อัยการกับความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน
อัยการกับความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน๑
ศ.ดร.คณิต ณ นคร
๑. ความนำ
เรื่อง “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” (Transitional Justice) นั้น คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ซึ่งเรียกโดยย่อว่า “คอป.” ได้นำมาเสนอต่อสังคมไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อองค์กรอัยการไว้หลายกรณี๒
เริ่มแรกทีเดียว คอป. ได้เสนอตามนัยแห่งบทความของผู้เขียนเรื่อง “อัยการกับปัญหาความขัดแย้งในชาติ”๓ ซึ่งเป็นบทความที่ผู้เขียนได้เขียนขึ้นก่อนเกิดความรุนแรงในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ โดยในบทความดังกล่าวผู้เขียนได้มีข้อสรุปว่า
“พนักงานอัยการเป็นเจ้าพนักงานในการยุติธรรมที่มีความเป็นอิสระจากการเมืองในการปฏิบัติหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ขณะนี้มีบุคคลตกเป็นผู้ต้องหาในความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปหลายสิบคนที่ยังไม่ได้ฟ้อง ดังนั้น หากพนักงานอัยการมีความเข้าใจในปัญหาของประเทศชาติ พนักงานอัยการก็สามารถแสดงบทบาทเสริมสร้างความสมานฉันท์และความสามัคคีให้แก่คนในชาติได้ โดยกระทำตามแบบอย่างที่ท่านอาจารย์ประเทือง กีรติบุตร ได้กระทำมาแล้วได้”๔
ข้อเสนอดังกล่าวนี้ได้เสนอต่อสำนักงานอัยการสูงสุดในยุคสมัยที่นายชัยเกษม นิติสิริ ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด จนถึงยุคสมัยที่นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ ได้ดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุด ซึ่งตามข้อเสนอดังกล่าวก็คือผู้เขียนเสนอให้พนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้องให้หมดทุกคน อย่างไรก็ตาม กรณีก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจากข้อเสนอแนะนี้แต่ประการใด
ต่อมา คอป. ได้เกริ่นไว้ในข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เกี่ยวกับเรื่อง “คดีการก่อการร้าย” ว่าบทบัญญัติเกี่ยวกับความผิดฐานก่อการร้ายนั้น มีความไม่ถูกต้องหลายประการ กล่าวคือ
ประการแรก การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาเกิดขึ้นโดยพระราชกำหนด กรณีจึงไม่มีความถูกต้องชอบธรรมในทางนิติบัญญัติ
ประการที่สอง บทบัญญัติความผิดฐานก่อการร้ายขัดต่อหลัก “ไม่มีความผิด ไม่มีโทษ โดยไม่มีกฎหมาย” (Nullum crimen, nulla poena sine lege) ในข้อ “ความชัดเจนแน่นอน” (Principle of Exactness) กรณีจึงผิดหลักมาตรา ๒ แห่งประมวลกฎหมายอาญา และขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๓๙ วรรคหนึ่ง และ
ประการสุดท้าย บทบัญญัติความผิดฐานก่อการร้ายยังขัดต่อหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรมในเรื่องระวางโทษอีกด้วย เพราะความผิดฐานก่อการร้ายมีลักษณะทำนองเดียวกับความผิดฐานเป็นอั้งยี่ กล่าวคือ เป็นความผิดที่เป็นการสกัดกั้นการก่อตั้ง “สมาคมอาชญากรรมก่อการร้าย” (Terrorist Associations) ซึ่งเป็นการลงโทษในขั้นการตระเตรียมกระทำความผิด ระวางโทษประหารชีวิตจึงขัดต่อหลักนิติรัฐและหลักนิติธรรม
เมื่อเช่นนี้ คอป. จึงได้เสนอให้รัฐบาลได้ยกเลิกบทบัญญัติของประมวลกฎหมายอาญาเฉพาะในส่วนที่ไม่ถูกต้องนี้เสียแล้วเสนอกฎหมายว่าด้วยการก่อการร้ายกันใหม่ และในขณะเดียวกัน คอป. ก็ได้เอ่ยถึงองค์กรอัยการไว้ด้วยว่าชอบที่จะสั่งไม่ฟ้องคดีการก่อการร้ายทั้งหมดไม่ว่าจะเกี่ยวกับบุคคลในกลุ่มเสื้อเหลืองหรือกลุ่มเสื้อแดง
หลังจากที่ผู้เขียนได้จัดพิมพ์หนังสือเกี่ยวกับงานของ คอป. ที่ใช้ชื่อว่า “ประชาธิปไตยกับการตั้งรังเกียจทางสังคม” ออกเผยแพร่ไปแล้ว ผู้เขียนจึงได้ส่งหนังสือเล่มนี้รวมทั้งหนังสือ “อดีตประธาน คอป. แนะ อสส. ในคดีการก่อการร้าย” ไปให้แก่นายอรรถพล ใหญ่สว่าง ด้วย โดยส่งไปให้เมื่อวันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๕๖ ขณะนี้ผู้เขียนจึงรอการกระทำตามข้อเสนอแนะอยู่อย่างใจจดใจจ่อ และใคร่จะทวงถามถึงเรื่องนี้ในที่นี้ตามที่ได้รับปากกันไว้ก่อนการพิมพ์หนังสือเล่มที่สองนี้ในครั้งที่ ๑
ผู้เขียนใคร่ขอกล่าวในที่นี้ด้วยว่าสิ่งที่ผู้เขียนกระทำมาแล้ว กำลังกระทำอยู่ และกำลังจะกระทำต่อไปตามนัยแห่งบทความเรื่องนี้ไม่ใช่เป็นการกระทำเพื่อตนเอง หากแต่เป็นการกระทำเพื่อสังคมส่วนรวมทั้งสิ้น ทั้งนี้ เพื่อให้ความสงบสุขในสังคมได้เกิดขึ้น
เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม ๒๕๕๖ ผู้เขียนจึงได้เขียนบทความขึ้นอีกเรื่องหนึ่งใช้ชื่อว่า
“เมื่อกระบวนการยุติธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง”
บทความเรื่องนี้ยังไม่ได้พิมพ์ในที่ใดแต่ท่านผู้สนใจอาจหาอ่านได้จากเวปไซด์ของสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย และเวปไซด์ของประชาไท
ในบทความเรื่อง “เมื่อกระบวนการยุติธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง” นี้ผู้เขียนได้วิเคราะห์ถึงความเข้าใจเรื่องการจับและการออกหมายจับในอดีตที่กระทำกันอย่างผิดหลักกฎหมาย ความเข้าใจเรื่องข้อหาและการแจ้งข้อหาที่ไม่ถูกต้องตามหลักกฎหมายจนนำมาซึ่งเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อเดือนตุลาคม ๒๕๑๖ และผู้เขียนได้วิเคราะห์ถึงการจับและการออกหมายจับในปัจจุบันว่าไม่ถูกต้องชอบด้วยหลักกฎหมายอย่างไร กับผู้เขียนได้กล่าวถึงสูตรเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมของไทยว่ามีความไม่ดีไม่งามอย่างไรบ้าง และทั้งผู้เขียนได้วิเคราะห์การออกหมายจับผู้ชุมนุมทางการเมืองว่าไม่ถูกต้องและชอบด้วยหลักกฎหมายอย่างไรไว้ด้วย และที่สำคัญก็คือผู้เขียนในฐานะที่เป็นนักวิชาการและเป็นผู้สอนกฎหมายอาญาภาคความผิดและได้เขียนตำรา “กฎหมายอาญาภาคความผิด”๗ ได้วิเคราะห์ว่าการกระทำของผู้ชุมนุมทางการเมืองไม่เป็นความผิดฐานกบฏแต่อย่างใด
แต่ก็ดูเหมือนบทความเรื่องนี้ของผู้เขียนจะไม่มีการกล่าวถึงหรือให้ความสนใจกันในวงกว้างของสังคมเรา รวมตลอดทั้งองค์กรต่าง ๆ ในกระบวนการยุติธรรมของเราก็ดูจะไม่ได้ให้ความสนใจแต่อย่างใดด้วย ทำให้การตั้งข้อหาในความผิดฐานกบฏจากองค์กรในกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษซึ่งถูกสังคมส่วนหนึ่งมองว่าทำงานรับใช้การเมืองแทนที่จะกระทำเพื่อการอำนวยความยุติธรรมที่ดีแก่บ้านเมือง๘
และในบทความเรื่องดังกล่าวนี้ผู้เขียนได้เสนอแนะให้พนักงานสอบสวน (พนักงานสอบสวนฝ่ายตำรวจ และพนักงานสอบสวนกรมสอบสวนคดีพิเศษ) ได้ขอให้ศาลเพิกถอนหมายจับในคดีดังกล่าวเสีย โดยผู้เขียนได้เสนออย่างสุภาพว่า
“หากจะได้มีการทบทวนการออกหมายจับในครั้งนี้กันได้ ไม่ว่าจะโดยองค์กรใดในกระบวนการยุติธรรมก็ตาม กรณีก็จะเป็นการสมควรอย่างยิ่ง เช่น พนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลขอเพิกถอนคำร้องเดิมของตน”
ทั้งนี้ เพราะผู้เขียนในฐานะนักวิชาการและเคยอยู่ในแวดวงการปฏิบัติของกระบวนการยุติธรรมของประเทศเห็นว่าการออกหมายจับในกรณีดังกล่าวนี้ยังมีปัญหาในข้อกฎหมายอยู่มากมายทีเดียว ทั้งในส่วนของกฎหมายสารบัญญัติและกฎหมายวิธีสบัญญัติ
ยิ่งกว่านั้นโดยบทความดังกล่าวนี้ผู้เขียนยังได้มีข้อสังเกตไปยังพนักงานสอบสวน (ทั้งฝ่ายตำรวจและฝ่ายกรมสอบสวนคดีพิเศษ) ว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๙๐ ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมเมื่อปี ๒๕๔๗ ได้บัญญัติไว้ดังนี้
“มาตรา ๙๐ เมื่อมีการอ้างว่าบุคคลใดต้องถูกคุมขังในคดีอาญา หรือในกรณีอื่นใดโดยมิชอบด้วยกฎหมาย บุคคลเหล่านี้มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลท้องที่ที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาขอให้ปล่อย คือ
(๑) ผู้ถูกคุมขังเอง
(๒) พนักงานอัยการ
(๓) พนักงานสอบสวน
(๔) ผู้บัญชาการเรือนจำหรือพัศดี
(๕) สามี ภริยา หรือญาติของผู้นั้น หรือบุคคลอื่นใดเพื่อประโยชน์ของผู้ถูกคุมขัง
เมื่อได้รับคำร้องดั่งนั้น ให้ศาลดำเนินการไต่สวนฝ่ายเดียวโดยด่วน ถ้าศาลเห็นว่าคำร้องนั้นมีมูล ศาลมีอำนาจสั่งผู้คุมขังให้นำตัวผู้ถูกคุมขังมาศาลโดยพลัน และถ้าผู้คุมขังแสดงให้เห็นเป็นที่พอใจแก่ศาลไม่ได้ว่าการคุมขังเป็นการชอบด้วยกฎหมาย ให้ศาลสั่งปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังไปทันที”
และผู้เขียนได้กล่าวด้วยว่าบทบัญญัติแห่งมาตรานี้มีที่มาจากหลัก Habeas Corpus ของอังกฤษ และบทบัญญัติแห่งมาตรานี้ได้เพิ่ม “พนักงานสอบสวน” เข้าไปด้วย ผู้เขียนจึงเห็นว่า บทบัญญัติที่แก้ไขเพิ่มเติมใหม่นี้เหนือสิ่งอื่นใดเป็นบทบัญญัติที่เรียกร้องความเป็นเสรีนิยมจากพนักงานสอบสวนทีเดียวด้วย
แต่ก็ดูเหมือนการกระทำของพนักงานสอบสวนยังห่างไกลจากเจตนารมย์ของกฎหมายอยู่มากทีเดียว
คดีในความผิดฐานกบฏดังกล่าวนี้ที่ได้นำไปสู่การออกหมายจับผู้ต้องหาด้วยนั้น เป็นการสอบสวนร่วมกันของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษกับพนักงานอัยการ ผู้เขียนจึงใคร่ขอกล่าวว่าตามหลักของ “การเป็นอำนาจเดียวของการสอบสวนฟ้องร้อง” ตามกฎหมายว่าด้วยการสอบสวนคดีพิเศษ๙ พนักงานอัยการจึงยากที่จะกล่าวว่าตนไม่รู้เห็นในการขอให้ออกหมายจับผู้ต้องหาของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษในครั้งนี้
๒. เมื่อกระบวนการยุติธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองครั้งใหม่
บัดนี้ได้มีปรากฏการณ์ของการใช้กระบวนการยุติธรรมเป็นเครื่องมือในทางการเมืองเกิดได้ขึ้นมาอีก กล่าวคือ เมื่อต้นเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ ได้ไปขอให้ศาลออกหมายจับผู้ต้องหาหลายคนรวมทั้งนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ด้วย และปรากฏต่อมาว่านายสมบัติฯ ถูกจับตัวได้เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๗
ข่าวในหนังสือพิมพ์มติชนรายวันฉบับวันเสาร์ที่ ๑๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ กล่าวว่า ครั้นเมื่อจับนายสมบัติฯ ได้แล้ว ต่อมาในวันดังกล่าวนั้นเองพนักงานสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดสยบไพรีของ บช. ปส. พร้อมอาวุธครบมือได้ควบคุมตัวนายสมบัติฯ ซึ่งถูกจับตามหมายของศาลอาญาในข้อหา “ร่วมกันก่อกบฏและข้อหาอื่น ๆ รวม ๘ ข้อหา” ไปยื่นคำร้องของฝากขังต่อศาลอาญาเป็นครั้งแรกเป็นเวลา ๑๒ วัน ระหว่างวันที่ ๑๖ – ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๕๗ เนื่องจากต้องรอผลการตรวจสอบพิมพ์ลายนิ้วมือของผู้ต้องหาและอื่น ๆ
ข่าวในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวรายงานต่อไปถึงคำสั่งศาลว่า
“ศาลได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลมีคำสั่งออกหมายจับผู้ต้องหาโดยระบุในหมายว่า ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจควบคุมผู้ถูกจับได้เพียงเท่าที่จำเป็นในการนำตัวส่งฟ้องต่อศาลเท่านั้น เจ้าพนักงานจึงมีหน้าที่ต้องส่งตัวผู้ต้องหาให้แก่พนักงานอัยการเพื่อให้พนักงานอัยการนำตัวมาฟ้องต่อศาลเท่านั้น พนักงานสอบสวนจะดำเนินการสอบสวนต่อหรือสอบสวนเพิ่มเติมไม่ได้ จึงไม่มีเหตุที่จะขอฝากขังผู้ต้องหา ให้ยกคำร้อง”
ข่าวในหนังสือพิมพ์ดังกล่าวรายงานต่อไปอีกว่า
“ต่อมาพนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ๔ เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นจำเลยในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ ยุยงปลุกปั่นให้ประชาชนก่อความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักร และอื่น ๆ รวม ๘ ข้อหา โดยศาลรับไว้ โดยนัดสอบคำให้การในวันที่ ๗ กรกฏาคมนี้ เวลา ๑๓.๓๐ น.”
และรายงานต่อไปอีกว่า
“ต่อมาเวลา ๑๗.๓๐ น. ศาลได้มีคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวนายสมบัติฯ ชั่วคราวระหว่างการพิจารณา”
ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการจับนายสมบัติฯ นั้น ผู้เขียนเห็นว่าได้แสดงให้เห็นถึงความไม่ชอบมาพากลของกระบวนการยุติธรรมของเราดังต่อไปนี้ คือ
(๑) กรณีน่าเชื่อว่าคดีเกี่ยวกับนายสมบัติฯ และพวกอีกหลายคนนั้น พนักงานสอบสวนคดีพิเศษยังไม่ได้รวบรวมพยานหลักฐานในคดีอย่างเสร็จสิ้นสมบูรณ์ก่อนส่งสำนวนไปให้พนักงานอัยการและในการขอให้ออกหมายจับในข้อหาดังกล่าว เพราะมิฉะนั้นแล้วเพื่อปฏิบัติตามคำสั่งของศาลอาญาที่ได้ออกหมายจับไว้ให้ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษเพียงแต่แจ้งข้อหาให้นายสมบัติฯ ทราบและสอบปากคำนายสมบัติฯ เพื่อให้ถูกต้องตาม “หลักฟังความทุกฝ่าย” ที่ปรากฏอยู่ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๐๑๐ แล้วส่งคำให้การของนายสมบัติฯ ไปให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องนายสมบัติฯ ต่อศาลต่อไปเท่านั้น กรณีก็จะไม่เกิดปัญหาใด ๆ เลย
(๒) กรณีน่าเชื่อว่าการที่พนักงานอัยการออกคำสั่งในคดีนายสมบัติฯ กับพวกในครั้งนี้นั้น เป็นการออกคำสั่งว่า “ควรสั่งฟ้อง” ผู้ต้องหาทุกคนตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๕๗ เท่านั้น กล่าวคือ เป็นการออกคำสั่งตามประมวลกฎหมายกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๑ วรรคสี่ ที่ว่า
“ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าควรสั่งฟ้อง ก็ให้จัดการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อให้ได้ตัวผู้ต้องหามา ถ้าผู้ต้องหาอยู่ต่างประเทศให้พนักงานอัยการจัดการเพื่อขอให้ส่งตัวข้ามแดนมา”
(๓) หากความเข้าใจของผู้เขียนดังกล่าวมาในข้อ (๒) ถูกต้อง กรณีย่อมแสดงต่อไปว่า คดีนี้เป็นคดีที่การสอบสวนยังไม่แล้วเสร็จสิ้นสมบูรณ์ เพราะกรณีการออกคำสั่งตาม ข้อ (๒)
หรือตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๑ วรรคสี่นั้น เป็นการออกคำสั่งในกรณีผู้ต้องหาหลบหนี แต่ในความเป็นจริงของเรื่องนี้ผู้ต้องหามิได้หลบหนีแต่ประการใด เพียงแต่พนักงานสอบสวนยังไม่มีความสามารถดำเนินการใด ๆ ในทางความเป็นจริงกับการได้ตัวผู้ต้องหาเท่านั้น ซึ่งแสดงถึงความอ่อนแอของอำนาจรัฐต่างหาก เมื่อกรณีเป็นเรื่องความอ่อนแอของอำนาจรัฐเช่นนี้แล้ว พนักงานอัยการรับสำนวนการสอบสวนคดีนี้ไว้พิจารณาได้อย่างไร เพราะการสอบสวนมีเนื้อหา ๒ ประการ คือ การรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งในคดีนี้การรวบรวมพยานหลักฐานก็ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ และการใช้มาตรการบังคับ ซึ่งในคดีนี้ก็ยังไม่ได้กระทำ๑๑ การกระทำของพนักงานอัยการมิผิดหลักกฏหมายหรอกหรือ พนักงานอัยการชอบที่จะสั่งไม่รับสำนวนคดีนี้หรือสั่งให้คืนสำนวนไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนต่อไป ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๑ วรรคสาม ที่บัญญัติว่า “ถ้าพนักงานอัยการเห็นว่าควรสอบสวนต่อไป ก็ให้สั่งให้พนักงานสอบสวนปฏิบัติเช่นนั้น” มากกว่า
ดังนั้น กรณีที่เกิดขึ้นกับนายสมบัติฯ นี้ผู้เขียนจึงเห็นว่าเป็นกรณีที่ได้สร้างความสับสนให้กับวงการกฎหมายและวงการวิชาการเป็นอย่างมาก รวมทั้งได้สร้างความสับสนต่อผู้เขียนเป็นอย่างมากด้วย เพราะหากพนักงานอัยการไม่รับสำนวนการสอบสวนที่ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์แล้ว การขอให้ศาลอาญาออกหมายขังนายสมบัติฯ ของพนักงานสอบสวนระหว่างการพิจารณาก็ย่อมจะไม่เกิดขึ้น
เมื่อเช่นนี้ผู้เขียนจึงเห็นสมควรจะได้กล่าวถึง “การสั่งให้สอบสวนต่อไป” ในทางวิชาการเพื่อจักได้มีความเข้าใจกันในวงการนิติศาสตร์กันบ้างตามสมควร
๓. คำสั่งให้สอบสวนต่อไปของพนักงานอัยการในอดีต
ความเข้าใจเกี่ยวกับการสั่งคดีของพนักงานอัยการในวงการนิติศาสตร์ของเรานั้น มีความเข้าใจกันดีเพียงเรื่อง “การสั่งงดการสอบสวน” “การสั่งสอบสวนเพิ่มเติม” “การสั่งฟ้อง” และ “การสั่งไม่ฟ้อง” เท่านั้น ซึ่งแท้จริงแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๑ วรรคสาม ยังมีเรื่อง “การสั่งให้พนักงานสอบสวนทำการสอบสวนต่อไป” อีกอย่างหนึ่งด้วย
ผู้เขียนเริ่มรับราชการเป็นพนักงานอัยการเมื่อวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๐๖ โดยดำรงตำแหน่งอัยการผู้ช่วย กองคดี กรมอัยการ (ปัจจุบันคือสำนักงานคดีอาญา สำนักงานอัยการสูงสุด) กองคดี ในขณะที่ผู้เขียนเริ่มรับการราชการนั้น มีอยู่ ๔ กอง คือ สำหรับผู้เขียนนั้นสังกัดอยู่ “กอง ๑” ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นในกองคดีเรียกว่า “หัวหน้ากอง” ผู้บังคับบัญชาสูงสุดของ “กองคดี” เรียกว่า “อัยการพิเศษฝ่ายคดี”
กรมอัยการในขณะนั้นแบ่งส่วนราชการออกเป็น ๓ กองใหญ่ ๆ คือ “กองคดี” “กองที่ปรึกษา” และ “กองวิชาการ” และภายในกองที่ปรึกษาและกองวิชาการก็จะแบ่งส่วนราชการภายในเป็นกองย่อยทำนองเดียวกับ “กองคดี” ดังกล่าวมาแล้ว
ระหว่างที่ผู้เขียนรับราชการอยู่ที่กองคดี กอง ๑ นั้น วันหนึ่งผู้เขียนได้รับการจ่ายสำนวนคดีสำนวนคดีหนึ่ง เป็นเรื่องเกี่ยวกับความผิดฐานออกเช็คโดยไม่มีการใช้เงินตามเช็ค ซึ่งเกี่ยวกับสำนวนคดีนี้ผู้ต้องหายังหลบหนีอยู่
ข้อเท็จจริงในสำนวนการสอบสวนเรื่องนี้มีเพียงว่าผู้ต้องหาได้ออกเช็คและธนาคารได้ปฏิเสธการใช้เงินตามเช็คเท่านั้น โดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่ามูลหนี้ในการจ่ายเช็คนั้น เป็นมูลหนี้ที่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เพราะหากการออกเช็คเกิดจากมูลหนี้ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การกระทำของผู้ต้องหาก็ไม่เป็นความผิดในฐานดังกล่าว
เมื่อข้อเท็จจริงมีอยู่เพียงเท่าที่กล่าวมาข้างต้น ผู้เขียนจึงเห็นว่าการสอบสวนคดีนี้ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ที่จะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้อง ผู้เขียนจึงได้ทำความเห็นเสนอผู้บังคับบัญชาชั้นต้นไปว่า
“ควรคืนสำนวนคดีไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนต่อไป”
ซึ่งผู้บังคับบัญชาชั้นต้นเห็นพ้องด้วยกับความเห็นของผู้เขียน
ในการสั่งคดีของพนักงานอัยการในขณะนั้น ถ้าเป็นการ “สั่งให้งดการสอบสวน” และ
“สั่งฟ้อง” กรณีเป็นอำนาจของหัวหน้ากอง แต่ถ้าสั่งอย่างอื่นต้องเสนอต่อ “อัยการพิเศษฝ่ายคดี” (ปัจจุบันเรียกว่า “อธิบดีอัยการฝ่ายดคี”) เพื่อพิจารณาต่อไป
เมื่อสำนวนคดีดังกล่าวนี้ขึ้นไปถึงอัยการพิเศษฝ่ายคดี ปรากฏว่าอัยการพิเศษฝ่ายคดีส่งกลับคืนมายังกอง ๑ โดยสั่งว่า
“ให้พิจารณาว่าพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏในสำนวนพอที่จะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องอย่างไรหรือไม่”
สำนวนคดีดังกล่าวจึงตกมาที่ผู้เขียนอีกครั้งและผู้เขียนได้เสนอความเห็นต่อหัวหน้ากองว่า
“พยานหลักฐานเท่าที่มีไม่พอฟังว่าผู้ต้องหากระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา ควรสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา”
ซึ่งหัวหน้ากองและอัยการพิเศษฝ่ายคดีเห็นพ้องด้วย และอัยการพิเศษฝ่ายคดีได้มีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาแล้วเสนอสำนวนไปยังอธิบดีกรมตำรวจต่อไป
ผลปรากฏว่าอธิบดีกรมตำรวจได้แย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการ กรณีจึงขึ้นไปสู่อธิดีกรมอัยการตามนัยมาตรา ๑๔๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และอธิบดีกรมอัยการได้ชี้ขาดให้ฟ้องผู้ต้องหาในคดีนี้
หลังจากนั้นไม่นานหัวหน้ากองได้จ่ายสำนวนทำนองเดียวกันให้ผู้เขียนตรวจพิจารณาอีกสำนวนหนึ่ง ในสำนวนหลังนี้ผู้เขียนจึงได้เสนอความเห็นต่อหัวหน้ากองว่า
“ควรสั่งฟ้องแต่ผู้ต้องหาหลบหนีให้พนักงานสอบสวนออกหมายจับมาเพื่อฟ้องภายในอายุความต่อไป”
ผลปรากฏว่าหัวหน้ากองได้เรียกผู้เขียนไปพบและกล่าวว่า
“เมื่อเร็ว ๆ นี้คุณไม่ได้เสนอความเห็นอย่างนี้ไม่ใช่หรือ ทำไมจึงเปลี่ยนแปลงความเห็นเร็วอย่างนั้น เอากลับไปทำความเห็นเสนอเข้ามาใหม่”
ถึงตอนนี้ผู้เขียนใคร่ขอกล่าวว่า พนักงานอัยการเราเมื่อเดิมนั้น มีจิตใจที่กว้างขวางมาก เราเคารพในความเห็นของกันและกันอย่างมากเสมอ และแน่นอนบรรยากาศเช่นนี้คือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนตัดสินใจอยู่กับองค์กรแห่งนี้จนกระทั่งเกษียณอายุราชการ
ทีนี้กลับมาสู่เรื่องเกี่ยวกับสำนวนที่สองที่ผู้เขียนได้กล่าวค้างไว้ต่อไป
เมื่อหัวหน้ากองส่งคืนสำนวนมาให้ผู้เขียนพิจารณาเสนอความเห็นใหม่ ผู้เขียนจึงได้เสนอความเห็นเช่นเดียวกับคดีแรก คือ
“ควรคืนสำนวนคดีไปให้พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนต่อไป”
และหัวหน้ากองเห็นพ้องด้วยกับผู้เขียน แต่เมื่อสำนวนไปถึงอัยการพิเศษฝ่ายคดี ปรากฎว่าอัยการพิเศษฝ่ายคดีส่งสำนวนกลับมายังกอง ๑ โดยสั่งให้พิจารณาว่าตามพยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏจะสั่งฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา ผู้เขียนจึงได้เสนอความเห็นไปยังหัวหน้ากองว่า “ควรสั่งไม่ฟ้อง” ซึ่งก็ปรากฏเช่นกันว่าทั้งหัวหน้ากองและอัยการพิเศษฝ่ายคดีต่างเห็นพ้องด้วยกับผู้เขียน และสำนวนได้ขึ้นไปสู่การพิจารณาของอธิบดีกรมตำรวจตามนัยมาตรา ๑๔๕ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา และอธิบดีกรมตำรวจมีความเห็นแย้งและในที่สุดอธิบดีกรมอัยการชี้ขาดให้ฟ้องเช่นเดียวกับในคดีแรก
เมื่ออธิบดีกรมอัยการได้ชี้ขาดให้ฟ้องถึงสองครั้งสองคราเช่นนี้ หลังจากนั้นคดีทำนองนี้ก็
จะมีการเสนอความเห็น “ควรสั่งฟ้อง” และแจ้งให้พนักงานสอบสวนออกหมายจับเพื่อนำตัวมาฟ้องต่อไปตามนัยคำชี้ขาดของอธิบดีกรมอัยการ
ถึงตอนนี้ผู้เขียนใคร่ขอกล่าวว่า แม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาของเราจะประกาศใช้บังคับมาตั้งแต่ปี ๒๔๗๘ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความเข้าใจหลักกฎหมายของนักกฎหมายเรายังขาดหลักการอยู่อย่างมาก ดังนั้น ทางปฏิบัติของทุกองค์กรในกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ตรงกับหลักกฎหมายจึงยังมีอยู่มากมายหลายเรื่อง๑๒
๔. ความเข้าใจเรื่องการสั่งสอบสวนต่อไปของพนักงานอัยการ
การสั่งสอบสวนต่อไปที่ผู้เขียนจะได้กล่าวต่อไปในบทความนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่องค์กรในกระบวนการยุติธรรมยังไม่ค่อยเข้าใจอย่างตรงกับหลักกฎหมาย แม้พนักงานอัยการเองก็ไม่เว้น
กรณีจึงทำให้การสั่งคดีของพนักงานอัยการเป็นการกระทำที่กระทบกระทั่งสิทธิของผู้ต้องหาเสมอมา คดีที่เกี่ยวข้องกับนายสมบัติฯ และพวกนี้จึงมีข้อบกพร่องที่กระทบสิทธิของบุคคล และกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของส่วนรวมด้วย
ที่ว่ากระทบสิทธิของบุคคลก็เพราะว่าสำนวนคดีนี้ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ไม่ใช่สำนวนคดีที่ผู้ต้องหาหลบหนี เมื่อเช่นนี้พนักงานอัยการจึงต้องสั่งไม่รับสำนวนการสอบสวนคดีนี้จากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษและต้องคืนสำนวนให้พนักสอบสวนคดีพิเศษดำเนินการสอบสอบสวนต่อไปเพื่อความเป็นภาวะวิสัยของการดำเนินคดีจึงจะถูกต้องชอบธรรม เหตุนี้ผู้เขียนจึงใคร่ขอกล่าวว่า
การที่พนักงานอัยการรับสำนวนคดีนายสมบัติฯ และพวกนี้ไว้พิจารณานั้นนอกจากเป็นการกระทำที่กระทบสิทธิของบุคคล และทำให้การสอบสวนขาดความเป็นภาวะวิสัยกระทบต่อการรักษาความสงบเรียบร้อยของส่วนรวมแล้ว ผู้เขียนยังเห็นว่าพนักงานอัยการได้ตกเป็นเครื่องมือของพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่กำลังถูกสังคมบางส่วนมองว่าเป็นเครื่องมือของทางการเมืองอีกด้วย
ในทางทฤษฎีหรือในทางวิชาการนั้น พนักงานอัยการมีความรับผิดชอบต่อสำนวนการสอบสวน ๔ ประการ คือ
(๑) รับผิดชอบในความถูกต้องชอบด้วยกฎหมายของการสอบสวน
(๒) รับผิดชอบในความถูกต้องชอบด้วยระเบียบของการสอบสวน
(๓) รับผิดชอบในความละเอียดรอบคอบของการสอบสวน และ
(๔) รับผิดชอบในความเชื่อถือได้ของการสอบสวน๑๓
การกระทำของพนักงานอัยการในคดีที่เกี่ยวกับนายสมบัติฯ กับพวกนี้จึงเห็นได้ชัดว่า
เป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบทั้ง ๔ ประการ กล่าวคือ
(๑) การที่พนักงานอัยการรับสำนวนนี้ไว้พิจารณาย่อมไม่ถูกต้องชอบด้วยกฎหมาย เพราะสำนวนคดีนี้เป็นสำนวนคดีที่ยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ไม่ใช่สำนวนที่ผู้ต้องหาหลบหนี
(๒) ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๔๗ ข้อ ๕๗ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสำนวนการสอบสวนที่ผู้ต้องหายังหลบหนี การรับสำนวนคดีที่ยังเป็นสำนวนคดีที่ยังไม่เสร็จสมบูรณ์และการสั่งฟ้องในคดีนี้จึงไม่ชอบด้วยระเบียบดังกล่าว
อนึ่ง ผู้เขียนเห็นว่าคดีดังกล่าวนี้ต้องถือว่าเป็นคดีสำคัญ อัยการสูงสุดจึงชอบที่จะลงไปดูแลโดยใกล้ชิด เมื่อครั้งที่ผู้เขียนดำรงตำแหน่งอัยการสูงสุดนั้น ผู้เขียนจะไม่การปล่อยให้ผู้ใต้บังคับบัญชาดำเนินคดีที่สำคัญไปเองตามปกติโดยเด็ดขาด เพราะผู้เขียนเกรงว่าผู้เขียนอาจถูกกล่าวหาได้ว่าปฏิบัติงานอย่างผิดหลักการบริหารงานที่ดี๑๔
(๓) การสั่งคดีเกี่ยวกับสำนวนคดีเรื่องดังกล่าวนี้ก็เห็นได้ชัดว่าพนักงานอัยการไม่พิจารณาทั้งข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างรอบคอบ เพราะในส่วนของข้อเท็จจริงการสอบสวนยังไม่เสร็จสิ้นสมบูรณ์ ส่วนในข้อกฎหมายดูจะเป็นการวินิจฉัยจากความรู้สึกว่าการกระทำของผู้ต้องหาเป็นความผิดฐานเป็นกบฏ เพราะนักกฎหมายของเรายังแยกไม่ออกระหว่างความผิดฐานมั่วสุมกันตั้งแต่สิบคนขึ้นไปตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๒๑๕ ซึ่งเดิมเมื่อครั้งที่ใช้ “กฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. ๑๒๗” ความผิดฐานนี้เรียกว่า “ความผิดฐานก่อการจลาจล” เมื่อเดิมจึงเกิดความสับสนกับความผิดฐานเป็นกบฏเสมอ๑๕ การกระทำของพนักงานอัยการจึงขาดความละเอียดรอบคอบในการลงความเห็นในปัญหาข้อกฎหมายของความผิดฐานเป็นกบฏ ซึ่งแสดงว่าการทำงานของพนักงานอัยการยังไม่ “นิ่ง” พอที่จะเชื่อถือได้ว่ามีความเป็นภาวะวิสัยในการสั่งคดี๑๖
(๔) การที่พนักงานอัยการกระทำอย่างไม่ถูกต้องชอบด้วยกฏหมาย ไม่ถูกต้องชอบด้วยระเบียบ และขาดความละเอียดรอบคอบ ดังได้วิเคราะห์มาแล้วข้างต้นนั้น ย่อมทำให้ความเชื่อถือขององค์กรอัยการถูกกระทบ อันเป็นการกระทำที่ขาดความรับผิดชอบในความเชื่อถือได้ของการสอบสวนนั่นเอง
สรุป
เมื่อพนักงานอัยการทำงานอย่างไม่มีหลักเช่นที่ได้กล่าวมาแล้ว ไม่ว่าการกระทำของพนักงานอัยการจะเป็นการกระทำที่ได้กระทำไปโดยรู้หรือไม่รู้ถึงหลักกฎหมายและความหมายของ “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” ก็ตาม การกระทำของพนักงานอัยการได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสังคมส่วนรวมอย่างมาก และผู้เขียนใคร่ขอโทษที่จะกล่าวต่อไปว่าการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการและอัยการสูงสุดในยุคหลังนี้ได้สร้างความตกต่ำให้เกิดแก่องค์กรอัยการอย่างมากมายมหาศาล และมีผลกระทบต่อความเชื่อถือศรัทธาของประชาชนต่อองค์กรอัยการด้วย
กรณีจึงจำเป็นต้องปฏิรูปองค์กรอัยการเสียใหม่เพื่อให้องค์กรอัยการสามารถจะช่วยแก้ปัญหาให้เกิดความสงบสุขในสังคมได้ดีในอนาคต สำหรับวุฒิสภาก็ชอบที่ต้องระมัดระวังในการให้ความเห็นชอบต่อผู้ที่จะให้ดำรงตำแหน่ง “อัยการสูงสุด”
ในคำนำของหนังสือ “อดีตประธาน คอป. แนะ อสส. ในคดีการก่อการร้าย” ฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๒ ผู้เขียนได้กล่าวถึงการเป็น “อัยการสูงสุด” ไว้ดังนี้
“บุคคลในกระบวนการยุติธรรมของประเทศนั้น เป็นบุคคลที่มีความสำคัญมาก ผมทราบว่าในสหรัฐอเมริกาเคยมีครั้งหนึ่งที่ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาเสนอแต่งตั้งศาสตราจารย์ทางกฎหมายผู้หนึ่งให้เป็นผู้พิพากษา Supreme Court แต่จากการตรวจสอบประวัติของบุคคลผู้นี้ย้อนหลังปรากฏว่าเขาเคยเสพกัญชาในขณะที่เป็นนักศึกษากฎหมาย เมื่อเช่นนี้สภาสูงสหรัฐจึงไม่อนุมัติให้แต่งตั้ง
สำหรับประเทศไทยเรานั้น บุคคลในกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องผ่านการอนุมัติในการแต่งตั้งจากวุฒิสภา คือ ผู้ที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “อัยการสูงสุด” ดังนั้น ในหลักการแล้วพนักงานอัยการผู้ใดที่ได้รับการเสนอแต่งตั้งให้เป็น “อัยการสูงสุด” ต่อวุฒิสภา พนักงานอัยการผู้นั้นต้องไม่มีประวัติที่ด่างพร้อย
พนักงานอัยการผู้ใดก็ตามที่เคยถูกกล่าวหาหรือกำลังถูกกล่าวหาในทางอาญาในขณะที่เป็นพนักงานอัยการ ไม่ว่าจะก่อนหรือขณะที่มีการเสนอให้ได้รับการแต่งตั้งเป็น “อัยการสูงสุด” พนักงานอ้ยการผู้นั้นย่อมไม่มี “ความเชื่อถือศรัทธา” (Integrity) เพียงพอที่จะได้รับความเห็นชอบจากวุฒิสภาให้ดำรงตำแหน่ง “อัยการสูงสุด”
ฉะนั้น หากวุฒิสภายึดหลักการดังกล่าวมาแล้ว สังคมเราก็จะได้ผู้ดำรงตำแหน่ง “อัยการสูงสุด” ที่เป็นหลักให้สังคมพึ่งพาได้อย่างแท้จริง การที่ “อัยการสูงสุด” จะถูกใช้เป็นเครื่องมือในทางการเมืองก็จะไม่เกิดขึ้น เพราะตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานอัยการของเรานั้น พนักงานอัยการมีความเป็นอิสระจากทางการเมืองอย่างมาก “อัยการสูงสุด” จึงมีหลักประกันเพียงพอที่ไม่ต้องเกรงกลัวอิทธิพลทางการเมืองและสามารถอำนวยความยุติธรรมให้เป็นที่พึ่งของสังคมได้ดังเช่นในอดีต”
ที่ผู้เขียนได้สรุปมานี้ก็เป็นหัวข้อเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมืองด้วยเช่นกันมิใช่หรือ ?
๑ บทความนี้เขียนเสร็จเมื่อวันจันทร์ที่ ๑๙ พฤษภาคม ๒๕๕๗
๒ ดู คณิต ณ นคร ประชาธิปไตยกับการตั้งรังเกียจทางสังคม พิมพ์โดยสำนักพิมพ์วิญญูชน หน้า ๑๖๕ – ๑๖๖
หนังสือ “ประชาธิปไตยกับการตั้งรังเกียจทางสังคม” โดยคณิต ณ นคร หนังสือนี้พิมพ์มาแล้ว ๔ ครั้ง โดยสำนักพิมพ์วิญญูชน พิมพ์ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๖ เป็นการพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ ๒ เมื่อเดือนกันยายน ๒๕๕๖ เป็นการพิมพ์จ่ายแจก พิมพ์ครั้งที่ ๓ เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๕๖ เป็นการพิมพ์จ่ายแจก และพิมพ์ครั้งที่ ๔ เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๕๗ เป็นการพิมพ์จ่ายแจกเช่นเดียวกัน
อนึ่ง หนังสือเล่มนี้สามารถหาอ่านได้ในห้องสมุดประชาชนทั่วราชอาณาจักร ห้องสมุดมหาวิทยาลัยทุกมหาวิทยาลัย และห้องสมุดโรงเรียนชั้นมัธยมศึกษาทั่วราชอาณาจักร
๓ ดู คณิต ณ นคร “อัยการกับปัญหาความขัดแย้งในชาติ” ลงพิมพ์ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์ มติชนสุดสัปดาห์ ประจำวันที่ ๕ – ๑๑ มิถุนายน ๒๕๕๒ และฉบับประจำวันที่ ๑๒ – ๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๒ และต่อมาลงพิมพ์ในหนังสือประชาธิปไตยกับการตั้งรังเกียจทางสังคม หน้า ๑๔๕ – ๑๕๒
๔ เมื่อครั้งเกิดความไม่สงบในประเทศเมื่อวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ คดีเกี่ยวกับการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่มีผู้ถูกจับเป็นจำนวนพัน ๆ คน ที่ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการในชั้นพนักงานสอบสวนของฝ่ายตำรวจอยู่ ครั้นเมื่อสำนวนการสอบสวนเข้าสู่การพิจารณาของพนักงานอัยการ อธิบดีกรมอัยการในขณะนั้น คือ นายประเทือง กีรติบุตร ได้สั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาที่ถูกจับทั้งหมด การกระทำของอธิบดีกรมอัยการจึงเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความปรองดองในชาติ เพราะต่อมาเมื่อถึงสมัยรัฐบาลพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ก็ได้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้ผู้ที่หลบหนีเข้าป่าทั้งหมด จนในที่สุดถึงสมัยรัฐบาลพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ก็ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ ๖๖/๒๕๒๓ จนสามารถยุติความขัดแย้งในชาติลงได้อย่างสิ้นเชิง นี่คือการที่พนักงานอัยการช่วยแก้ปัญหาของชาติ
ดู คณิต ณ นคร “อัยการกับปัญหาความขัดแย้งในชาติ” ประชาธิปไตยกับการตั้งรังเกียจทางสังคม หน้า ๑๔๕ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้า ๑๕๐
๕ ดู คณิต ณ นคร ประชาธิปไตยกับการตั้งรังเกียจทางสังคม หน้า ๒๐๗ – ๒๑๔
๖ ดู คณิต ณ นคร อดีตประธาน คอป. แนะ อสส. ในคดีการก่อการร้าย สำนักพิมพ์วิญญูชน พิมพ์ครั้งที่ ๑ ธันวาคม ๒๕๕๖ เป็นการพิมพ์จำหน่าย พิมพ์ครั้งที่ ๒ มกราคม ๒๕๕๗ เป็นการพิมพ์จ่ายแจก
๗ ดู คณิต ณ นคร กฎหมายอาญาภาคความผิด พิมพ์ครั้งที่ ๑๐ สำนักพิมพ์วิญญูชน มิถุนายน ๒๕๕๓
๘ ผู้เขียนต้องขอโทษท่านอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษที่ต้องกล่าวเตือนสติเช่นที่กล่าวมา แม้เราจะเคยทำงานร่วมกันมาในสำนักงานอัยการสูงสุดในอดีตขณะเมื่อองค์กรอัยการของเราถูกคุกคามจากการเมืองและท่านเป็นผู้หนึ่งที่ยืนหยัดอยู่เบื้องหลังของการต่อสู้กับภัยคุกคามในครั้งนั้น
๙ ดู คณิต ณ นคร “คอป. และ อสส. กับการก่อการร้าย” อดีตประธาน คอป. แนะ อสส. ในคดีการก่อการ้าย หน้า ๑๕ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้า ๓๒ – ๓๕
๑๐ ดู คณิต ณ นคร กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พิมพ์ครั้งที่ ๘ สำนักพิมพ์วิญญูชน มีนาคม ๒๕๕๕ หน้า ๗๐,๔๕๔
๑๑ ดู คณิต ณ นคร กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หน้า ๔๓๙
๑๒ คู คณิต ณ นคร “วิธีพิจารณาความอาญาไทย : หลักกฎหมายกับทางปฏิบัติที่ไม่ตรงกัน” วารสารนิติศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๒๘ หน้า ๑
๑๓ ดู คณิต ณ นคร กฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา หน้า ๑๐๐
๑๔ ดู คณิต ณ นคร “คอป. และ อสส. กับการก่อการร้าย” อดีตประธาน คอป. แนะ อสส. ในคดีการก่อการร้าย หน้า ๑๕ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หน้า ๓๕ – ๔๐
๑๕ ดู คณิต ณ นคร “อัยการกับปัญหาความขัดแย้งในชาติ” ในหนังสือ ประชาธิปไตยกับการตั้งรังเกียจทางสังคม หน้า ๑๔๕ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้า ๑๔๗ – ๑๔๘ หัวข้อ “ความผิดก่อการจลาจลกับความผิดฐานเป็นกบฏ”
๑๖ ดู คณิต ณ นคร “กระบวนการยุติธรรมต้อง “นิ่ง”” หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับวันพุธที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๔๙ หรือใน ประชาธิปไตยกับการตั้งรังเกียจทางสังคม หน้า ๑๑๗ – ๑๒๒
ขอบคุณภาพประกอบจาก : www.bangkokvoice.com