รวมแถลงการณ์ เห็นด้วย-คัดค้าน ใช้กฎอัยการศึกฉบับ"ประยุทธ์"
รวมแถลงการณ์องค์กรต่าง ๆ ต่อการใช้กฎอัยการศึกฉบับประยุทธ์ "นิติราษฎร์ - สปป. สมาคมนักกฎหมายสิทธิฯ" ออกโรงค้านหัวชนฝา ด้าน "สมาคมเคเบิลทีวีฯ" หนุนเต็มที่
ภายหลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ออกประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร เมื่อเวลา 03.00 ของวันที่ 20 พฤษภาคม
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอรวบรวมแถลงการณ์ของกลุ่มก้อนองค์กรต่าง ๆ ทั้งคัดค้าน และเห็นด้วยกับการประกาศกฎอัยการศึก มานำเสนอ ดังนี้
แถลงการณ์ คณะนิติราษฎร์
เรื่อง การประกาศใช้กฎอัยการศึกไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย
ตามที่ พล.อ.ประยุทธ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ลงนามประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 นั้น คณะนิติราษฎร์พิจารณาแล้ว เห็นว่าประกาศกองทัพบกดังกล่าวไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย ด้วยเหตุผล ดังต่อไปนี้
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 188 บัญญัติว่า “พระมหากษัตริย์ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจในการประกาศใช้และเลิกใช้กฎอัยการศึก ตามลักษณะและวิธีการตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก” และวรรคสอง “ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะแห่งเป็นการรีบด่วน เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารย่อมกระทำได้ตามกฎหมายว่าด้วยกฎอัยการศึก” และมาตรา 195 บัญญัติว่า “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการอันเกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ต้องมีรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ เว้นแต่ที่มีบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญนี้” พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2557 มาตรา 2 บัญญัติว่า “เมื่อเวลามีเหตุอันจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยปราศจากภัย ซึ่งจะมาจากภายนอกหรือภายในราชอาณาจักรแล้ว จะได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ใช้กฎอัยการศึกทุกมาตราหรือแต่บางมาตรา หรือข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งของมาตรา ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขแห่งการใช้บทบัญญัตินั้นบังคับในส่วนหนึ่งส่วนใดของ ราชอาณาจักรหรือตลอดทั่วราชอาณาจักร และถ้าได้ประกาศใช้เมื่อใด หรือ ณ ที่ใดแล้ว บรรดาข้อความในพระราชบัญญัติหรือบทกฎหมายใดๆ ซึ่งขัดกับความของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับต้องระงับ และใช้บทบัญญัติของกฎอัยการศึกที่ให้ใช้บังคับนั้นแทน”
จากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2557 ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการประกาศให้มีผลใช้บังคับตลอดทั่วราชอาณาจักรเป็นพระราช อำนาจของพระมหากษัตริย์ ซึ่งจะต้องกระทำในรูปแบบพระบรมราชโองการ และต้องมีรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการประกาศ ใช้กฎอัยการศึก หาใช่อำนาจของผู้บัญชาการทหารบกไม่
2. การประกาศใช้กฎอัยการศึกเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งซึ่งเป็นอำนาจของผู้ บัญชาการทหารในเขตพื้นที่นั้น ซึ่งมีกำลังอยู่ใต้บังคับไม่น้อยกว่าหนึ่งกองพัน หรือเป็นผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใดๆของทหารตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2557 นั้น จะต้องเป็นกรณีที่เกิด “สงคราม” หรือ “จลาจล” เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ยังไม่ปรากฏว่าเกิด “สงคราม” หรือ “จลาจล” ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งอันจะเป็นเหตุให้ผู้บังคับบัญชาทหาร ณ ที่แห่งนั้นหรือผู้บังคับบัญชาในป้อมหรือที่มั่นอย่างใดๆมีอำนาจประกาศใช้กฎ อัยการศึกได้แต่อย่างใด อนึ่ง หากมีการใช้อำนาจตามมาตรานี้ประกาศใช้กฎอัยการศึก ผู้ประกาศก็จะต้องรีบรายงานให้รัฐบาลทราบโดยเร็วที่สุด อันแสดงให้เห็นว่าแม้จะมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เมื่อมีเหตุสงครามหรือจลาจลในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง ทหารก็ไม่สามารถมีอำนาจเหนือรัฐบาลพลเรือนได้
3. ประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 ได้อ้างสถานการณ์ที่มีการชุมนุมทางการเมืองหลายกลุ่มในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ปริมณฑล ตลอดจนพื้นที่ต่างๆของประเทศ เพื่อประกาศใช้กฎอัยการศึกให้มีผลทั่วราชอาณาจักร เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น การชุมนุมทางการเมืองอยู่ในอาณาเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ไม่ได้ครอบคลุมไปทุกจังหวัดทั่วประเทศ การประกาศกฎอัยการศึกโดยให้มีผลทั่วราชอาณาจักรจึงเกินความจำเป็น ขัดกับหลักความพอสมควรแก่เหตุหรือหลักความได้สัดส่วนที่เรียกร้องว่าการ จำกัดสิทธิและเสรีภาพต้องกระทำเท่าที่จำเป็น ซึ่งเป็นหลักการพื้นฐานในระดับรัฐธรรมนูญ อนึ่ง ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยอย่างรุนแรงจนถึงขนาดจำเป็นต้อง ใช้มาตรการพิเศษเพื่อจัดการแก้ไขปัญหา รัฐบาลสามารถใช้มาตรการตามกฎหมายพิเศษ 2 ฉบับได้แก่ การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 และการประกาศตามพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ได้ โดยไม่จำเป็นต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกแต่อย่างใด
4. เมื่อพิจารณาจากข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงทั้งปวงข้างต้นแล้ว คณะนิติราษฎร์เห็นว่าประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย เนื่องจากผู้บัญชาการทหารบกไม่ใช่องค์กรเจ้าหน้าที่ผู้ทรงอำนาจประกาศใช้กฎ อัยการศึกให้มีผลใช้บังคับตลอดทั่วราชอาณาจักร และการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกดังกล่าวไม่ได้กระทำตามแบบที่ กฎหมายกำหนด คือ ไม่ได้กระทำในรูปของประกาศพระบรมราชโองการ แต่กลับกระทำในรูปของ “ประกาศกองทัพบก” ความไม่มีอำนาจของ “เจ้าหน้าที่” และการกระทำผิดแบบดังกล่าวเป็นความบกพร่องที่ร้ายแรงและเห็นประจักษ์ชัด จึงส่งผลให้ประกาศกองทัพบกฉบับที่ 1/2557 และฉบับต่อๆมาไม่มีผลในทางกฎหมาย
อย่างไรก็ตามเพื่อขจัดข้อถกเถียงว่าการประกาศใช้กฎอัยการศึกดังกล่าว ยังคงมีผลในทางกฎหมายอยู่หรือไม่ และเพื่อขจัดความสับสนในทางปฏิบัติของบรรดาข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตลอดจนบุคคลทั่วไปว่าจะต้องปฏิบัติตามประกาศกองทัพบกและประกาศฉบับอื่นๆต่อ มาหรือไม่ คณะนิติราษฎร์จึงเสนอให้รัฐมนตรีผู้รับผิดชอบนำร่างพระบรมราชโองการยกเลิก ประกาศกองทัพบกฉบับที่ 1/2557 ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยยกเลิกการ ประกาศใช้กฎอัยการศึกตาม มาตรา 5 ของพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ต่อไป
คณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร
20 พฤษภาคม 2557
----
แถลงการณ์ สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย (สปป.)
ตามที่ผู้บัญชาการทหารบก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศกฏอัยการศึกในรุ่งเช้าของวันที่ 20 พฤษภาคมนี้ สปป. ขอแถลงว่า
1. สปป.ไม่เห็นด้วยกับการประกาศใช้กฏหมายที่ขัดกับหลักการประชาธิปไตยและมอบอำนาจเบ็ดเสร็จให้กับทหาร อีกทั้งยังเป็นการประกาศใช้ที่มีอาณาเขตครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ ซึ่งไม่มีความจำเป็นแต่ประการใด เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศยังอยู่ในภาวะปกติ ประการสำคัญ สปป.เห็นว่ากฏอัยการศึกไม่สามารถใช้แก้ไขปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองในขณะนี้ได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีการเลือกปฏิบัติต่อประชาชนที่ยืนยันในหลักสิทธิเสรีภาพที่เท่าเทียมกัน
2. ผู้บัญชาการทหารบกพึงตระหนักว่าการประกาศใช้กฏอัยการศึกนี้ยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การกระทำใดๆของกองทัพจะต้องส่งเสริมต่อระบอบการปกครองของประเทศ ฉะนั้น กองทัพจึงมีหน้าที่เพียงรักษาความสงบเรียบร้อยของประเทศ โดยให้ความร่วมมือกับรัฐบาลรักษาการณ์และคณะกรรมการการเลือกตั้ง ผลักดันให้เกิดการเลือกตั้งทั่วไปโดยเร็ว
3. สปป.เห็นว่า กฏอัยการศึกมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตอันเป็นปกติของประชาชน มีผลจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงดังที่ได้เกิดขึ้นแล้วจากความไม่มั่นใจของนักลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ ผู้บัญชาการทหารบกจะต้องจำกัดขอบเขตและเวลาของการใช้อำนาจกฎอัยการศึกอย่างชัดเจนว่าเพื่อรักษาความสงบแก่ประชาชน
4. ขณะนี้รัฐบาลรักษาการยังมีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน ดังนั้น รัฐบาลรักษาการจะต้องติดตามการบังคับใช้กฏอัยการศึกอย่างเคร่งครัด หากมีการบังคับใช้ที่นำไปสู่การละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองอย่างสันติ ตลอดจนสิทธิด้านอื่นๆของประชาชน รัฐบาลรักษาการมีอำนาจที่จะดำเนินการสนองพระบรมราชโองการต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อยกเลิกกฏอัยการศึกโดยเร็ว
สมัชชาปกป้องประชาธิปไตย
20 พฤษภาคม 2557
----
แถลงการณ์สมาคมนักกฏหมายสิทธิมนุษยชน ( สนส. ) สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) มูลนิธิผสานวัฒนธรรม มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
คัดค้านการประกาศใช้กฎอัยการศึกด้วยขัดต่อหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
ตามที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบกได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พุทธศักราช 2457 ทั่วราชอาณาจักรและออกประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 และ 2/2557 เมื่อคืนวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมา เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยและจัดการกับสถานการณ์การชุมนุมของประชาชน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขึ้นตรงต่อกองอำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (กอ.รส.) นั้น
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) และองค์กรที่มีรายชื่อข้างท้ายนี้ ขอคัดค้านการประกาศใช้กฎอัยการศึก ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้
1. เนื่องจากพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก มีบทบัญญัติจำกัดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอย่างกว้างขวางและรุนแรงการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2557 จึงต้องมีเหตุจำเป็นเพื่อรักษาความเรียบร้อยปราศจากภัย เมื่อเกิดสงคราม หรือจลาจลโดยไม่มีหนทางอื่นใดที่จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ได้แล้วเท่านั้น แต่เหตุความรุนแรงในสถานการณ์ปัจจุบัน ยังอยู่ในวิสัยที่รัฐบาลสามารถใช้มาตรการตามกฎหมายเพื่อควบคุมสถานการณ์ได้ หากรัฐบาลและเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มประสิทธิภาพตามกฎหมายในการควบคุมดูแลการชุมนุม และความปลอดภัยของประชาชน กรณีนี้จึงถือได้ว่าไม่มีเหตุจำเป็นเพียงพอที่จะประกาศใช้กฎอัยการศึกแต่อย่างใด ซึ่งขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้ประกาศใช้เพื่อยุติสถานการณ์ความรุนแรง และขัดต่อหลักการประชาธิปไตย
2. การประกาศกฎอัยการศึก ได้เพิ่มอำนาจฝ่ายทหารในการจับกุม ตรวจค้น ยึดได้โดยไม่ต้องรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากการดำเนินการตามกฎอัยการศึกของเจ้าหน้าที่ และให้อำนาจในการสั่งห้ามการชุมนุม ห้ามเผยแพร่สื่อสิ่งพิมพ์ ห้ามโฆษณา ห้ามใช้ทางสาธารณะ ฯลฯ อันเป็นการจำกัดเสรีภาพในการเดินทางของบุคคล จำกัดการใช้เสรีภาพในการชุมนุม จำกัดสิทธิของประชาชนในกระบวนการยุติธรรม และจำกัดการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน อันจะทำให้สถานการณ์เลวร้ายยิ่งขึ้น ขัดกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้ประกาศใช้เพื่อยุติสถานการณ์ความรุนแรง ดังจะเห็นได้จากบทเรียนการใช้กฎอัยการศึก ในการจัดการกับความขัดแย้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้
3. แม้กฎอัยการศึกจะให้อำนาจในการประกาศ และอำนาจในการสั่งห้ามประชาชนในการกระทำการต่างๆอย่างกว้างขวาง แต่หน่วยงานและเจ้าหน้าที่ผู้ใช้อำนาจพึงต้องระลึกว่าการใช้อำนาจย่อมต้องผูกพันตามรัฐธรรมนูญ สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวย่อมต้องได้รับความคุ้มครองและผูกพันหน่วยงานของรัฐในการบังคับใช้กฎหมาย ตาม รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 27 กองทัพจึงไม่อาจใช้อำนาจเกินกว่าจำเป็นและจะกระทบกระเทือนถึงสาระสำคัญแห่งสิทธิเสรีภาพของประชาชนไม่ได้ ทั้งนี้หากเกิดความเสียหายขึ้นในการดำเนินการตามกฎอัยการศึกเจ้าหน้าที่และหน่วยงานรัฐยังคงต้องรับผิดในความเสียหายตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
ด้วยเหตุผลที่กล่าว มาข้างต้น องค์กรที่มีรายชื่อข้างท้ายนี้จึงเห็นว่า การประกาศกฎอัยการศึกไม่สามารถคลี่คลายสถานการณ์และสร้างความไว้วางใจของสังคมได้ การที่จะนำไปสู่ความสงบภายในประเทศได้นั้นจะสำเร็จลุล่วงได้ก็ด้วยความจริงใจและความไว้วางใจระหว่างทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างคู่ขัดแย้ง และจะต้องเป็นการแก้ปัญหาโดยสันติวิธี และการมีส่วนร่วมของประชาชน บนพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย จึงขอให้กองทัพและรัฐบาลดำเนินการให้มีการประกาศเลิกใช้กฎอัยการศึกฉบับนี้ โดยทันที
ด้วยความเคารพในสิทธิมนุษยชนและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.)
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.)
มูลนิธิผสานวัฒนธรรม
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม
ขณะที่สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์เห็นชอบด้วยที่พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศใช้พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ดังนี้
แถลงการณ์ สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย
เรื่อง การประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึก
ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 เมื่อเวลา 03.00 นาฬิกานั้น
สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ในฐานะสื่อมวลชน ที่มีความห่วงใยต่อสถานการณ์บ้านเมืองและความปลอดภัยของประชาชน ขอสนับสนุนแนวทางแก้ปัญหาด้วยวิธีดังกล่าว เพื่อที่จะนำความสงบสุขสู่ประชาชนและประเทศชาติโดยเร็วที่สุด
สมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย ขอเป็นกำลังใจให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันแก้ปัญหา โดยไม่ใช้ความรุนแรง
นายณัฏฐชัย อักษรดิษฐ
นายกสมาคมเคเบิลทีวีแห่งประเทศไทย
----------
กลุ่มเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศ
จากวิกฤติทางการเมืองที่เกิดขึ้นมีการใช้ความรุนแรงจากอาวุธสงคราม การละเมิดทั้งสิทธิ และร่างกายของประชาชนอย่างต่อเนื่อง แม้มีความพยายามจะแก้ไขปัญหาด้วยกระบวนการประชาธิปไตย นั่นคือการมอบอำนาจให้ประชาชนได้มีฉันทามติผ่านการเลือกตั้ง แต่กระบวนการก็ล้มเหลวเนื่องจากคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ มากไปกว่านั้นยังมีความพยายามสร้างเงื่อนไขในการแก้ไขปัญหาของประเทศ ดำเนินไปโดยไม่ยึดหลักการประชาธิปไตย เช่น ความพยายามแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การพยายามขัดขวางหรือสร้างเงื่อนไขไม่ให้เกิดการเลือกตั้ง เป็นต้น
จนกระทั่ง เมื่อเวลา 3.00 น. ของวันที่ 20 พฤษภาคม 2557 มีการประกาศกฎอัยการศึกโดยผู้บัญชาการทหารบก พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งกฎหมายดังกล่าวเป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิ เสรีภาพ และการดำเนินชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ การใช้กฎหมายดังกล่าวไม่ได้แก้ไขปัญหา ซ้ำร้ายอาจจะเป็นเครื่องมือทางการเมืองให้ประเทศสู่หายนะมากไปอีก
ทางกลุ่มเพื่อประชาธิปไตยและความหลากหลายทางเพศเห็นจึงขอเรียกร้องให้
1.ให้ผู้ปฏิบัติการแทนนายกรัฐมนตรีรักษาการทูลเกล้าฯ ขอพระราชทานพระบรมราชโองการยกเลิกการประกาศกฎอัยการศึกโดยทันที
2.ให้ผู้บัญชาการกองทัพบกสั่งให้ทหารกลับไปยังที่ตั้ง และยกเลิกการส่งกำลังทหารไปยังสถานีโทรทัศน์ วิทยุ และยกเลิกคำสั่งห้ามออกอากาศของสถานีใด ๆ โดยเร็วที่สุด
3.เนื่องจากประเทศไทยไม่ได้อยู่ในภาวะสงครามหรือจลาจล และผู้บัญชาการกองทัพบกได้ประกาศใช้กฎอัยการศึกโดยไม่มีเหตุอันควร ดังนั้นจึงขอให้ผู้ประกาศกฎอัยการศึกมีการดำเนินการชี้แจงถึงความเหมาะสมในการใช้อำนาจโดยพลการดังกล่าว และขอโทษประชาชนเนื่องจากการประกาศกฎอัยการศึกก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพและเศรษฐกิจหลายประการ เช่น สิทธิในชีวิต สิทธิในการแสดงออก สิทธิในการชุมนุมเพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานว่าต่อไป ผู้ที่มีอำนาจการทหารในมือจะไม่ดำเนินการโดยอำเภอใจเยี่ยงนี้อีก
4.รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้ง [ต่อไปในอนาคต] ต้องพิจารณายกเลิกกฎอัยการศึกหรืออย่างน้อยที่สุดต้องดำเนินการแก้ไขกฎอัยการศึกให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
5.รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งต้องถือเป็นหน้าที่ในการดำเนินการปฏิรูปหน่วยงานด้านความมั่นคงและกองทัพให้เป็นประชาธิปไตยและไม่เป็นใช้อำนาจกำลังทหารมาเป็นเครื่องมือต่อรองทางการเมืองโดยเด็ดขาด
"เราขอยืนยันหลักการการแก้ไขปัญหาของประเทศ โดยเคารพหลักสิทธิมนุษยชน โดยใช้กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตย จึงขอให้ทุกหน่วยงานเคารพในเสียงของประชาชนอย่างเท่าเทียมโดยการปฏิบัติหน้าที่ตามหลักการดังกล่าว" เเถลงการณ์ ระบุ .
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเรียกร้องทางการไทยให้การประกันว่าต้องมีการคุ้มครองและเคารพสิทธิมนุษยชน หลังที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งให้อำนาจอย่างมหาศาลกับกองทัพไทย ทำให้สามารถกำหนดมาตรการจำกัดสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอย่างเข้มงวด และเป็นเหตุให้มีการสั่งปิดสื่อวิทยุและโทรทัศน์หลายแห่ง
ริชาร์ด เบนเนต (Richard Bennett) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่าการประกาศกฎอัยการศึกจะต้องไม่เป็นแม่พิมพ์ให้กับการละเมิดสิทธิมนุษยชน กองทัพจะต้องแสดงความระมัดระวังอย่างยิ่งยวด และการเคารพอย่างเต็มที่ต่อพันธกรณีของไทยที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
กองทัพไทยได้ตัดสินใจแต่ฝ่ายเดียวในการประกาศกฎอัยการศึก เป็นเหตุให้มีการชะลอหรือจำกัดการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนหลายประการ
ในขณะนี้กองทัพมีอำนาจควบคุมตัวบุคคลโดยไม่ต้องมีหมายจับนานถึงหนึ่งสัปดาห์ สามารถสั่งยึดทรัพย์สิน และตรวจค้นบุคคลและทรัพย์สินโดยไม่ต้องขอหมายศาล ทั้งยังประกันให้กองทัพไม่ต้องถูกฟ้องร้องดำเนินคดีหรือเรียกค่าเสียหาย
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกังวลอย่างยิ่งว่า ที่ผ่านมากองทัพไทยได้ใช้อำนาจตามกฎหมายฉบับนี้เพื่อกำหนดมาตรการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างกว้างขวาง ซึ่งเป็นการละเมิดพันธกรณีของไทยที่มีต่อกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ
กองทัพไทยยังสั่งห้ามสื่อไม่ให้รายงานข่าว “ที่เป็นภัยต่อความมั่นคงแห่งชาติ” และได้สั่งปิดสถานีโทรทัศน์อย่างน้อย 10 แห่ง ส่วนใหญ่เป็นสถานีที่เสนอรายการทั้งของกลุ่มที่สนับสนุนหรือต่อต้านรัฐบาล
“ความพยายามของกองทัพในการควบคุมอย่างเข้มงวดต่อสื่อมวลชนอิสระ เป็นเรื่องน่ากังวลอย่างยิ่ง ต้องไม่มีการอ้างความมั่นคงแห่งชาติเพื่อเป็นเหตุผลในการปราบปรามการใช้เสรีภาพในการแสดงออกอย่างสงบ และเรากระตุ้นให้กองทัพให้พื้นที่กับสื่อในการปฏิบัติหน้าที่ของตนที่ชอบด้วยกฎหมาย”
“สถานการณ์ในไทยมีความตึงเครียดและอ่อนไหว ความพยายามใด ๆ ที่จะควบคุมสิทธิการประท้วงอย่างสงบและสิทธิมนุษยชนอื่น ๆ ย่อมอาจส่งผลให้สถานการณ์เลวร้ายลง ผู้นำการเมืองทั้งสองฝ่ายต้องประกาศอย่างชัดเจนต่อผู้สนับสนุนของตนว่า ไม่ยอมรับให้มีการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนใด ๆ ขึ้น” ริชาร์ด เบนเนตกล่าว
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยังกระตุ้นให้กองทัพไทยประกาศอย่างชัดเจนต่อกำลังพลของตน รวมทั้งผู้บังคับบัญชาว่า พวกเขาจะไม่ได้รับการยกเว้นจากการฟ้องคดี หากปฏิบัติหน้าที่จนเป็นเหตุให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน