พจน์ พหลโยธิน )
พระยาพหลพลพยุหเสนา เกิดวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2430 เวลา 03.30 น. ณ บ้านหน้าวัดราชบูรณะ จังหวัดพระนคร เป็นบุตรของพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ( กิ่ม พหลโยธิน ) กับท่านผู้หญิงจับ พหลโยธิน สมรสกับท่านผู้หญิงบุญหลง พหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี 5 สมัย รวมระยะเวลา 5 ปี 5 เดือน 21 วัน ยังได้รับสมญานามว่า เชษฐบุรุษ ด้วย ถึงแก่อสัญกรรมด้วยเส้นโลหิตในสมองแตก เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 รวมอายุ ได้ 59 ปี
ในเช้าวันเปลี่ยนแปลงการปกครอง พระยาพหลฯ เดินทางออกจากบ้านไปพร้อมกับพระประศาสน์พิทยายุทธที่ขับรถมารับ มุ่งหน้าไปยังตำบลนัดพบ คือ บริเวณทางรถไฟสายเหนือตัดกับถนนประดิพัทธ์ ในเวลา 05.00 น. เพื่อสมทบกับกลุ่มของพระยาทรงสุรเดช ก่อนที่จะเดินทางไปที่กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.1 รอ.) ที่แยกเกียกกาย จากนั้น ที่ลานพระบรมรูปทรงม้า เมื่อทหารทุกหน่วยมาพร้อมแล้ว พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา จึงได้แสดงตนเป็นหัวหน้าผู้ก่อการ และอ่านประกาศคณะราษฎรฉบับแรก
รัฐประหารครั้งที่ 2 วันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 นำโดยพลโทผิน ชุณหะวัณ ทำการยึดอำนาจการปกครองและล้มล้างรัฐบาลของ พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์
พลโทผิน ชุณหะวัณ เป็นนักเรียนนายสิบที่โรงเรียนนายสิบ กรมทหารที่ 4 ราชบุรี เมื่อมีอายุได้ 16 ปี เมื่อจบหลักสูตรสามารถสอบไล่ได้คะแนนดีเยี่ยม จึงได้เลื่อนขั้นไปศึกษาต่อใน โรงเรียนนายร้อยทหารบก จนจบ (รุ่นเดียวกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม) และได้พระราชทานยศเป็นนายร้อยตรี ประจำกรมทหารราบที่ 4 ราชบุรี หลังจากนั้นได้เข้าเรียนโรงเรียนเสนาธิการทหารบก เมื่ออายุ 37 ปีได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์เป็น "หลวงชำนาญยุทธศาสตร์" และ พ.ศ. 2472 ได้เลื่อนยศเป็นพันตรีและพลโทในเวลาถัดมา
พลโท ผิณ ชุณหะวัณ ทำการรัฐประหารโดยอ้างเหตุว่า รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ ไม่สามารถแก้ปัญหาคอร์รัปชั่น และคลี่คลายกรณีสวรรคตได้ การรัฐประหารครั้งนี้ ได้สร้างวัฒนธรรมอย่างหนี่งให้แก่ประวัติศาสตร์การเมืองไทย คือการฉีกรัฐธรรมนูญ การยุบสภาผู้แทนราษฎร และทำให้การรัฐประหารได้รับการรับรองด้วยอำนาจตุลาการในปี 2496 ว่าชอบด้วยกฎหมาย นำไปสู่การสร้างบรรทัดฐานในรูปแบบดังกล่าวให้แก่คณะรัฐประหารในยุคต่อๆ มา ที่ได้รับการละเว้นโทษ
รัฐประหารครั้งที่ 3.นำโดยจอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำการยึดอำนาจการปกครองและล้มล้ามรัฐบาลของตนเอง และยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2492
จอมพล ป.พิบูลสงคราม มีชื่อเดิมว่า "แปลก ขีตตะสังคะ" เกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 ที่จังหวัดนนทบุรี เป็นบุตรของนายขีด และนางสำอางค์ ขีตตะสังคะ บิดาและมารดามีอาชีพชาวสวน ภริยาคือ ท่านผู้หญิง ละเอียด พิบูลสงคราม
จอมพล ป. เข้าศึกษาขั้นต้นที่ โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม จังหวัดนนทบุรี จากนั้นได้เข้าเรียนในโรงเรียนนายร้อยทหารบก กระทั่งสำเร็จการศึกษา เมื่อ พ.ศ. 2459 ขณะอายุ 19 ปี โดยได้รับยศร้อยตรี และเข้าประจำการที่กองพลที่ 7 จังหวัดพิษณุโลก จากนั้นไม่นานได้สอบเข้าโรงเรียนเสนาธิการได้เป็นที่ 1 และเดินทางไปศึกษาต่อที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ประเทศฝรั่งเศสและโรงเรียนทหารขั้นสูง ประเทศเยอรมัน จนสำเร็จการศึกษา และกลับมารับราชการต่อไป กระทั่งได้ยศพันตรี มีบรรดาศักดิ์และราชทินนาม ที่ "หลวงพิบูลสงคราม"
จอมพล ป. เป็นหนึ่งในคณะนายทหารผู้ร่วมก่อการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 โดยเป็นนายทหารปืนใหญ่ รุ่นน้องของ พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา 2 ปี ที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก และเป็นสมาชิกคณะราษฎรยุค ก่อตั้งซึ่งมีทั้งหมด 7 คน ตั้งแต่ยังศึกษาอยู่ในประเทศฝรั่งเศส โดยถือเป็นผู้นำของคณะทหารบกยศชั้นผู้น้อย
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จอมพล ป. มีบทบาทสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นผู้บัญชาการกองกำลังผสม ในการปราบกบฏบวรเดช เมื่อปี พ.ศ. 2476 จนได้รับความไว้วางใจ ให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา
คืนวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 เมื่อถูก จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพล ป.ได้หลบหนีไปด้วยรถยนต์ส่วนตัวกับผู้ติดตามเพียง 2 คน ไปอย่างหวุดหวิด โดยผ่านไปทางประเทศกัมพูชา ก่อนจะลี้ภัยทางการเมืองที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่ง ณ ที่นั่น ท่านและครอบครัวได้รับการต้อนรับอย่างดี ทั้งนี้เพราะทางรัฐบาลญี่ปุ่นถือว่าเป็นท่านเป็นผู้ที่บุญคุณต่อญี่ปุ่น[8]ซึ่ง เคยยินยอมให้ทหารญี่ปุ่นผ่านเข้าประเทศไทยในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองด้วยดี จอมพล ป.พำนักอยู่ที่นั่นจนตราบถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2507 ในเวลาประมาณ 20.30 น. ณ บ้านพักส่วนตัว ชานกรุงโตเกียว สิริอายุได้ 66 ปี
รัฐประหารครั้งที่ 4. วันที่ 16 กันยายน 2500 และครั้งที่ 5 วันที่ 20 ตุลาคม 2501 นำโดยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เกิดเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2451 ที่บ้านท่าโรงยา ตลาดพาหุรัด กรุงเทพมหานคร เป็นบุตรของพันตรีหลวงเรืองเดชอนันต์ (ทองดี ธนะรัชต์) กับนางจันทิพย์ ธนะรัชต์ เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่จังหวัดมุกดาหาร จากนั้นเข้ารับการศึกษาต่อที่โรงเรียนวัดมหรรณพาราม ในปี พ.ศ. 2462 ได้เข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยทหารบก จนกระทั่งสำเร็จการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2471 ต่อมาได้เข้ารับราชการเป็นนักเรียนทำการนายร้อย กองพันที่ 1 กรมทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์
ในปี พ.ศ. 2484 ร.อ.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้าร่วมรบในสงครามมหาเอเชียบูรพาขณะที่ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองทัพทหารราบที่ 33 จังหวัดลำปาง มียศเป็น พันตรี (พ.ต.) และได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความกล้าหาญ จนช่วงปลายสงครามโลกครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2488 จึงได้เลื่อนยศเป็น พันเอก (พ.อ.) ตำแหน่งผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 13 และผู้บังคับการจังหวัดทหารบกลำปาง
วันที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2497 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้บัญชาการทหารบก และได้รับพระราชทานยศ จอมพล
ในคืนวันที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2500 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้นำกำลังทหารเข้ายึดอำนาจโค่น ล้มจอมพล ป. พิบูลสงครามออกจากตำแหน่ง ตั้งนายพจน์ สารสิน ขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ในเวลาต่อมา จอมพลสฤษดิ์ก็ร่วมมือกับจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ยึดอำนาจรัฐบาลของตนเอง จากนั้นจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2502 หลังจากการทำรัฐประหารรัฐบาลจอมพลป. พิบูลสงคราม
นอกจากนิ้ แผนพัฒนาเศรษฐกิจในยุคจอมพลสฤษดิ์ เป็นหนึ่งในรากเหง้าปัญหาที่ทำให้เศรษฐกิจเกิดการกระจุกตัวอยู่เพียงกลุ่มชนชั้นนำและเผด็จการทหาร ที่สืบเนื่องมาถึงยุคจอมพลถนอม เผด็จการที่รวบอำนาจทางเศรษฐกิจและปิดกั้นหลักการประชาธิปไตยในยุคจอมพลสฤษดิ์ที่ต่อเนื่องมาถึงยุคจอมพลถนอม คือหนึ่งในแรงผลักสำคัญที่ทำให้เกิดการเคลื่อนไหว ของขบวนการนักศึกษา ประชาชน อันนำไปสู่เหตุการณ์โค่นล้มอำนาจจอมพลถนอม ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516
จอมพล สฤษดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนถึงแก่อสัญกรรมเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ที่ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ด้วยโรคไตพิการ เรื้อรัง และอีกหลายโรค รวมมีอายุ 55 ปี
รัฐประหารครั้งที่ 6.วันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 นำโดย จอมพลถนอม กิตติขจร ทำการยึดอำนาจการปกครองและล้มล้างรัฐบาลของตนเอง และยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2511
จอมพลถนอม กิตติขจร เกิดเมื่อ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2454 ณ บ้านหนองหลวง อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก เป็นบุตรของขุนโสภิตบรรณารักษ์ (อำพัน กิตติขจร) กับนางโสภิตบรรณารักษ์ (ลิ้นจี่) มีพี่น้องร่วมบิดามารดา 7 คน จอมพลถนอมได้รับปริญญาวิศวกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเมื่อ พ.ศ. 2504 จอมพลถนอมดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่าง พ.ศ. 2503 - พ.ศ. 2506
จอมพล ถนอม กิตติขจร พ้นตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา พ.ศ. 2516 รัฐบาลได้ใช้อาวุธสงครามเข้าปราบปรามนักศึกษาประชาชนที่ชุมนุมเรียกร้องรัฐ ธรรมนูญ จนทำให้มีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก จากเหตุการณ์นี้ ทำให้พลังทางการเมืองหลายฝ่ายกดดันให้จอมพลถนอมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี รวมระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโดยการยึดอำนาจและรัฐประหารทั้งสิ้น 10 ปี 6 เดือนเศษ หลังจากนั้น ได้มีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินของจอมพลถนอม จนนำไปสู่การยึดทรัพย์สินที่ได้มาโดยไม่สุจริตต้องเป็นจำนวนมาก
วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2519 ท่ามกลางกระแสการปฏิวัติรัฐประหารของฝ่ายทหารทวีความรุนแรงอย่างกว้างขวาง จอมพลถนอมในวัย 65 ปี ได้กลับประเทศไทยอีกครั้งโดยบวชเป็นสามเณร ทำให้นักศึกษาประชาชนได้ออกมาประท้วงขับไล่อดีตนายกรัฐมนตรีมือเปื้อนเลือด รายนี้ เป็นเหตุให้กลุ่มการเมืองอีกฝ่ายที่นำโดย พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ ฉวยโอกาสก่อรัฐประหารและทำการล้อมปราบนักศึกษาประชาชนในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 ทำให้มีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหายจำนวนมาก นำไปสู่การยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุติการปกครองแบบประชาธิปไตยรัฐสภา และทำให้ประเทศไทยอยู่ภายใต้เผด็จการทหารต่อมาเป็นเวลาปีเศษ
จอมพลถนอม กิตติขจร เคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีถึง 4 สมัย (รวมในสมัยเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติตัวเองด้วยเป็นสมัยที่ 3) สมัยแรกเป็นนายกในระยะเวลาสั้น ๆ หลังการรัฐประหารของจอมพลสฤษดิ์ในปี พ.ศ. 2501 สมัยที่สองถึงสี่หลังจากจอมพลสฤษดิ์ถึงแก่อสัญกรรม ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของจอมพลถนอมจึงถูกมองว่าเป็นสัญลักษณ์ของเผด็จการทหาร
รัฐประหารครั้งที่ 7.วันที่ 6 ตุลาคม 2519 และรัฐประหารครั้งที่ 8 วันที่ 20 ตุลาคม 2520 นำโดยพลเรือเอก สงัด ชลออยู่
พลเรือเอก สงัด ชลออยู่ เกิดวันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2458 เกิดที่บ้านเขาพระ หมู่ที่ 2 ตำบลเขาพระ อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรนายแปลก และนางส้มลิ้ม ชลออยู่ สมรสกับคุณหญิงสุคนธ์ ชลออยู่ (สหัสสานนท์)
หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เป็นทั้งผู้บัญชาการทหารเรือและผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเป็นผู้นำในการรัฐประหารถึง 2 ครั้ง คือในวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 และ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 ถึงแก่อนิจกรรมด้วยอาการหัวใจวาย เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2523 ที่โรงพยาบาลประจำอำเภอแกลง จังหวัดระยอง รวมอายุได้ 64 ปี 9 เดือน
รัฐประหารครั้งที่ 9.วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2534 นำโดยพลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ทำการยึดอำนาจการปกครองและล้มล้างรัฐบาลของ พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ และยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2521
พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ (1 สิงหาคม พ.ศ. 2474 - 2 สิงหาคม พ.ศ. 2542) อดีตผู้บัญชาการทหารสูงสุด และ ประธานคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 มีชื่อเรียกในสื่อสารมวลชนว่า "บิ๊กจ๊อด"
พลเอกสุนทร จบการศึกษาจากโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 1 รุ่นเดียวกับ พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ จากนั้น รับราชการทหารมาโดยตลอด เคยดำรงตำแหน่งสำคัญคือ ผู้บัญชาการศูนย์การบินทหารบก ผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ และผู้บัญชาการทหารสูงสุด พลเอกสุนทร สมรสกับ พันเอกหญิง คุณหญิงอรชร คงสมพงษ์ มีบุตรสองคนซึ่งได้แก่ พล.ต.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ (ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์) และ พ.ท.ณัฐพร คงสมพงษ์ ต่อมาได้แยกทางกันเมื่อ พ.ศ. 2533 หลังจากพลเอกสุนทร ใช้ชีวิตร่วมกับนางอัมพาพันธ์ ธเนศเดชสุนทร (อรุณเมือง, คงสมพงษ์, คงทรนง)
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2534 คณะนายทหารนำโดย พลเอกสุจินดา คราประยูร และพลเอกอิสระพงศ์ หนุนภักดี ร่วมด้วยพลอากาศเอกเกษตร โรจนนิล ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจจากพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ พลเอกสุนทร คงสมพงษ์ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นนายทหารที่อาวุโสสูงสุด จึงได้รับที่จะดำรงตำแหน่งหัวหน้าคณะรสช.
พลเอกสุนทร คงสงพงษ์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2542 ด้วยโรคมะเร็งปอด อายุ 68 ปี
รัฐประหารครั้งที่ 10. วันที่ 19 กันยายน 2549 นำโดย พลเอกสนธิ บุญรัตกลิน
พลเอก ดร.สนธิ บุญยรัตกลิน เกิดวันที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2489 เป็นบุตรของ พันเอกสนั่น (นามสกุลเดิม อหะหมัดจุฬา) และนางมณี บุญยรัตกลิน ชาวไทยเชื้อสายมอญ เป็นบุตรชายคนโตในบรรดาพี่น้องทั้งหมด 6 คน เติบโตในครอบครัวมุสลิม ที่นับถือนิกายชีอะห์ ในจังหวัดปทุมธานี (บิดานับถือนิกายชีอะห์) แต่ตัวพลเอกสนธินับถือศาสนาอิสลาม นิกายซุนนีย์ (มารดานับถือนิกายซุนนีย์)
พลเอกสนธิได้ฉายาจากสื่อมวลชนทั่วไปว่า "บิ๊กบัง"
วันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 พลเอก สนธิ เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจการปกครองของ รัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเกิดขึ้นก่อนจะมีการเลือกตั้งเดือนหน้า และ ซึ่งอยู่ระหว่างการประชุมสหประชาชาติที่นครนิวยอร์ก
พลเอก สนธิ เป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ได้มีประกาศคำสั่งให้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีเป็นของหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขคณะ ปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นจึงให้ถือว่าพลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน เคยดำรงตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรีด้วย
หลังจากมีการจัดตั้งรัฐบาลแล้ว พลเอกสนธิ ได้เปลี่ยนตำแหน่งจากหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ไปเป็นประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ
หลังเกษียณอายุราชการ ในเวลาต่อมา พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ พรรคมาตุภูมิ ได้ร่วมกับ ส.ส.อีกจำนวน 34 คน เข้าชื่อยื่นร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการปรองดองแห่งชาติ พ.ศ.... เข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรนั้น โดย ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว มี 8 มาตรา มีใจความสำคัญคือ ให้การกระทำที่เกิดจากการชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่วันที่ 15 ก.ย. 2548 - 10 พ.ค. 2554 หากเป็นความผิดตามกฎหมาย ให้ถือว่าไม่เป็นความผิดต่อไป และให้ผู้กระทำผิดพ้นจากการเป็นผู้กระทำผิดโดยสิ้นเชิง รวมถึงบุคคล และเจ้าหน้าที่รัฐ โดยหากอยู่ระหว่างการสอบสวน ให้ระงับการสอบสวน หรือ ให้ถอนฟ้อง หากรับโทษแล้วให้ปล่อยตัว พร้อมให้การเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นกรรมการบริหารพรรคการ เมือง เป็นอันสิ้นสุดลง ซึ่งเป็นหนึ่งในร่าง พ.ร.บ. ปรองดองที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากคนในสังคม เนื่องจากเป็นการละเว้นโทษ ทั้งที่ยังไม่มีการพิสูจน์ข้อเท็จจริง และนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกระบวนการยุติธรรม
ล่าสุด รัฐประหาร ครั้งที่ 11. วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เกิดวันที่ 21 มีนาคม 2497 ที่จังหวัดนครราชสีมา ปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ทำการยึดอำนาจการปกครองจากรัฐบาลรักษาการของนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 หลังจากที่ก่อนหน้านั้น 2 วัน พล.อ. ประยุทธ์ เป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ผอ.รส.) ตามการประกาศกฏอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 ก่อนจะทำรัฐประหารภายหลังการหารือของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองไม่เป็นผลสำเร็จ
ทั้งนี้ ก่อนการรัฐประหาร การประกาศกฎอัยการศึกของพล.อ.ประยุทธ์ นำไปสู่แถลงการณ์คัดค้าน จากนักวิชาการ นักสันติวิธี และนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน รวมถึงองค์กรสภาวิชาชีพสื่อสารมวลชน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องขอบข่ายอำนาจของกฎอัยการศึกที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ทหารอยู่เหนือฝ่ายพลเรือน อีกทั้งมีการตั้งข้อสังเกตว่า การประกาศกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรในครั้งนี้ มีลักษณะคล้ายการรัฐประหาร แต่ พล.อ. ประยุทธ์ ยังยืนยันการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการเชิญคู่ขัดแย้งทางการเมืองมาเจรจา
นอกจากนั้น ขณะประกาศ กฎอัยการศึก กอ.รส. มีการออกประกาศขอความร่วมมือที่ถูกมองว่าปิดกั้นเสรีภาพสื่อฯ เช่น ขอให้ระงับการแพร่ภาพออกอากาศโทรทัศน์ดาวเทียมและวิทยุชุมชนที่ไม่ได้รับใบ อนุญาต ขอความร่วมมือในการเผยแพร่เนื้อหาทางอินเทอร์เน็ต กระทั่งเกิดการรัฐประหาร โดย คสช. ในที่สุด โดยหลังรัฐประหาร ได้เพียง 1 วัน คือ ในวันที่ 23 พ.ค. 2557 มีประกาศคำสั่ง จาก คสช. แล้ว 19 ฉบับ ในจำนวนนี้มีคำสั่งเกี่ยวกับการทำหน้าที่ของสื่อสารมวลชน อยู่ถึง 6 ฉบับ โดยมีใจความสำคัญคือควบคุมและสั่งให้สื่อต่างๆ อันได้แก่ สถานีกระจายเสียงทุกสถานี ทั้งที่เป็นของราชการและเอกชน สถานีโทรทัศน์ภาคพื้นดิน สถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม เคเบิล โทรทัศน์ระบบดิจิตอลและโทรทัศน์อินเทอร์เน็ตทุกสถานี หนังสือพิมพ์ วารสาร หรือสื่อสิ่งพิมพ์อื่นๆ รวมทั้งผู้ให้บริการด้านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภทอันรวมถึงการสื่อสารทาง สังคมสื่อออนไลน์ งดให้มีการนำเสนอข่าวสารหรือข้อความอันเป็นเท็จ หรือที่ส่อไปในทางหมิ่นประมาท หรือสร้างความเกลียดชัง ต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ องค์รัชทายาท และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์,ข่าวสารที่จะเป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ รวมทั้งหมิ่นประมาทบุคคลอื่น,การวิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เจ้าหน้าที่ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตว่าเหตุผลในการยึดอำนาจ ของ พล.อ.ประยุทธ์ (บิ๊กตู่) ในครั้งนี้ แม้จะอ้างว่าทำเพื่อรักษาความสงบแต่ไม่มีถ้อยแถลงใดเลยที่ระบุถึงปัญหาคอร์รัปชั่นในรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในขณะที่การรัฐประหารยุค พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ (บิ๊กจ๊อด) ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่ยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ มีการตั้ง พล.อ.สิทธิ จิรโรจน์ เป็นประธานคณะกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินนักการเมืองที่มีพฤติกรรมร่ำรวยผิด ปกติ อายัดทรัพย์นักการเมืองนับสิบราย ส่วนการรัฐประหารยุค พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ก็มีการตั้งนาย นาม ยิ้มแย้ม เป็นประธาน ตรวจสอบการคอร์รัปชั่นเชิงนโยบายในช่วงรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณหลายโครงการ
แต่ขณะเดียวกัน ภายใต้การนำรัฐประหาร ของ พล.อ.ประยุทธ์ ในครั้งนี้ ประกาศของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ” (คสช.) ฉบับที่ 11 ที่ยังให้วุฒิสภา ศาล องค์กรอิสระและองค์กรอื่นๆตามรัฐธรรมนูญพุทธศักราช 2550 ยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ก็ทำให้สังคมยังคงเฝ้าจับตาว่าการทุจริตคอร์รัปชั่นในคดีสำคัญ อย่างคดีโครงการรับจำนำ รวมถึง โครงการบริหารจัดการน้ำ จะมีการเดินหน้าตรวจสอบอย่างจริงจังและดำเนินคดีถึงที่สุด หรือไม่
...
ทั้งหมดนี้ คือ ข้อมูลเบื้องต้นของผู้นำรัฐประหารนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ส่วนการรัฐประหารครั้งนี้ จะเป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและนำพาประเทศเดินไปสู่ความสงบดังที่ผู้นำรัฐประหารคนล่าสุดได้ให้เหตุผลไว้หรือไม่?
โปรดจับตามองต่อไปแบบห้ามกะพริบตา!
( อ่านประกอบ : สำรวจ“วันหมดอายุ” รธน.18 ฉบับ หลังคณะประยุทธ์ ฉีกทิ้งปี 50 )
( อ่านประกอบ : พลิกแฟ้มข้อมูล “คณะรัฐประหารทั้ง 11 ชุด” ในรอบ 81 ปีรวมชุด "ประยุทธ์" )
…
*หมายเหตุ
-ขอขอบคุณข้อมูลจาก วิกิพีเดีย
-ณ กาลครั้งหนึ่ง ในเมืองไทย โดย ดร.วิชิตวงศ์ ณ ป้อมเพชร
-บันทึก 80 ปี การเมืองไทย จาก 2475-2555 นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 328 เดือน มิถุนายน 2555
-40 เรื่อง ย้อนอดีตสังคมไทย ก่อนเหตุการณ์ 14 ตุลา นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 344 เดือน ตุลาคม 2556
-ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ : ความเคลื่อนไหวของขบวนการปฏิปักษ์ปฏิวัติสยาม ( พ.ศ. 2475-2500 ) โดย ณัฐพล ใจจริง
-แถลงการณ์เรื่อง ขอให้ กอ.รส. ทบทวนการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกลิดรอนเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลและสื่อมวลชน โดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย
-ข้อแตกต่างของ“บิ๊กตู่”กับ 2 นักรัฐประหารรุ่นพี่ โดย เสนาะ สุขเจริญ
-อ่านใจ “บิ๊กตู่” ไม่ยุบทิ้ง “ส.ว.-องค์กรอิสระ-ศาล” ใช้เป็นกลไกเช็คบิล โดย สำนักข่าวอิศรา