เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปเสนอเลื่อนเลือกตั้งไป 4-5 เดือน เชื่อตอบโจทย์ 2 ฝ่าย
เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปเสนอทางออกประเทศ 3 แนวทาง เชื่อขยับเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป 4-5 เดือน ตอบโจทย์คู่ขัดแย้งทั้งสองฝ่ายมากสุดและอยู่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตย
16 พฤษภาคม 2557 เครือข่ายเดินหน้าปฎิรูปเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป (RNN-Reform Now Network) จัดเวทีความคิดเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ครั้งที่5 "เดินหน้าผ่าทางตันวิกฤตประเทศไทย" โดยมีการนำเสนอข้อวิเคราะห์และข้อเสนอ“ทางเลือกและทางรอดประเทศไทย"
ดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กล่าวถึงสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่มีแนวโน้มว่าจะมีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น หลายฝ่ายพยายามหาทางออกและแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างสันติวิธีเพื่อลดความสูญเสียที่จะเกิดขึ้น เช่น การทำงานของวุฒิสภาในเวลานี้ ทั้งนี้ เครือข่ายฯ มี 3 ทางเลือกให้กับทุกฝ่ายเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ปัญหา
1.มีการเลือกตั้งตามกำหนดที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้หารือกับทางรัฐบาลไว้ คือวันที่ 20 กรกฎาคม 2557 แต่แนวทางนี้อาจจะถูกคัดค้านจากกลุ่มคณะกรรมประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ในขณะเดียวกันแนวทางนี้ก็ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มแนวร่วมเพื่อประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) จึงมีโอกาสที่จะเกิดการปะทะระหว่างมวลชนทั้งสองฝ่าย
2.ขยับเลื่อนวันเลือกตั้งออกไป และกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ในช่วงเวลา 4-5 เดือนนับจากนี้ เพื่อให้มีเวลาเพียงพอในการจัดกระบวนการออกเสียงประชามติเพื่อให้ประชาชนที่เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยได้ร่วมออกเสียงและตัดสินใจในบางเรื่องที่คู่ขัดแย้งไม่สามารถเจรจากันได้เพื่อให้สถานการณ์เกิดการคลี่คลาย
3.เลื่อนวันเลือกตั้งออกไประยะหนึ่ง มีระยะช่วงเวลามากกว่าทางเลือกที่ 2 โดยให้มีระยะเวลาเพียงพอต่อการจัดกระบวนการปฏิรูปในบางเรื่องให้เกิดความก้าวหน้า ส่วนระยะเวลาจะเป็นเท่าใดขึ้นอยู่กับการเจรจาร่วมกันระหว่างคู่ขัดแย้งและองค์กรที่เกี่ยวข้องเพื่อหาทางออกให้บ้านเมือง
ดร.บัณฑูร กล่าวว่า เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปเห็นว่า ทางเลือกที่ 2 เป็นทางเลือกที่น่าจะมีความเหมาะสมมากที่สุดกับสถานการณ์ทางการเมืองในช่วงเวลานี้ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ตอบโจทย์ความต้องการของคู่ขัดแย้งได้มากที่สุด และตอบสนองความต้องการของประชาชนที่ต้องการเห็นความก้าวหน้าของการปฏิรูปประเทศภายใต้แนวทางระบอบประชาธิปไตย
“ความสำเร็จของทางเลือกที่ 2 จะเกิดขึ้นได้ ต้องมีการดำเนินการทั้ง 3 เรื่องควบคู่กันไป คือการกำหนดวันเลือกตั้งที่มีระยะเวลาเพียงพอและการปฏิรูปการบริหารจัดการเลือกตั้ง การออกแบบกำหนดกลไกการปฏิรูป และการคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง”
ด้านนายสันติ สาทิพย์พงษ์ เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป กล่าวถึงกรณีความเป็นไปได้ทางกฎหมายในการหานายกฯ คนกลาง ในขณะนี้ว่า ในวันนี้เราต้องถามตัวก่อนว่า บ้านเมืองในขณะนี้อยู่ในสภาวะปกติ หรือว่าอยู่ในสภาวะวิกฤติ ถ้าอยู่ในสภาวะปกติเราก็สามารถเดินหรือแก้ปัญหาได้ตามปกติ ถ้าหากอยู่ในวิกฤติเราอาจจะเดินในช่องทางที่ไม่คุ้นเคย แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ถูกกฎหมาย
"ขณะนี้รัฐบาลของเราไม่มีหัว คือ ไม่มีนายกรัฐมนตรีตัวจริง รัฐบาลในช่วงนี้เราอาจเรียกได้ว่าเป็นรัฐบาลช่วงเปลี่ยนผ่าน สถานการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้นมาเรื่อยๆจนประเทศถึงทางตันหาทางออกไม่ได้จึงมีการพูดถึงมาตรา 7 เมื่อยังแก้ปัญหาไม่ได้เราก็ต้องย้อนกลับไปสู่อดีตว่า ในอดีตเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤติทางการเมืองอย่างไร เพราะเราไม่สามารถแก้ปัญหาในรูปแบบปกติได้ดังนั้นวันนี้จึงมีความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาที่นำไปสู่ช่องทางที่เป็นประชาธิปไตยที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเพื่อให้เกิดข้อโต้แย้งทางกฎหมายให้น้อยที่สุด โดยไม่ต้องมีการเว้นวรรค ยุติบทบาท หรือมีการฉีกรัฐธรรมนูญ"
ขณะที่พลอากาศเอก วีรวิท คงศักดิ์ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวถึงบทบาทของวุฒิสภาต่อการแก้วิกฤติทางการเมืองขณะนี้ว่า พยายามหาทางออกให้ทุกฝ่ายว่าทำอย่างไรที่จะให้ประเทศเดินไปข้างหน้าและสถานการณ์บ้านเมืองดีขึ้นคือพยายามที่จะให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่ง ตอนนี้เป็นการหาแนวทางและคงจะหาไปเรื่อยๆ และยังไม่มีการพูดถึงรายชื่อนายกฯ คนกลาง
"ขณะนี้เพียงแต่หาแนวทางว่าจะต้องทำอย่างไรให้ทุกฝ่ายเกิดการยอมรับ จะต้องใช้ระยะเวลาเท่าไหร่นานขนาดไหนเรายังไม่ได้กำหนดกรอบเวลาแต่ยืนยันว่าวุฒิสภาจะเดินหน้าต่อไปเพื่อแก้ไขปัญหา"
ทั้งนี้ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ในบ่ายวันเดียวกันตัวแทนเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป นำโดย นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ และดร.บัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ และนางปรีดา คงแป้น ได้ยื่นเอกสารชื่อ “วิเคราะห์และข้อเสนอทางเลือก-ทางออกจากวิกฤติความขัดแย้งโดยวิถีประชาธิปไตย” เป็นจดหมายเปิดผนึกต่อนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานวุฒิสภาคนที่หนึ่ง ว่าที่ประธานวุฒิสภา และนายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง เพื่อนำไปเป็นเครื่องมือในการหาทางออกให้ประเทศด้วย