เรื่องเล่าชาวคุก: ชีวิตหลังกำแพงสูงที่ถูกระทำซ้ำ
มโนคติของคุกที่ได้รับอิทธิพลจากสื่อต่างๆ ทั้งภาพยนตร์หรือละคร เป็นสถานที่โหดร้ายทารุณ ใช้ความรุนแรง เป็นที่พันธนาการคนที่ต้องได้รับการขัดเกลาทางจิตใจ ไม่มีอิสระ ไม่สามารถติดต่อกับโลกภายนอกได้
ในโลกของความเป็นจริง ชีวิตคนในคุกเป็นดั่งภาพจำของเราหรือไม่ ในงานสนทนา “เรื่องเล่าชาวคุก : ประสบการณ์ตรงจากอดีตนักโทษ” ที่จัดโดยความร่วมมือของ iLaw และโครงการเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ผ่านมา มีการเชิญอดีตผู้ต้องขังมาเปิดประสบการณ์ในคุกให้ฟัง
แรกเริ่มเดิมทีที่ “ห้องกรง”
จูน อดีตนักโทษหญิงแห่งทัณฑสถานพิเศษกลางหญิง ผู้ต้องโทษด้วยคดีเกี่ยวกับยาเสพติดเล่าให้ฟังถึงกิจกรรมภายในคุกว่า เป็นกิจวัตรเดิมๆ เหมือนการกรอเทปซ้ำไปซ้ำมา ความเป็นอยู่ที่ลำบากเหมือนตกนรกทั้งเป็น มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกว่า เป็นลูกน้องของผู้คุมคนนั้นคนนี้เพื่อการเข้าถึงทรัพยากร เช่น สื่อลามก ขนม บุหรี่ เป็นต้น
ยิ่งประสบการณ์ตอนญาติมาเยี่ยม จูนเล่าว่า เป็นอะไรที่โกลาหลมาก เนื่องจากนักโทษจะมาเรียงแถวพร้อมกันแล้วคุยกับญาติพร้อมๆ กันในระยะเวลาสั้นๆราว 15 นาที ทุกคนต้องตะเบงเสียงแข่งกันและต้องรีบพูดอย่างรวดเร็ว
นัท อดีตนักโทษจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ผู้ถูกจำคุกด้วยคดีมาตรา 112 ต้องโทษเมื่อปี 2552 เป็นเวลา 2 ปี 4 เดือน เล่าถึงเหตุการณ์หลังพิจารณาคดีเสร็จว่า เขาถูกลำเลียงเข้าไปในรถนักโทษซึ่งเบียดเสียดตลอดการเดินทางจนถึงคุก เมื่อถึงก็ต้องเข้าตรวจร่างกายแล้วอยู่ในแดนที่ 1 เป็นแดนแรกรับเป็นเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ เนื่องด้วยคนเข้ามาแดน 1 กันเยอะทำให้ต้องนอนสลับฟันปลา หันซ้ายหันขวาก็เจอเท้าของคนข้างๆ
ตี๋ อดีตนักโทษในทัณฑสถานบำบัด ด้วยข้อหาเป็นผู้ใช้ยาเสพติด ได้กล่าวถึงเหตุการณ์หลังถูกตำรวจจับว่า เมื่อตรวจพบสารเสพติดในปัสสาวะ ก็ถูกขัง บางส่วนถูกส่งไปที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) แล้วไปยังค่ายวิวัฒน์พลเมืองซึ่งจะมีการฝึกคล้ายค่ายทหารต่อไป โดยมีหมอและนักจิตวิทยาเข้ามาบ้างเดือนละครั้งเพื่อทำกลุ่มกิจกรรม แต่ส่วนใหญ่ก็มีการใช้ความรุนแรง การลงโทษเฆี่ยนตีด้วยเสมอ
ข่าวสารภายนอกที่แทบเข้าไม่ถึง
อดีตนักโทษ กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า อย่าหวังเลยที่จะได้ฟังข่าวสารบ้านเมืองจากภายนอก จะดูโทรทัศน์ได้ก็ดูได้แต่ละคร ซึ่งก็เป็นการดูย้อนหลังเฉพาะก่อนที่จะเข้าโรงนอนเท่านั้น
"รีโมทโทรทัศน์ ถูกควบคุมโดยพัศดี โดยพัศดีเปิดดูช่องใดก็ตาม นักโทษก็จะได้ดูช่องเดียวกับพัศดี" นัท อดีตนักโทษจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เล่า และว่า แต่ต่างกันที่คุกบางขวางซึ่งเขาเคยย้ายไปอยู่เนื่องจากระบายนักโทษออกในช่วงน้ำท่วมนั้น คุกบางขวางนักโทษสามารถเลือกช่องทีวีเองได้
แต่ผลที่ตามมาคือนักโทษการทะเลาะกันเองเนื่องจากต้องการแย่งช่องที่จะดูกัน
“เขาดูหนังสือพิมพ์กันอย่างไร ส่วนใหญ่จะมีกระดานหนังสือพิมพ์แปะอยู่ตามแดนต่างๆ บางวันเขาจะเอาหนังสือพิมพ์มาติด เวลาติดก็จะมีหน้าที่ถูกปิดทับไว้ซึ่งนักโทษก็ต้องแกะด้านหลังจนชิ้นส่วนหนังสือพิมพ์มันขาดรุ่ยออกมา” นัท เล่าถึงการเสพข่าวสารบ้านเมืองขณะที่อยู่ในคุก
“พารา”รักษาทุกโรคกับการพยายามฆ่าตัวตายในคุก
ตี๋ ได้เล่าถึงประสบการณ์ตอนตรวจร่างกาย โดยเฉพาะฉากที่ต้องมีการล้วงทวารหนักว่า “ทุกคนแก้ผ้าแล้วก็เข้าแถวรอหมอมาตรวจร่างกาย หมอจะเอาถุงมือยางมาใส่ เขาก็จะใช้นิ้วเดียว ถุงมืออันเดียวนี่แหละล้วงทวารหนักของทุกคน ก็ไม่รู้ว่าจะเกิดการติดต่อโรคต่างๆอย่างไรบ้าง”
ส่วนจูนเองได้เล่าถึงประสบการณ์ตรง ที่เพื่อนร่วมห้องของเธอป่วยกะทันหันกลางดึก เธอตะโกนเพื่อให้เจ้าหน้าที่พาไปรักษา แต่ผลลัพธ์ที่ได้กลับตรงกันข้าม
“ตะโกนจนห้องถัดไปช่วยกันตะโกนต่อให้ สักพักเจ้าหน้าที่ก็ขึ้นมาดูแล้วก็เอายาพาราเซตามอลมาให้กิน แล้วบอกว่าพรุ่งนี้ค่อยไปสถานพยาบาลนะ คือเขาปวดท้องมาก แต่ให้ยาพารามา ทำท่าทีเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น กว่าจะได้กินยาพาราฯ นี่ก็เลยไปเกือบ 3 ชั่วโมงได้” จูน เล่าถึงความยากลำบาก เมื่อผู้ต้องโทษมีอาการเจ็บป่วย
ด้านนัทเองก็เห็นด้วยว่าปรากฎการณ์ “พารา” รักษาทุกโรคว่า เป็นเรื่องจริง นัทเคยเป็นหัดตอนอยู่ในคุก ไปที่สถานพยาบาลหมอยังมีท่าทีไม่กล้ารักษา สุดท้ายก็ได้พาราเซตามอลมาทานเพื่อแก้โรคหัดเช่นกัน
ส่วนเรื่องฆ่าตัวตายนั้น นัท ได้ประสบพบเจอกับตัวเอง "เพื่อนนักโทษคนหนึ่งเครียดมากและทำการกรีดข้อมือตนเองในขณะที่เพื่อนคนอื่นๆ กำลังหลับ แล้วนำถุงพลาสติกหุ้มมือไว้เพื่อรองเลือดไม่ให้เปรอะโดนเพื่อนร่วมห้อง
“ตอนตีสอง เพื่อนๆ ในห้องตื่นมาแหกปากโวยวาย เรียกผู้คุมว่า มีนักโทษกำลังจะตาย กว่าเจ้าหน้าที่จะมาได้นั้นนานมาก เพราะต้องผ่านขั้นตอนไปทำเรื่องขอกุญแจเปิดห้องขังที่พัศดี พอมาเปิดห้องเสร็จก็ไม่ได้ทำอะไร แค่มาดูว่าเป็นอย่างไรแล้วให้เพื่อนนักโทษดูแลกันเอง"
นัท บอกว่า เจ้าหน้าที่แค่มาเอาถุงเลือดไปแล้วก็ไม่ได้ส่งตัวไปสถานพยาบาลแต่อย่างใด "นี่เป็นเรื่องจริงที่ผมยังทึ่งอยู่จนถึงทุกวันนี้ว่า คนใกล้จะตายทำไมถึงไม่ส่งไปสถานพยาบาล”
แล้วเมื่อผู้ต้องโทษ ออกสู่โลกภายนอก สังคมมองคนเหล่านี้อย่างไรบ้าง
สำหรับจูน ตอนออกมาจากคุกใหม่ๆเหมือนออกมาอีกโลกหนึ่ง เห็นอะไรก็เปลี่ยนไป เราต้องเริ่มตามเทรนด์ใหม่ สิ่งที่ได้มาคือความอดทน เห็นอะไรที่ปลงได้ก็ปลง ใจเย็นลง "เขาก็มองนะว่าเพิ่งออกมาจากคุก แต่เราพยายามไม่ใส่ใจ"
ส่วนนัท วันที่ออกมาจากสถานที่กักกัน เขาบอก "ดีใจมาก แต่สีหน้าผมก็ยังเครียดอยู่ ผมมีโอกาสได้รู้จักนักโทษที่ผ่านคดีเดียวกัน เป็นคดีที่พ่วงเกี่ยวทางการเมืองมาก ด้วยคดีที่ผมมานั้นทำให้รู้สึก ไม่กล้าไปเล่าให้คนอื่นฟัง กลัวเล่าแล้วเขารับไม่ค่อยได้ก็ลำบากใจเหมือนกัน"
ขณะที่ตี๋ ออกจากเรือนจำมาก็มีคนแถวบ้านมอง เพราะมีรอยสักหรือทรงผมเป็นสิ่งบ่งบอกว่า ผ่านคุกมาแล้ว สายตาที่มองมานั้นเปลี่ยนไป เหมือนถูกสังคมตีตราไว้แล้ว เพียงแต่ว่าไม่เท่ากับการที่ผู้คุมตีตราพวกเราเองมากกว่า
นักโทษเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่กระทำความผิด "นักโทษก็คือคน" แต่สภาพในคุกกลับยังมีการใช้ความรุนแรง รวมถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ จะดีหรือไม่ที่ทางกรมราชทัณฑ์จะดูแลความเป็นอยู่ของนักโทษบนพื้นฐานของสิทธิมนุษยชน ไม่จำเป็นที่จะต้องประคบประหงมให้เลิศเลอ ขอแค่ให้พวกเขาสามารถอยู่ได้ มีสิทธิพื้นฐานที่มนุษย์พึงมี