สพฐ.เคาะ 3 แสนล้านเสนอ 9 โปรเจ็ค รบ.ใหม่ – โยนกลุ่มค้านยุบ ร.ร.เล็กแก้ขาดครู
สพฐ.เตรียมดัน 9 โปรเจ็คให้รัฐบาล ขยายเรียนดีเรียนฟรีตั้งแต่อนุบาล 2 และหนึ่งอำเภอหนึ่ง ร.ร.ในฝันตั้งแต่ประถมยันมัธยม ส่วนกรณียุบรวมโรงเรียนเล็ก โยนกลุ่มค้าน “หาทางออกขาดครู” ด้านเครือข่ายการศึกษาทางเลือก “ยกร่างแผนปฏิรูป ร.ร.เล็ก” เตรียมเสนอ 15 ส.ค. แต่ไม่มั่นใจ ก.ศึกษาฯจะรับลูก
วันที่ 26 ก.ค.54 นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.)ว่าที่ประชุมได้หารือถึงการยกร่างนโยบายของสพฐ. 9 โครงการเพื่อรอเสนอรัฐบาลใหม่ ประกอบด้วย 1.โครงการปฎิรูปเงินเดือนและค่าตอบแทนครูให้ทัดเทียมกับวิชาชีพชั้นสูงด้านอื่นๆ เช่น ตุลาการ แพทย์ และทหาร 2.โครงการจัดระบบการศึกษาและฝึกอบรมพัฒนาครูอย่างต่อเนื่องโดยใช้ระบบไอที
3.โครงการเรียนฟรีเรียนดี 15 ปีตั้งแต่แรกเกิดจนจบการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างมีคุณภาพ 4.โครงการส่งเสริมให้เด็กมีคอมพิวเตอร์ใช้หรือOne Tablet PC Per Child จะเริ่มแจกให้นักเรียนในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่1ทั่วประเทศ ประมาณ 522,000 คน คาดว่าจะต้องใช้งบประมาณ 3,236 ล้านบาท 5.โครงการตำราแห่งชาติที่เป็นมาตรฐานและนำมาใช้ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
6.โครงการบรรจุหลักสูตรระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1– 6 ลงในระบบอิเลคทรอนิกส์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่รวดเร็วเชื่อมโยงและกว้างขวางยิ่งขึ้น 7.โครงการปรับปรุงห้องเรียนทุกห้องให้ได้มาตรฐาน 8.โครงการปรับหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐานในทุกระดับให้เท่าเทียมมาตรฐานสากลและ9.โครงการจัดตั้งโรงเรียนมาตรฐานตัวอย่าง 1 อำเภอ 1 + 1 โรงเรียนในฝันจะมีทั้งระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา
เลขาธิการ กพฐ. กล่าวต่อว่าทั้ง 9โครงการนี้จะใช้งบประมาณในปีงบประมาณ 2555 ประมาณ285,781 ล้านบาท และเมื่อรวมกับงบประมาณรายจ่ายประจำของ สพฐ.ทั้งหมดแล้ว สพฐ.จะต้องกำหนดงบประมาณ 317,000 ล้านบาท โดยขณะนี้ได้มีการประสานข้อมูลกับทางสำนักงบประมาณในโครงการที่เตรียมเสนอรัฐบาลชุดใหม่
“โครงการที่กำหนดมานี้คิดจากกรอบนโยบายพรรคเพื่อไทย ซึ่งจะเป็นข้อเสนอในเบื้องต้นยังไม่ใช่ข้อสรุปสุดท้าย อย่างโครงการเรียนฟรีเรียนดี 15 ปีตั้งแต่แรกเกิดจะเป็นการขยายต่อเนื่องจากนโยบายเรียนฟรีในปัจจุบัน โดยคำว่าแรกเกิดนั้นในบริบทของ สพฐ.คือตั้งแต่ระดับอนุบาล 2 ปีแต่ทั้งหมดนี้ต้องไปหาข้อสรุปสุดท้ายอีกครั้ง”
นายชินภัทร ยังกล่าวว่า จะจัดประชุมปฏิบัติการเพื่อทำรายละเอียดเกี่ยวกับกรอบ เป้าหมายและนโยบายของทั้ง 9 โครงการต่อไป
นายชินภัทร ยังกล่าวว่าในการประชุมผู้บริหาร สพฐ.ยังได้พิจารณาความคืบหน้าการบริหารโรงเรียนขนาดเล็ก เนื่องจากที่ผ่านมา สพฐ.มีนโยบายที่จะยุบเลิกโรงเรียนที่มีนักเรียนต่ำกว่า 40 คน ซึ่งมีอยู่ประมาณ 4,000 กว่าแห่ง แต่มีการคัดค้านจากสภาการศึกษาทางเลือก ดังนั้นเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมาจึงมีการประชุมร่วมกัน เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา
เลขาธิการ กพฐ.กล่าวต่อไปว่า สภาการศึกษาทางเลือกได้เสนอว่าโรงเรียนขนาดเล็ก มีประโยชน์ และมีความจำเป็นในมิติทางสังคม เพราะจะช่วยทำให้ชุมชนหมู่บ้านโดยเฉพาะในชนบทมีความใกล้ชิดกับโรงเรียน และยังมีข้อดีอีกหลายอย่าง เช่น ทำให้เด็กไม่ต้องเดินทางไกล และช่วยให้ซึมซับวัฒนธรรมประเพณี ตลอดจนชุมชนช่วยดูแลสอดส่องความประพฤติเด็กด้วย ดังนั้น สพฐ.จึงได้ตกลงกับสภาการศึกษาทางเลือกให้ไปยกร่างแนวทางเพื่อหาทางออกร่วมกันใน 2 ประเด็น
คือ 1.แนวทางการบริหารโรงเรียนขนาดเล็กอย่างมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยเฉพาะงบประมาณ และบุคลากร ซึ่งสพฐ.มีข้อจำกัดอยู่ เนื่องจากไม่สามารถจัดบุคลากรได้ตามจำนวนชั้นเรียนที่เปิดสอน เพราะมีจำนวนนักเรียนไม่มากพอ 2.ทำอย่างไรที่จะให้ชุมชน และองค์กรต่างๆเข้ามาช่วยดูแลด้านคุณภาพการเรียนการสอน ซึ่งขณะนี้ สพฐ. กำลังรอข้อเสนอจากสภาการศึกษาทางเลือก เพื่อร่วมประชุมหาข้อสรุปในการประชุมครั้งต่อไป
"คงต้องให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการร่วมกัน ถ้าไม่ต้องการให้โรงเรียนเล็กถูกยุบ สภาการศึกษาทางเลือกต้องมีทางออกให้เราด้วย เพราะตอนนี้ สพฐ.ถูกบีบจากคณะกรรมการกำหนดเป้าหมายและนโยบายกำลังคนภาครัฐ(คปร.) ไม่ให้คนเพิ่ม และจะได้น้อยลงเรื่อยๆตามอัตราการเกษียณอายุราชการ โดยเราถูกขู่มาว่า ไม่จัดการกับโรงเรียนขนาดเล็ก ต่อไปอัตราคนของ สพฐ.ก็จะไม่ได้คืน สพฐ.อยู่ตรงกลาง เพราะด้านหนึ่งก็ถูกบีบไม่ให้ยุบ ฉะนั้นต้องดูว่าอะไรเป็นทางออกที่ดีที่สุด" เลขาธิการ สพฐ. กล่าว
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในวันที่ 24 ก.ค.ที่ผ่านมา สภาเครือข่ายการศึกษาทางเลือก ได้ยกร่าง“แผนพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก ด้วยการปฏิรูปการจัดการศึกษาแนวใหม่” โดยเตรียมจะนำเสนอต่อเลขาธิการ กพฐ.ในวันที่ 15 ส.ค.ที่จะถึงนี้ แต่ไม่มั่นใจว่า สพฐ.จะนำไปปฏิบัติหรือไม่
โดยสาระสำคัญของแผนดังกล่าว อาทิ ให้มีพระราชบัญญัติโรงเรียนชุมชน พร้อมปรับปรุงกฎหมายอื่นๆ เช่น ทำให้โรงเรียนเป็นนิติบุคคล และให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนเพื่อพัฒนาไม่น้อยกว่าโรงเรียนละ 200,000 บาท องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดสรรงบประมาณไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 ของงบประมาณรายจ่ายเพื่อให้โรงเรียนเล็ดกจัดการตนเองได้อย่างแท้จริง
(ตามรายละเอียดได้ใน “เครือข่าย ร.ร.เล็ก เสนอออก พ.ร.บ.โรงเรียนชุมชน ตอบโจทย์ค้านยุบรวม”
http://www.isranews.org/กระแสชุมชน/การศึกษา-ระบบสุขภาพ/item/2932-เครือข่าย-ร-ร-เล็ก-เสนอออก- พ-ร-บ-โรงเรียนชุมชน-ตอบโจทย์ค้านยุบรวม.html) .
ที่มาภาพ : http://www.bantan.ac.th/blog/?cat=3