“ผกากรอง-มะลิ-ชบา-ดอกไม้หอม” ภาพอนาคต 4 แบบจว.ชายแดนใต้
สถาบันสิทธิมนุษยนชนฯ ม.มหิดล เปิดภาพอนาคตจังหวัดชายแดนใต้ 4 แบบ หลังลงพื้นที่สานเสวนาระดมความคิดเห็น-วิเคราะห์อย่างครอบคลุม พร้อมออกข้อเสนอเปิดเวทีที่ยืดหยุ่น ให้คนที่เห็นต่าง มาอยู่ ทำงานร่วมกัน
เมื่อเร็วๆ นี้ สถาบันสิทธิมนุษยนชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และมูลนิธิคอนราดอาเดนาว จัดเวที "วิพากษ์ภาพอนาคตจังหวัดชายแดนใต้" ณ ห้องกิ่งทอง โรงแรมเอเชีย ถนนพญาไท กรุงเทพฯ โดยดร.ชาญชัย ชัยสุขโกศล นำเสนอภาพภาพอนาคตจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งเป็นผลจากการระดมความคิดเห็นและร่วมกันวิเคราะห์อย่างครอบคลุม ในวงสานเสวนาต่างๆ ว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้น เป็นอะไรได้บ้างภายใต้สถานการณ์ที่เป็นอยู่แบบปัจจุบัน
ดร.ชาญชัย กล่าวถึงการเลือกสัญลักษณ์เป็นดอกไม้ ภาพอนาคตจังหวัดชายแดนใต้ นั้น ภาพแรก บุหงาบีแต บรายง (ดอกผกากรองหรือดอกขี้ไก่) สวย แต่อยู่ข้างทาง ไม่มีใครสนใจ เปรียบเสมือนประชาชนในพื้นที่, ภาพที่สอง บุหงามือลอ (ดอกมะลิ) สัญลักษณ์ แทนความเป็นไทย แทนความหมายว่า อัตลักษณ์ทั้งหลายค่อนข้างจะมาใกล้ชิดกับความเป็นไทย มากกว่าอัตลักษณ์มลายูแบบแข็งๆ ที่เราเข้าใจกัน , บุหงา รายอ (ดอกชบา) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของรัฐปัตตานีเดิม ความหมายถืออัตลักษณ์ของคน 3 จังหวัดใต้ค่อนข้างเข้าไปใกล้ชิดกับอัตลักษณ์ของมลายู และบุหงารำไป (ดอกไม้หอมนานาชนิด) เปรียบเหมือนอัตลักษณ์อันหลากหลายสามารถมาอยู่และรวมตัวกันได้ ใน 3 จังหวัดชายแดนใต้และในประเทศไทย
ภาพแรก “บุหงาบีแต บรายง” กรณีฝ่ายรัฐ และฝ่ายขบวนการไม่ปรับตัว ยังยึดมั่นตามความคิดและแนวทางแก้ปัญหาในแบบเดิม ดร.ชาญชัย กล่าวว่า สถานการณ์ก็จะยันกันไปเรื่อยๆ โดยคนที่ลำบากมากที่สุด คือคนธรรมดาในพื้นที่ อยู่ท่ามกลางความรุนแรง เริ่มโกรธ กลัว ไม่ไว้วางใจกันเอง แตกแยกเกลียดชังกัน ในที่สุดเศรษฐกิจฝืดเคือง อัตราการว่างงานมากขึ้นเรื่อยๆ รวมทั้งปัญหายาเสพติดที่เข้ามาผสมโรง
“ภาพที่สอง “ บุหงามือลอ” รัฐปรับตัวฝ่ายเดียว ขณะที่ขบวนการยังคงไม่ปรับตัวแนวทางการต่อสู้ ซึ่งการปรับเปลี่ยนของฝ่ายรัฐเช่น ด้านการเมืองการปกครอง มีการกระจายอำนาจ กระจายงบประมาณ อำนาจการตัดสินใจลงมาในพื้นที่ เปิดให้คนหลากหลายกลุ่มมามีส่วนกำหนดนโยบาย ใช้กฎหมายที่เป็นธรรมมากขึ้น ด้านศาสนา ภาครัฐอาจให้ความสำคัญกับผู้นำศาสนา องค์กรท้องถิ่นมากขึ้น ส่งเสริมการศึกษาสามัญ และสายศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน อีกทั้งจัดระเบียบแหล่งบันเทิงให้ห่างมัสยิดมากขึ้น ในแง่ภาษา รัฐเห็นประโยชน์พหุวัฒนธรรมมากขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นว่า รัฐเคารพเชิงอัตลักษณ์ หรือประกาศให้ภาษามลายูเป็นภาษาทำงาน บวกเสริมกับภาษาไทย (ภาษาราชการ) เช่น ป้ายบอกทางมีทั้งสองภาษา เป็นต้น"
ดร.ชาญชัย กล่าวว่า ภาพอนาคตแบบที่สอง สิ่งที่จะเกิดขึ้นรัฐกับทหารจะใกล้ชิดกับประชาชนมากขึ้น ส่งผลให้ชุมชนเข้มแข็ง มีความไว้วางใจกันมากขึ้น โดยมวลชนของฝ่ายขบวนการก็เริ่มลดลงหันมาสนับสนุนฝ่ายรัฐและทหาร เมื่อเป็นเช่นนั้น ขบวนการก็เริ่มค่อยๆ เสื่อมลง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ฝ่ายขบวนการ ก็จะพยายามยกระดับความรุนแรงให้มากขึ้นอีก เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้แก่คนในพื้นที่
“บุหงา รายอ” ภาพอนาคตจังหวัดชายแดนใต้ แบบที่สาม กรณีที่ฝ่ายขบวนการปรับตัวฝ่ายเดียว ดร.ชาญชัย กล่าวว่า ภาพนี้ภาครัฐไม่ได้ปรับตัว เพราะมั่นใจว่า เดินมาถูกทาง ด้วยนโยบายทางการทหาร พร้อมกับยกตัวอย่างการปรับตัวของฝ่ายขบวนการ เช่น ส่งสัญญาณพร้อมเจรจา เริ่มมีการทำงานการเมือง ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้น รัฐจะเป็นฝ่ายตั้งรับ สูญเสียมวลชนไปเรื่อยๆ ต่อต้าน ไม่ไว้วางใจทหาร กลไกลรัฐเริ่มแตกแยก
ภาพสุดท้าย บุหงารำไป ฝ่ายรัฐและฝ่ายขบวนการปรับตัวทั้งคู่ ดร.ชาญชัย กล่าวว่า เมื่อทั้งสองฝ่ายมีการพิสูจน์ และแสดงความจริงใจได้แล้ว ทำให้มีความไว้ใจกันมากขึ้น โดยภาครัฐ ค่อยๆ ลดกำลังทหารอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ยกเลิกกฎหมายพิเศษ ในพื้นที่ที่ไม่จำเป็น ปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้เที่ยงธรรม เชื่อถือได้ ขณะที่ฝ่ายขบวนการ ก็อาจปรับตัวโดยการออกมาเปิดเผยตัวตน ภายใต้การรับรองของรัฐว่าจะได้รับความปลอดภัย จากนั้นก็ยกระดับการเคลื่อนไหวมาสู่ภาคประชาชน ตั้งพรรคการเมือง สร้างโครงการพัฒนาให้คนในพื้นที่
“หากทั้งสองฝ่ายปรับตัวได้ขนาดนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ จะนำไปสู่การเจรจา ทุกฝ่ายสามารถเปิดเวทีสาธารณะเพื่อจัดความสัมพันธ์เชิงอำนาจกันใหม่ ให้เที่ยงธรรม ก่อประโยชน์ให้กันและกันมากขึ้น ไม่มีฝ่ายไหนพึ่งพากันตลอดไป”
ดร.ชาญชัย กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน แนวโน้มทางการเมืองเริ่มมีสัญญาณ มีการเจรจากัน แต่ก็ยังไม่มีทิศทางที่ชัดเจน ขาดเจตจำนง ความมุ่งมั่นและข้อผูกมัด ทำให้การเจรจายังขึ้นๆ ลงๆ ขณะที่สังคมไทยทั้งประเทศ 76 จังหวัด เริ่มเห็นด้วยกับสังคมที่มีความหลากหลายกันมากขึ้น โดยสิ่งที่โครงการวิจัยนี้เสนอ จำเป็นต้องมีเวทีที่ยืดหยุ่นปรับตัวได้อย่างชาญฉลาด ทำงานแบบไยแมงมุม ค่อยๆ ทักทอความสัมพันธ์ และความไว้วางใจที่หายไป ทำให้คนที่เห็นต่างกันโดยเฉพาะ มาอยู่ด้วยกันทำงานร่วมมือกัน และโน้มน้าวกลุ่มที่ได้รับผลประโยชน์จากความรุนแรงเห็นประโยชน์ที่ได้มากกว่านั้น ถ้าจังหวัดชายแดนใต้มีสันติภาพ