เอ็นจีโอประณามทำร้ายชาวบ้านวังสะพุง-จี้รัฐบาลวางแผนคุ้มครองพื้นที่
เอ็นจีโอประณามเหตุการณ์ทำร้ายชาวบ้านเหมืองแร่วังสะพุง เชื่อพล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค เกี่ยวโยงกับบ.ทุ่งคำ จี้ผู้ว่าฯ เลย- ตร.สางคดีตามกม. รัฐบาล-กรรมการสิทธิฯ ร่วมวางมาตรการคุ้มครองพื้นที่ตามสิทธิมนุษยชน
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2557 คณะกรรมการสมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ (สคส.) ออกแถลงการณ์ฉบับที่ 1/2557 เรื่อง ‘ขอประณามพฤติกรรมป่าเถื่อนต่อชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด’ ใจความว่า...
สภาพปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองทองคำ อ.วังสะพุง จ.เลย ระหว่างชาวบ้านและบริษัท ทุ่งคำ จำกัด มีมาอย่างต่อเนื่อง และยังไม่ได้รับการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม แม้นองค์กรภาคประชาชนและผู้ที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่ ได้แสดงข้อเท็จจริงและร้องเรียนเพื่อปกป้องสิทธิชุมชนและคุ้มครองสิทธิตน ภายใต้ มาตรา 66 และ มาตรา 67 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
เหตุการณ์ความรุนแรง เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 ที่มีการไล่ทุบตี จับมัดมือไพล่หลังและกักขังชาวบ้านที่ต่อสู้คัดค้านการทำเหมืองทองคำและทองแดงของบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ในเขตตำบลเขาหลวง อ.วังสะพุง จ.เลย จนถึงขั้นบาดเจ็บสาหัสหลายราย ด้วยการใช้กองกำลังอำพรางใบหน้าจำนวน 300 คน พร้อมอาวุธครบมือ ทั้งท่อนเหล็ก มีด และปืน ดังเห็นจริงจากภาพข่าวและข้อเท็จจริง ของผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและชาวบ้านในพื้นที่นั้น
สมัชชาองค์กรเอกชนด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ(สคส.) ขอประณามการกระทำ ซึ่งมีความรุนแรง ป่าเถื่อน ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง และยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดสถานการณ์ที่ทวีความรุนแรง อาจมีการสูญเสียชีวิต ความเสียหายของทรัพย์สิน หรือการหายตัวไปของชาวบ้านผู้ปกป้องสิทธิมนุษยชนได้ในอนาคต ดังเช่นที่ผ่านมาอีก จึงมีข้อเรียกร้องดังนี้
1. จากข้อมูลข้อเท็จจริงของประชาชนในพื้นที่ น่าเชื่อได้ว่าการกระทำครั้งนี้ อยู่ภายใต้การนำของพล.ท.ปรเมษฐ์ ป้อมนาค และลูกชาย โดยผู้ที่มีแรงจูงใจในการสนับสนุนให้เกิดเหตุการณ์ทำร้ายประชาชนในครั้งนี้ น่าจะเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ทุ่งคำ จำกัด ดังนั้นจึงขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย และเจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินการสอบสวนหาผู้กระทำความผิด และดำเนินการตามกฎหมายอย่างถึงที่สุด
2.ขอให้รัฐบาล กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และองค์กรหน่วยงานที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ติดตามปัญหาพื้นที่เหมืองทองคำ จ.เลย และร่วมกันวางมาตรการคุ้มครองพื้นที่เพื่อเป็นการปกป้องคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน (Human Rights Defenders)
3.สมัชชาองค์กรเอกชนฯ ขอสนับสนุนการใช้สิทธิเสรีภาพ สิทธิชุมชน ของชาวบ้านและเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดในการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม ปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และจะร่วมเคลื่อนไหว สนับสนุนการดำเนินงาน จนกว่ากระบวนการแก้ไขปัญหาในพื้นที่นี้ จะเป็นไปตามกรอบข้อกฎหมายและระเบียบพึงปฏิบัติที่มีธรรมาภิบาล