ทัศนะ "นักวิชาการ" เห็นต่างหลังกองทัพประกาศกฎอัยการศึก
นักวิชาการคิดต่างกรณีกฎอัยการศึก "ประจักษ์"ชี้ต้องไม่ละเมิดเสรีภาพสื่อประชาชน กองทัพต้องปฏิบัติต่อผู้ชุมนุมทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม ด้าน "ปิติ"อาจารยจุฬาฯชี้ ไม่ต้องตื่นเต้น ยกบรูไนก็ประกาศInternal Security Act ใช้มาตั้ง 22 ปีแล้ว "ศรีสมภพ" หวั่นใช้อำนาจเกินเลย
วันที่ 20 พฤษภาคม 2557 ภายหลังจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ออกประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 เรื่องการประกาศใช้พระราชบัญญัติกฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร เมื่อเวลา 03.00 ที่ผ่านมาและมีคำสั่งให้ศูนย์อำนวยการรักษาความเรียบร้อย (ศอ.รส.) ยุติหน้าที่ในทันที
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ประมวลความเห็นนักวิชาการต่อสถานการณ์ดังกล่าว
คนแรก นายประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารณ์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความเห็นต่อการประกาศใช้กฎอัยการศึกในครั้งนี้ ในแง่หลักการของการใช้กฎหมายดังกล่าว
“ถ้าพูดในแง่หลักการ ผมเห็นว่าการแก้ไขปัญหาทางการเมืองควรให้พลเรือนเป็นคนจัดการ ถ้าทหารเข้าไปแทรกแซงเมื่อไหร่ คงเริ่มเป็นสัญญาณที่ไม่ดี ส่วนตัวผมคิดว่ายังมี 4-5 ประเด็น ที่ควรต้องติดตามเป็นพิเศษ"
นายประจักษ์กล่าวว่าประการแรก เมื่อในขณะนี้ ทหารเข้ามาแทรกแซงแล้ว ถ้าดำเนินการไม่เป็นกลางและเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง นั่นจะยิ่งเป็นการดำเนินนโยบายที่ทำให้สถานการณ์ร้ายแรงมากยิ่งขึ้น พูดง่ายๆ คือ ถ้าทหารออกมาแล้ว แทนที่จะยุติทั้งสองฝ่ายแต่กลับไปช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากเป็นเช่นนั้น สถานการณ์จะร้ายแรงมากยิ่งขึ้น
ประการที่ 2 ต้องติดตามการประกาศมาตราบังคับใช้ต่างๆ นับจากนี้ ว่าจะละเมิดสิทธิ มนุษยชนของประชาชน และสื่อสารมวลชนอื่นๆ หรือไม่ ทหารจะต้องไม่ทำเช่นนั้น เพราะถ้าทำทหารจะสูญเสียความชอบธรรมทันที สื่อฯ จะต้องมีสิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าวอย่างรอบด้าน และประชาชนก็ต้องมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นต่อไปได้
ประการที่ 3 สิ่งสำคัญที่สุด ถ้ากองทัพอ้างว่าการประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้ มีขึ้นเพื่อลดเหตุรุนแรง ไม่ให้เกิดการนองเลือด กองทัพก็จะต้องไม่ทำอะไรนอกเหนือจากนั้น เช่น กดดันให้รัฐบาลลาออก หรือจัดตั้งนายกฯ คนกลาง หรือรัฐบาลที่มาจากคนนอก หรือบีบรัฐบาลให้ทำตามข้อเสนอของ กปปส.
ข้อสังเกตประการที่ 4 กรณีที่มีทหารไปควบคุมการชุมนุมของกลุ่ม นปช.ที่ถนนอักษะ ถ้าหากทหารยืนยันว่าทำไปเพื่อให้มวลชนทั้งสองฝ่ายอยู่ในที่ตั้ง ทหารก็ต้องปฏิบัติตามนั้นจริง ไม่ใช่ว่าไปสกัดฝ่ายหนึ่งไม่ให้เคลื่อนไหวแต่อีกฝ่ายทำได้เหมือนเดิม หากเป็นแบบนั้นก็ถือว่าหมดความชอบธรรม
ส่วนกรณีที่มีกองกำลังไปอยู่ตามสถานีโทรทัศน์และมีการเตรียมเชิญสื่อมวลชนเข้าพบนั้น นายประจักษ์ กล่าวว่า "ตอนนี้ ทหารอ้างว่าทำเช่นนั้นเพื่อมาดูแล แต่หากเมื่อไหร่ที่เริ่มมีการประกาศว่าให้เว็บไซต์ ต่างๆ งดเสนอข่าวบางประการแบบนั้น ก็คงเข้าข่ายรัฐประหารกลายๆ แล้ว”
เมื่อถามว่า ทราบหรือไม่ว่านักวิชาการในกลุ่มสมัชชาปกป้องประชาธิปไตย และกลุ่มนิติราษฎร์ มีการพูดคุย หารือ เกี่ยวกับการประกาศใช้กฎอัยการศึกครั้งนี้หรือไม่ และจะมีแถลงการณ์ใดๆ ออกมาสู่สาธารณะหรือไม่นายประจักษ์ กล่าวว่า ในเบื้องต้นยังมีเพียงการพูดคุยข้อสังเกต เช่น ทำไมต้องประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร
“เราตั้งข้อสังเกตหลายอย่าง เช่น ทำไมต้องประกาศกฎอัยการศึกทั่วประเทศ เพราะมันไม่เป็นไปตามสัดส่วน สถานการณ์ตามที่เป็นอยู่ แค่ในกรุงเทพฯ หรือปริมณฑล และทำไมประกาศยามวิกาลคือตอนตีสาม ทำไมไม่ประกาศตอนเช้า และทำไมทหารถึงไปสถานีโทรทัศน์ตอนเช้ามืด นี่คือข้อสังเกตของเรา เราก็ติดตามสถานการณ์ด้วยความห่วงกังวล” นักวิชาการรายนี้ ระบุ
ด้านดร.ปิติ ศรีแสงนาม คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟชบุคส่วนตัว โดยระบุถึงการประกาศกฎอัยการศึกว่า ไม่ต้องตื่นเต้นกับการประกาศกฏอัยการศึก เพราะหลายๆ ประเทศเขาก็ประกาศกันทั้งนั้น อย่างในอาเซียน บรูไนประกาศ Internal Security Act มาต่อเนื่องตั้งแต่ พ.ศ.2505 ถึงปัจจุบันก็ประกาศมา 22 ปีแล้ว
แต่สิ่งที่ต้องดูต่อไป ดร.ปิติ กล่าวว่า คือ การประกาศกฏอัยการศึกครั้งนี้เป็นไปเพื่อทหาร เพื่อพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี หรือเพื่อประชาชน
"ตอนนี้ยังไม่ได้มีการยกเลิกรัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่า คณะรัฐมนตรีของระบอบทักษิณยังทำหน้าที่ต่อไป และไม่สามารถออกมาชุมนุมคัดค้านได้ ดีขึ้นมานิดก็คือ ศอรส. โดนยุบไปแล้ว"ดร.ปิติ กล่าว และว่า แต่ถ้าพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ทำเพื่อประเทศชาติ และจะเป็นวีรบุรุษตัวจริง ตอนนี้ทหารเข้ารักษาความสงบแล้ว นั่นหมายถึงท่านไม่มีความผิดและไม่ต้องรับผิดชอบทั้งทางอาญา แพ่ง และวินัย ตามกฏอัยการศึก ดังนั้นสิ่งที่ท่านควรทำอย่างยิ่งคือ ทำอย่างไร ก็ได้ให้รัฐมนตรีทั้ง 25 คนยอมลาออก ประเทศยังรักษารัฐธรรมนูญและกฏหมายไว้ได้ แต่สูญญากาศทางการเมืองจะเกิดขึ้น ซึ่งนั่นหมายถึงเรายังรักษากฎหมายไว้ได้ ต่างชาติยอมรับ เพราะถือเป็น de facto coup d'etat ที่ชอบด้วยกฏหมาย และเราจะมีนายกรัฐมนตรี และรัฐบาลพระราชทาน ซึ่งจะดีที่สุดกับประเทศไทย
ขณะที่ ผศ.ดร.ศรีสมภพ จิตรภิรมย์ศรี อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ผู้อำนวยการศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอิศรา ถึงมุมมองที่มีต่อการประกาศกฎอัยการศึกครั้งนี้ ว่าสะท้อนได้ว่าทหารต้องการที่จะรักษาระเบียบ รักษาความมั่นคงในสถานการณ์วิกฤติซึ่งมีความขัดแย้งที่รุนแรง ซึ่งโดยอำนาจหน้าที่ทางกฎหมายนั้น ทหารก็สามารถทำได้ แต่ต้องระมัดระวังในการใช้อำนาจ ว่าต้องไม่เกินเลยตามกรอบที่กฎหมายกำหนด
“เพราะตอนนี้ยังดูซ้อนกันอยู่ระหว่างปฏิวัติรัฐประหาร เพราะยังแยกไม่ออกระหว่างอำนาจทหารกับอำนาจของรัฐบาล ถ้ายังแยกไม่ออกระหว่างการทำหน้าที่ของรัฐบาล หรือหากทหารมีอำนาจที่เกินเลยกว่ากฎหมาย ก็จะถูกมองว่าเกิดการรัฐประหารโดยทหาร ตอนนี้ทุกฝ่ายก็ยังเฝ้าดูอยู่”
ส่วนกรณีการประกาศใช้กฎอัยการศึก จะลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชนหรือไม่ นักวิชาการรายนี้กล่าวว่า ตัวชี้วัดที่ว่าทหารจะทำเกินเลยอำนาจกฎหมายคือกฎอัยการศึกหรือไม่ ก็คือการปิดกั้นเสรีภาพสื่อฯ และเอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง คือ นปช. หรือ กปปส. หรือไม่ และหากอำนาจนี้นำไปสู่การแต่งตั้งนายกฯ รักษาการ หรือเปล่า ถ้าหากเดินไปสู่จุดนั้น ก็จะเป็นการใช้อำนาจเกินเลยกฏอัยการศึก เพราะฉะนั้น ทหารต้องทำให้แฟร์กับทุกฝ่ายตลอดช่วงที่ใช้อำนาจตามกฏอัยการศึก ซึ่งทหารรู้ดีว่าทำอย่างไรจึงไม่ถูกมองว่าช่วยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถ้าทหารทำให้ยุติธรรม เดินไปตามกฎหมาย ตามอำนาจที่ตัวเองมีเท่านั้น ก็จะไม่เกิดปัญหาอะไร
ภาพประกอบจาก : นิตยสาร Writer