บันทึกวันแรกหลังทหารยึดอำนาจ!
ต้นเหตุประการหนึ่งของการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ที่นำโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ปฏิเสธไม่ได้ว่าคือปัญหาหรือวิกฤติที่ฝ่ายการเมืองก่อขึ้น และลุกลามจนกระทบกับความมั่นคงของประเทศแทบทุกด้าน โดยที่ฝ่ายการเมืองไม่แม้แต่จะพยายามแก้ไข คลี่คลายอย่างเต็มกำลังความสามารถ
ตลอดหลายเดือนที่ผ่านมามีแต่การเอาชนะคะคาน ทั้งทางวาทกรรมและกฎหมาย รวมถึงการใช้มวลชนกดดัน-เผชิญหน้า จนดูเหมือนว่า "การเมืองมิอาจแก้ด้วยการเมือง" ได้อีกต่อไป
อาจารย์สุรชาติ บำรุงสุข นักรัฐศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงทางทหาร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังเคยกล่าวเปรียบเปรยเอาไว้ว่า เมื่อปัญหาถูกผูกเป็นปมใหญ่ทั้งการเมืองและกฎหมาย จนไม่สามารถแก้ออกได้ สุดท้ายย่อมหนีไม่พ้นมีคนเอาดาบไปตัดปม
และผู้ที่มี "ดาบ" ในบ้านเมืองก็คือ "ทหาร"
ในมุมหนึ่ง...องค์กรทหารถือเป็นองค์กรที่น่าทึ่งและน่ากลัวไปพร้อมๆ กันในแง่ของโครงสร้างและความมีระเบียบวินัย เขาทำภารกิจใหญ่ขนาดนี้ได้อย่างไรโดยที่มีข่าวหลุดรั่วออกไปน้อยมาก ตั้งแต่คืนประกาศกฎอัยการศึก 20 พ.ค.57 หรือแม้กระทั่งการยึดอำนาจกลางวันแสกๆ เมื่อ 22 พ.ค.57 ทั้งๆ ที่เหตุการณ์ช่วงระหว่างการควบคุมตัวแกนนำ 7 ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งทางการเมืองที่สโมสรทหารบก ต่อเนื่องไปถึงเรือนรับรองในกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 รอ.) สะท้อนว่ามีการเตรียมการวางแผนมาก่อนหน้าแล้วเป็นอย่างดี และใช้กำลังพลจำนวนไม่น้อย
เพียงแต่ไม่ชัดเท่านั้นว่าการประชุม 7 ฝ่ายเป็นการลวงผู้เกี่ยวข้องเข้าไปติดกับ ถูกควบคุมตัว หรือเป็นแผนสำรองเอาไว้หากการหารือไม่สามารถหาข้อยุติได้กันแน่
ยิ่งไปกว่านั้น ตั้งแต่ประกาศกฎอัยการศึก จนถึงช่วงของการยึดอำนาจ ฝ่ายทหารกล้าลิดรอนเสรีภาพสื่อ ทั้งสั่งปิดทีวีดาวเทียม เคเบิล วิทยุชุมชน ในช่วงของการประกาศกฎอัยการศึก และยึดเบ็ดเสร็จในช่วงหลังการรัฐประหาร คือ ห้ามทุกสื่อออกอากาศรายการปกติโดยเด็ดขาด
ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นได้จริงๆ ในประเทศที่เสรีจนเกือบจะไร้ระเบียบอย่างประเทศไทย ณ พ.ศ.2557 หรือ ค.ศ.2014
สิ่งที่แกนนำคนเสื้อแดงเคยประกาศว่าทันทีที่เกิดการปฏิวัติรัฐประหาร ให้มวลชนทั่วประเทศไปล้อมค่ายทหารในจังหวัดของตัวเอง บ้างก็ให้นอนหน้าประตูค่าย เพื่อขวางไม่ให้รถถังออก ฯลฯ ปรากฏว่าเรื่องแบบนี้ยังไม่เกิดขึ้นจริง อย่างน้อยก็ในวันแรกหลังการยึดอำนาจ
ที่สำคัญยังไม่เห็นภาพการเคลื่อนกำลังด้วยรถถังเลยแม้แต่ภาพเดียว!
ข้อสังเกตพวกนี้ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าฝ่ายทหารเตรียมการทุกอย่างมาเป็นอย่างดี การยึดอำนาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่ก็อย่างที่บอก คือไม่ชัดเจนว่าตั้งท่าจะรัฐประหารอยู่แล้ว หรือสถานการณ์พาไป ทำให้ต้องตัดสินใจใช้แผนที่เตรียมเอาไว้...แต่นั่นก็ต้องเตรียมการไว้นานพอดู ข่าวบางกระแสระบุว่า กำลังพลส่วนหนึ่งที่ใช้ปฏิบัติการในกรุงเทพฯ ถูกนำเข้ามาด้วยวิธีการต่างๆ ตั้งแต่ก่อนปีใหม่!
โจทย์ใหญ่ของฝ่ายที่ยึดอำนาจ ณ เวลานี้คือ จะคุมสถานการณ์อยู่ (เอาอยู่) แบบนี้ได้นานแค่ไหน เป็นหลักวัน หลักสัปดาห์ หรือหลักเดือน เพราะล่าสุดขณะกำลังเขียนบันทึกอยู่นี้ (หลังเที่ยงคืนของวันที่ 22 พ.ค.) ก็เริ่มมีข่าวการเผายางรถยนต์ในพื้นที่ภาคเหนือบางจังหวัดบ้างแล้ว และมีข่าวยืนยันชัดเจนว่า ฝ่ายที่สูญเสียอำนาจและมวลชนผู้สนับสนุน ไม่ยอมให้เรื่องนี้จบง่ายๆ แน่
เจ้าหน้าที่ระดับสูงจากหน่วยงานความมั่นคงบอกว่า เป็นห่วงสถานการณ์ตอบโต้ที่จะไหลลงใต้ดิน โดยเฉพาะการใช้ยุทธวิธีก่อวินาศกรรม
อย่าลืมว่าหลังการรัฐประหารเมื่อ 19 ก.ย.49 ก็เคยเกิดระเบิด 9 จุดในวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่มาแล้ว...
อีกเรื่องที่เป็นโจทย์ใหญ่ไม่แพ้กัน คือ มาตรการกดดันจากต่างประเทศ ซึ่งรัฐบาลหลังการรัฐประหารปี 49 ที่นำโดย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ก็เคยโดนหนักเหมือนกัน
ไม่แน่ใจว่าฝ่ายกองทัพเตรียมการแก้โจทย์เหล่านี้ไว้ดีเหมือนการวางแผนยึดอำนาจหรือเปล่า?
แต่ที่แน่ๆ คือ การใช้อำนาจปกครองประเทศหลังจากนี้ ย่อมไม่ง่ายเหมือนกับการยึดอำนาจ และไทยกำลังเป็นประเทศสุดท้ายในอาเซียนที่ตกอยู่ในวังวน "เลือกตั้ง-คอร์รัปชั่น-รัฐประหาร" โดยที่กลไกประชาธิปไตยถูกทำให้เข้าใจว่าไม่แข็งแกร่งพอที่จะหยุดยั้งปัญหาได้
ก็ได้แต่คาดหวังในแง่ดีว่าการยึดอำนาจเที่ยวนี้จะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านทางการเมืองที่ทำให้สังคมไทยก้าวพ้นวังวนที่ว่านั้น มีกลไกที่ดีที่เป็นประชาธิปไตยในการจัดการปัญหา เพื่อจะได้ไม่มีปรากฏการณ์กวักมือเรียกทหารให้เข้ามาปฏิวัติอีก