มติ “วุฒิสภา” เสนอ 3 แนวทางแก้วิกฤตชาติ จี้รบ.ร่วมมือด้วย
มติ “วุฒิสภา” เสนอ 3 แนวทางแก้วิกฤตชาติ จี้รบ.ร่วมมือด้วย ให้ทุกภาคส่วนร่วมหารืออีกครั้ง หากเห็นพ้องเปิดประชุมวุฒิสภาวาระพิเศษ ยันต้องตั้งนายกฯตามประเพณีการปกครอง
เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2557 นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภา แถลงผลการประชุมวุฒิสภานอกรอบ เพื่อหาทางออกประเทศ ว่า เนื่องจากปัญหาวิกฤตของชาติที่ดำรงอยู่วันนี้ ซึ่งมีรากเหง้าจากการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ถูกต้องไม่เป็นธรรม และมีการทุจริตเข้ามาเกี่ยวข้อง จนเป็นเหตุให้ศาลและองค์กรอิสระได้มีคำวินิจฉัยหลายกรณี แม้ว่าต่อมารัฐบาลได้ประกาศยุบสภา และจัดให้มีการเลืกอตั้งส.ส.ใหม่ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2557 ที่ผ่านมา แต่ด้วยความเห็นทางการเมืงอที่แตกต่างกัน นำมาสู่กระแสคัดคต้านการเลือกตั้ง จนศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้การเลือกตั้งวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เป็นโมฆะ
“กระทั่งวันนี้กกต.และรัฐบาลรักษาการ ไม่สามารทำความตกลงกันได้เกี่ยวกับการกำหนดการเลือกตั้งครั้งต่อไป สถานการณ์ขณะนี้ไม่อาจคาดเดาได้ว่าประเทศไทยจะมีสภาผู้แทนราษฎรเมื่อไร วุฒิสภาในฐานะที่เป็นองค์กรฝ่ายนิติบัญญัติองค์กรเดียวที่เหลือขณะนี้ ประกอบกับเสียงเรียกร้องสมาชิกวุฒิสภา ได้ทำหน้าที่ในฐานะปวงชนชาวไทย ในการเข้ามาแก้ไขปัญหาให้บ้านเมือง วุฒิสภาจึงจัดนอกรอบ 2 ครั้ง เพื่อระดมความคิดเห็นของวุฒิสภา ซึ่งที่ประชุมเห็นพ้องต้องกันว่าวุฒิสภาต้องเข้ามามีส่วนร่วมแก้ไขวิกฤตของชาติ เพื่อนำพาให้ประเทศไทยก้าวหน้าไปได้” นายสุรชัย กล่าว
นายสุรชัย กล่าวต่อว่า จากนั้นวุฒิสภาได้ประสานความร่วมมือไปยังทุกภาคส่วนของสังคม โดยจัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ องค์กรตามรัฐธรรมนูญ ศาลยุติธรรม เครือข่ายเอกชน อธิการบดีมหาวิทยาลัย เป็นต้น ทุกเวทีต่างมีความเห็นตรงกันว่าหากปล่อยให้สภาวะการเช่นนี้ ยังคงดำรงอยู่ต่อไป อาจนำไปสู่การล่มสลายทั้งอำนาจทางเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงแห่งชาติ ทุกภาคส่วนต่างเสนอให้วุฒิสภาต้องทำหน้าที่ในการแก้ไขวิกฤตของชาติ เพื่อยับยั้งความเสียหายที่ดำรงอยู่ ไม่ให้ขยายตัวมายิ่งขึ้นโดยเร็ว
“วุฒิสภาจึงขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้ 1.ให้มีการแก้ไขปัญหาวิกฤตของชาติ โดยให้คืนความสงบสุข และความสมานฉันท์ของคนในชาติอย่างรวดเร็ว ด้วยการจัดให้มีการปฏิรูปประเทศในทุกด้าน ซึ่งจะต้องมีนายกฯและคณะรัฐมนตรี ที่มีอำนาจเต็มเพื่อดำเนินการ 2.ขอเรียกร้องให้รัฐมนตรีผู้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ในขณะนี้ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญมาตรา 181 วรรค 1 เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม และลดเงื่อนไขความรุนแรงและความขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นเพิ่มเติม” นายสุรชัย กล่าว
นายสุรชัย กล่าวต่อว่า 3.วุฒิสภาพร้อมจะทุ่มเทอย่างหนักและต่อเนื่อง โดยจะนำความเห็นและข้อเสนอแนะทุกภาคส่วนมาพิจารณาประกอบ และหากมีความจำเป็นวุฒิสภาจะอาศัยข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา เปิดการประชุมวุฒิสภานัดพิเศษ เพื่อให้ได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีภายใต้กรอบรัฐธรรมนูญและประเพณีการปกครองระบบประชาธิปไตย ในระดับสากล และประเพณีการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยโดยเร็ว ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ข้อเรียกร้องของวุฒิสภาทั้ง 3 ประการ
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากรัฐบาล พรรคการเมือง และทุกภาคส่วนในสังคม โดยเราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกคนจะได้ตระหนักถึงวิกฤตของชาติ และร่วมมือกับวุฒิสภาในการที่จะฝ่าฟันวิกฤตของชาติในครั้งนี้ให้จงได้ สำคัญที่สุดเราหวังว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งที่เป็นอยู่จะยอมเสียสละ จะยอมลดละความคิดดั่งเดิมของตัวเอง แล้วร่วมกับวุฒิสภาในการที่จะก้าวไปข้างหน้า เพื่อเป้าหมายยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชน เป็นเป้าหมายสำคัญในการที่จะร่วมกันฝ่าฟันวิกฤตไปพร้อมๆกัน” นายสุรชัย กล่าว