กฎอัยการศึก...บทเรียนจากชายแดนใต้
ผ่านไปแล้ว 1 วันเต็มกับการใช้ชีวิตอยู่ภายใต้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร หรือ "ทุกท้องที่ทั่วประเทศ" ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ได้ลงนามในประกาศกองทัพบก (ทบ.)
เหตุผลที่อ้างในประกาศคือ การชุมนุมทางการเมืองที่มีการประท้วงและมีกลุ่มผู้ไม่หวังดีสร้างสถานการณ์ความรุนแรงด้วยการใช้อาวุธสงครามต่อประชาชนและสถานที่สำคัญอย่างกว้างขวาง จนมีแนวโน้มทำให้เกิดการจลาจลและความไม่สงบเรียบร้อยอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่
การบังคับใช้กฎอัยการศึกในวันแรก ทบ.ได้ออกคำสั่งต่างๆ เพื่อให้การรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และความสงบสุขกลับคืนสู่ประชาชนทุกกลุ่มทุกฝ่ายโดยเร็ว ตามเป้าหมายของการประกาศใช้กฎอัยการศึก
คำสั่งบางคำสั่งเข้าข่าย "คุมเข้ม" การนำเสนอข้อมูลข่าวสารของสื่อทุกชนิดและ "ควบคุม" การแสดงความคิดเห็นอย่างเข้มงวด โดยอ้างว่าเพื่อไม่ให้เกิดการบิดเบือน ยุยง ปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกและการสร้างความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชน
ยังไม่มีใครรู้ว่ากฎอัยการศึกจะถูกใช้ไปอีกนานเท่าไหร่ แต่การใช้กฎหมายพิเศษด้านความมั่นคงที่มีดีกรีความเข้มสูงสุดมากกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.ความมั่นคง ก็ได้สร้างความตื่นตระหนกและเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนกรุงเทพฯและผู้คนในภาคส่วนต่างๆ ไม่น้อยเลย
แต่ถ้าถามคนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่จะรู้สึกเฉยๆ เพราะพื้นที่ปลายด้ามขวานอยู่ภายใต้บังคับของกฎอัยการศึกมานานกว่า 10 ปีแล้ว
อาจารย์นิมุ มะกาเจ ผู้นำศาสนาชื่อดัง และผู้ทรงคุณวุฒิจังหวัดยะลา บอกกับนักข่าวว่า การประกาศกฎอัยการศึกในครั้งนี้ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้คงเป็นปกติมากกว่าพื้นที่อื่นๆ เพราะเคยเจอกับมาตรการหลายๆ อย่างของกฎอัยการศึกมาตลอด 10 ปี แม้แต่เคอร์ฟิว (มาตรการห้ามออกนอกเคหะสถานในเวลาที่กำหนด เคยประกาศในพื้นที่ อ.ยะหา และ อ.บันนังสตา จ.ยะลา) ก็เจอมาแล้ว รวมทั้งสภาวะบังคับที่ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ จึงขอเรียกร้องให้ฝ่ายทหารที่มีอำนาจได้ประสานกับผู้นำในท้องที่ ท้องถิ่นทุกระดับด้วย ส่วนไหนที่พอผ่อนปรนกันได้ หากมีการประสานกันก็จะทำให้พื้นที่สงบสุข
อาจารย์นิมุ ยังเรียกร้องไปยังแม่ทัพภาคที่ 4 ให้ช่วยชี้แจงชัดๆ ว่าการประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศเมื่อวันอังคารที่ 20 พ.ค.2557 จะมีการเพิ่มมาตรการบังคับใดๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ประกาศกฎอัยการศึกและใช้มาตรการบางข้ออยู่แล้วบ้างหรือไม่ เพราะประชาชนอาจยังไม่มีความเข้าใจ ทั้งยังเกรงว่าผู้มีอำนาจจะนำกฎหมายไปใช้จนเกินเลยขอบเขต ซึ่งจากประสบการณ์ในอดีตมีบางส่วนที่ปฏิบัติการเกินเลยจนทำให้เกิดปัญหา
ถือเป็นมุมมองที่อาจจะเรียกได้ว่าเป็น "บทเรียนหนึ่ง" ของการใช้กฎอัยการศึกที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งฝ่ายทหารควรนำไปพิจารณา
ที่สำคัญการใช้กฎหมายพิเศษ หรือมาตรการพิเศษอย่างกฎอัยการศึกเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ฉุกเฉินรุนแรงเป็นพิเศษนั้น ควรใช้ในเวลาอันจำกัด มีแผนรองรับชัดเจน และน่าจะสื่อสารให้ประชาชนได้รับทราบถึงกรอบเวลา ไม่ใช่ใช้ไปเรื่อยๆ จนกฎหมายคลายมนต์ขลัง สถานการณ์พิเศษกลายเป็นความเคยชิน เปรียบเหมือนการใช้ยาแรงแต่ไม่ได้ผล ก็จะกลายเป็นอาการดื้อยา
ประเด็นนี้ก็สะท้อนชัดจากการใช้กฎอัยการศึกในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ถึงกับเคยมีการจัดเวทีสะท้อนความเห็นกันในเรื่องนี้ ในหัวข้อว่า "100 ปีกฎอัยการศึก 10 ปี ณ ปาตานี" เมื่อวันที่ 12 มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันครบรอบ 10 ปีการหายตัวไปของทนายสมชาย นีละไพจิตร และเป็นปีครบรอบ 100 ปีการบังคับใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ด้วย
ภายในงานมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์อันเจ็บปวดจากการที่เจ้าหน้าที่รัฐบางคน บางกลุ่ม ใช้กฎอัยการศึกละเมิดสิทธิเสรีภาพทางร่างกายและจิตใจของผู้ต้องหาคดีความมั่นคง โดยเฉพาะอำนาจการจับกุม คุมขัง โดยไม่ต้องขอหมายศาล แต่ในท่ามกลางความเจ็บปวดนั้น สถานการณ์โดยรวมของสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็ไม่ได้ดีขึ้นแต่อย่างใด
มีการให้ข้อมูลบนเวทีด้วยว่า ก่อนที่ทนายสมชายจะหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ซึ่งหลายฝ่ายเชื่อกันว่าเป็น "การบังคับให้สูญหาย" ทนายสมชายกำลังล่ารายชื่อประชาชนให้ได้ 50,000 รายชื่อ เพื่อขอยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้!
ย้อนกลับมาที่การประกาศกฎอัยการศึก ณ ปี 2557 ในทุกท้องที่ทั่วประเทศ แม้จะยังไม่มีการบังคับใช้มาตรการเคอร์ฟิว หรือจับกุมคุมขังโดยไม่ต้องมีหมายจับเหมือนกับที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่คำสั่งต่างๆ ที่กองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) ค่อยๆ ทยอยออกมา ก็เริ่มเพิ่มความเข้มข้น โดยเฉพาะการปิดสื่อทีวีดาวเทียม วิทยุชุมชน และการห้ามสัมภาษณ์อดีตข้าราชการหรือนักวิชาการในลักษณะชี้นำ
แม้จะมีถ้อยคำกำกับว่า เป็นการห้ามเพื่อไม่ให้มีการเผยแพร่ความคิดเห็นในอันที่จะสร้างความเข้าใจผิดในหมู่ประชาชน หรือส่งผลกระทบกับการรักษาความสงบเรียบร้อยและการคืนความสงบสุขกลับสู่ประชาชนก็ตาม แต่การห้ามในลักษณะนี้ก็สุ่มเสี่ยงเป็นการลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นอย่างร้ายแรงเช่นกัน
เมื่อกองทัพบกอ้างว่าได้ประกาศกฎอัยการศึกภายใต้รัฐธรรมนูญ และยังยืนกรานว่ารัฐบาลรักษาการยังมีอยู่ รัฐธรรมนูญก็ไม่ได้ถูกฉีก จึงไม่ใช่การปฏิวัติหรือรัฐประหาร ประชาชนก็มีสิทธิตั้งคำถามในประเด็นข้อสงสัยที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตและสิทธิขั้นพื้นฐานของตนเองเช่นกัน
มิฉะนั้นมันก็เป็นการรัฐประหารแนวใหม่โดยไม่ฉีกรัฐธรรมนูญนั่นเอง
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : การปฏิบัติหน้าที่ของทหารในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ใช้อำนาจส่วนหนึ่งตามกฎอัยการศึกที่ประกาศมากว่า 10 ปีแล้ว